อุตสาหกรรมเหล็ก, ผู้ผลิตเหล็กไทย, สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, Anti-Dumping Steel, มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD)

สภาอุตฯ ร่วมภาคเอกชน คัดค้านการยุติ AD บราซิล อิหร่าน ตุรกี

อัปเดตล่าสุด 1 มี.ค. 2566
  • Share :
  • 1,143 Reads   

ตามที่คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดได้มีมติร่างผลการไต่สวนให้ยุติการต่ออายุมาตรการ AD จากประเทศบราซิล อิหร่าน ตุรกี และกำหนดให้มีการประชุมรับฟังความเห็นในวันที่ 1 มีนาคม 2566 นั้น กลุ่มผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน และสมาคมผู้ใช้สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนส่วนใหญ่ต่างมีท่าทีไม่เห็นด้วยต่อผลการพิจารณาแทบทั้งสิ้น เนื่องจากการพิจารณาไม่เป็นไปตามหลักการของกฎหมาย ทั้งยังขัดต่อทั้งเจตนารมณ์ของกฎหมาย และไม่เป็นไปตามข้อชี้แจงของกระทรวงพาณิชย์เองที่ได้เคยเผยแพร่เมื่อปี 2560

สมาคมและองค์กรที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียต่อการบังคับใช้มาตรการ AD ส่วนใหญ่ต่างให้ความเห็นไปในแนวทางไม่เห็นด้วยต่อร่างผลการไต่สวน AD บราซิล อิหร่าน ตุรกี ไม่ว่าจะเป็นสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะเหตุผลหลักของการพิจารณาไม่ต่ออายุมาตรการ ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ รวมถึงเป็นการพิจารณาที่มีแนวทางต่างไปจากในช่วงปีก่อนหน้านี้

วันที่ 1 มีนาคม 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้รับทราบประเด็นปัญหาสำคัญดังกล่าวแล้ว และแสดงความเห็นถึงความจำเป็นของมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) โดยไม่เห็นด้วยต่อร่างผลการพิจารณาของคณะกรรมการ AD ที่ยุติการต่ออายุมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กจากหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เป็นแหล่งทุ่มตลาดใหญ่ของโลก โดยนอกเหนือจากประเด็นการพิจารณาของคณะกรรมการที่ไม่พิจารณาตามมาตรา 57 ของพ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศแล้ว ยังไม่ยึดแนวปฏิบัติการไต่สวนดังเช่นที่ผ่านมาด้วย

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จากอัตราการทุ่มตลาดที่ยังคงอยู่ของบราซิล อิหร่าน และตุรกี ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงคือในอัตราร้อยละ 34.62 ร้อยละ 23.47 และร้อยละ 22.85 ต้องส่งผลกระทบอย่างแน่นอนหากไม่มีการใช้มาตรการต่อไป โดยเฉพาะประเทศบราซิล และตุรกีที่มีเป้าหมายในการผลิตเพื่อการส่งออกสินค้าเหล็ก และประเด็นที่ช่วงที่ผ่านมามีการส่งเข้ามายังประเทศไทยในปริมาณต่ำเป็นเรื่องปกติเนื่องจากเป็นช่วงที่ยังมีการใช้มาตรการนั่นเอง และหากพิจารณาในหลาย ๆ เคสที่ผ่านมาหลังจากที่มีการยุติมาตรการปริมาณนำเข้าก็มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น เช่น กรณีเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ เป็นต้น

ทั้งนี้หากปล่อยให้เกิดการกลับมาทุ่มตลาดจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศด้วยเนื่องจากสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตต่อเนื่องเพื่อเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมที่สำคัญอื่นๆด้วย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมก่อสร้าง และหากผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจนต้องปิดกิจการไปจะส่งผลให้ความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่ถูกทำลายไป และอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศจะไม่มีอำนาจต่อรองกับประเทศผู้ผลิตเหล็กต่างประเทศได้เลย 

นอกจากนี้ตัวเลขขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ล่าสุดในปี 2566 ก็พบว่ายังคงมีการมาตรการ AD สินค้าเหล็กจำนวนมากโดยสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นประเทศที่สนับสนุนการค้าเสรีมีการใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็ก 188 รายการ และ 41 รายการ ตามลำดับ และแม้แต่ประเทศจีนที่เป็นเป้าหมายในการถูกใช้มาตรการ AD ก็ยังใช้มาตรการ AD ปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศถึง 11 รายการ 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ได้ขอให้กรมการค้าต่างประเทศ และคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน พิจารณาทบทวนผลการต่ออายุมาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนด้วย เพื่อให้อุตสาหกรรมภายในประเทศยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ด้านนายณรงค์ฤทธิ์ โชตินุชิตตระกูล นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย ซึ่งเป็นสมาคมผู้ผลิตสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็น และใช้สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเป็นวัตถุดิบ เปิดเผยว่าไม่เห็นด้วยต่อร่างผลการไต่สวนการพิจารณาต่ออายุมาตรการ AD บราซิล อิหร่าน ตุรกี เนื่องจากไม่สอดคล้องกับหลักการที่กรมการค้าต่างประเทศชี้แจงต่อสาธารณะเมื่อปี 2560 ครั้งที่อยู่ในระหว่างกระบวนการร่าง พร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ ฉบับที่ 2 กรมการค้าต่างประเทศที่ได้ระบุว่า การพิจารณาต่ออายุมาตรการ AD นั้น พิจารณาจากหลักการ หากไม่มีการต่ออายุมาตรการจะส่งผลให้ความเสียหายและการทุ่มตลาดฟื้นคืนมา ไม่จำเป็นต้องพบการทุ่มตลาดและความเสียหาย ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติสากลที่ประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลกใช้ในการทบทวน

“การนำเพียงผลประกอบการปี 2564 ของผู้ผลิตในประเทศมาเป็นปัจจัยหลักในการยุติมาตรการ AD จึงเป็นการไต่สวนที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย และขัดต่อคำชี้แจงต่อสาธารณะของกรมการค้าต่างประเทศเอง อีกทั้งปี 2564 เป็นปีที่มีสถานการณ์การขาดแคลนสินค้าเหล็กซึ่งไม่ใช่สถานการณ์ปกติ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19”

“นอกจากนี้หากพิจารณาในมุมภาพรวมของ supply chain การยุติมาตรการย่อมส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อผู้ผลิตสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศ และส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการพัฒนาของผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศด้วย และมีโอกาสส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศจนต้องปิดกิจการไป ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของแหล่งวัตถุดิบของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างเช่นผู้ประการอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดเย็นเป็นต้น” นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทยกล่าว

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH