ก.อุตฯ คุมเข้มสถานประกอบการ 28 จังหวัด พื้นที่เสี่ยงสูงสุด ป้องกันเฝ้าระวังโควิด-19
กระทรวงอุตฯ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด 49,391 โรงงาน พิจารณาดำเนินการตาม 6 ข้อ รับมือสถานการณ์โควิดระลอกใหม่
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่มีการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ออกเป็นวงกว้างกระจายในหลายเขตพื้นที่ และรัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดและบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อเข้าแก้ไขและระงับยับยั้งสถานการณ์ดังกล่าวด้วยมาตรการทางกฎหมาย และการขอความร่วมมือทั้งผู้ประกอบการเอกชน และประชาชน อย่างเข้มข้น นั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนมาตรการที่รัฐบาลออกมาเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กระทรวงอุตสาหกรรมได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างใกล้ชิด โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น โรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ทั้งที่อยู่ในหรือนอกนิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย ผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร ผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมทั้งเหมืองแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ใน 28 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชุมพร ชลบุรี ตราด ตาก นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ราชบุรี ระนอง ระยอง ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี สระแก้ว สระบุรี อ่างทอง เป็นต้น ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคดังกล่าวในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสดังกล่าว ไม่ให้ติดต่อไปยังบุคคลอื่นที่อยู่ในหรือนอกโรงงาน โดยในพื้นที่ 28 จังหวัด มีสถานประกอบการ 49,391 โรงงาน จำนวนคนงานกว่า 3,020,000 คน
โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการในพื้นที่เสี่ยงสูงสุดพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ปรับเวลาการปฏิบัติงาน ของคนงาน เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
2. คัดกรองพนักงานทุกคน (ตรวจวัดอุณหภูมิ / ตรวจสอบประวัติการเดินทาง)
3. สุ่มตรวจหาเชื้อโควิดในพนักงาน
4. เตรียมสถานที่กักตัวผู้ที่ติดเชื้อ
5. ประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันโควิด DMHTT (Distancing / Mask Wearing / Hand Washing / Testing / Thai Cha Na)
6. ใช้แอปพลิเคชัน หมอชนะในการ Monitor ความเสี่ยงจากการติดเชื้อ และให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานติดตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือติดการแถลงข่าวของรัฐบาลเพื่อปฏิบัติตามอย่างใกล้ชิด
"จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2 ของไทย ทำให้เกิดผลกระทบต่อทุกภาคส่วน กระทรวงอุตสาหกรรมตระหนักถึงความจำเป็นต่อป้องกันและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 จึงมีการออกประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม และหนังสือขอความร่วมมือสถานประกอบการในพื้นที่เสี่ยงสูงสุด และบุคลากรของกระทรวงอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามแนวป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมเน้นย้ำการปรับมาตรการในการทำงานจะไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้" นายสุริยะ กล่าว
อ่านต่อ:
- เดือน พ.ย.63 จดทะเบียนเปิดโรงงานใหม่ 199 รง.ทั่วประเทศ อยุธยาจำนวนทุนสูงสุดกว่า 1.2 หมื่นล้าน
- ยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องจักร 1 ปี ลดผลกระทบโควิด