ธุรกิจบริหารจัดการโครงสร้าง-ระบบคอมพิวเตอร์ ขาขึ้น! โกยรายได้กว่า 2 หมื่นล้าน องค์กรเด้งปรับตัวสู่ออนไลน์
♦ "ธุรกิจบริหารจัดการโครงสร้างและระบบคอมพิวเตอร์" เติบโตต่อเนื่อง ปี 2562 โกยรายได้กว่า 2 หมื่นล้าน โดยกว่า 99% เป็นธุรกิจขนาดเล็ก
♦ ปัจจัยสำคัญจากการที่ภาครัฐผลักดันธุรกิจเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย "ธุรกิจบริหารจัดการโครงสร้างและระบบคอมพิวเตอร์" น่าจับตาหลังพบเติบโตต่อเนื่อง ปี 2562 โกยรายได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กครองตลาดถึง 99% สาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยคือ การสนับสนุนจากรัฐบาลเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาใช้จ่ายผ่านออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจจึงต้องเร่งปรับโครงสร้างและระบบคอมพิวเตอร์ในองค์กรให้รองรับเทคโนโลยี
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าจับตามองประจำเดือนมกราคม 2564 พบว่า "ธุรกิจบริหารจัดการโครงสร้างและระบบคอมพิวเตอร์" เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ หากมองย้อนหลังลงไปในช่วงที่ผ่านมาระหว่าง พ.ศ. 2560-2562 ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลการนำส่งงบการเงินประจำปีที่นิติบุคคลนำส่งต่อกรมฯ จะเห็นว่าผลการประกอบธุรกิจมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีรายได้เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเปรียบเทียบระหว่างปี 2561 ที่มีจำนวน 14,327.76 ล้านบาท และปี 2562 ที่มีจำนวน 20,105.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 40.32%
แม้ในปี 2562 ธุรกิจกลุ่มนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่นิติบุคคลส่วนใหญ่ที่ดำเนินกิจการในธุรกิจบริหารจัดการโครงสร้างและระบบคอมพิวเตอร์เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มากถึง 99% โดยมีสัดส่วนรายได้ถึง 14,493.66 ล้านบาท หรือคิดเป็น 72% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอย่างกรุงเทพมหานคร 674 ราย คิดเป็น 59.17% และจังหวัดในภาคกลาง 245 ราย คิดเป็น 21.51%
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของธุรกิจไทยด้านการปรับตัวและพัฒนาเทคโนโลยี สำหรับทั้งธุรกิจผู้ให้บริการเองและธุรกิจทั่วไปที่ต้องการวางระบบการบริหารงานเข้าสู่เทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การครองตลาดของธุรกิจขนาดเล็กยังแสดงให้เห็นถึงโอกาสของธุรกิจในการแข่งขันระหว่างกันได้อย่างเท่าเทียมด้วย
ปัจจัยที่ส่งผลให้ธุรกิจบริหารจัดการโครงสร้างและระบบคอมพิวเตอร์เติบโตเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ
- นโยบายภาครัฐด้านการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องพัฒนาระบบโครงสร้างของตนเองให้รองรับระบบงานเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การให้บริการผ่านระบบออนไลน์ ธุรกรรมออนไลน์ และการบริหารข้อมูลในองค์กร เป็นต้น รวมไปถึงเมื่อมีลูกค้าเข้าใช้บริการผ่านทางระบบออนไลน์จำนวนมากขึ้น ทำให้ธุรกิจมีฐานข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าซึ่งต้องดำเนินการให้อยู่ภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งในปี 2564 มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจต้องเร่งวางระบบโครงสร้างคอมพิวเตอร์ให้ครอบคลุมถึงการรักษาข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าตามกฎหมายและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ด้วย
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดชีวิตวิถีใหม่ลดการเดินทาง ลดการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน ผู้บริโภคจึงหันมาซื้อสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ผ่านทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ธุรกิจจึงจำเป็นต้องวางระบบโครงข่ายคอมพิวเตอร์ให้ขยายเข้าสู่ตลาดออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับในปี 2564 คาดว่า ธุรกิจบริหารฯ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องรองรับปัจจัยข้างต้น และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ดี ความท้าทายของธุรกิจนี้จะอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่แม้ว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่จะขยายตัวตาม แต่ก็ส่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของธุรกิจที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีที่รวดเร็วด้วย
อ่านเพิ่มเติม:
- จับกระแส Digital Transformation ดันตลาดทั่วโลกโต 6.8 ล้านล้านเหรียญในปี 2023
- จดทะเบียนธุรกิจผ่านออนไลน์ ลดค่าธรรมเนียม 50% ตั้งแต่ปี 2564 - 2566
- 10 เทรนด์เทคโนโลยีที่มาแรงที่สุดในปี 2020