ส.อ.ท. แนะผู้ประกอบการวางแผน BCP รับมือ COVID-19

อัปเดตล่าสุด 24 มี.ค. 2563
  • Share :

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เตรียมแผนรับมือสำหรับภาคอุตสาหกรรมในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแนะนำสมาชิกและผู้ประกอบการให้วางแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือ Business Continuity Plan (BCP) พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดการสัมผัสที่เป็นสาเหตุหลักการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ที่มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง       ส.อ.ท. จึงได้จัดการประชุมคณะกรรมการบริหารวาระเร่งด่วนเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงผลกระทบที่มีต่อภาคอุตสาหกรรม และแนวทางการบริหารธุรกิจในสภาวะวิกฤติให้มีความต่อเนื่อง โดยได้ข้อสรุปออกมา 6 ข้อหลัก ดังนี้ 

1. จัดเตรียมแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP) โดยการวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น พร้อมจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานภายใต้สภาวะฉุกเฉิน เช่น การปฏิบัติงานจากบ้าน (Work from home) 

2. สื่อสารและให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความตื่นตระหนก โดยเน้นการสื่อสารกับพนักงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ 

3. จัดสรรแยกกลุ่มพนักงานเพื่อบริหารความเสี่ยงอย่างน้อยออกเป็น 2 กลุ่ม ลดการพบปะกันโดยตรง และนำ Video Conference มาใช้ในการสนทนาและประชุม 

4. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการสัมผัส เช่น ใช้เทคโนโลยีสแกนใบหน้าเข้า-ออกงานแทนการสแกนนิ้วมือ รวมถึงการชำระเงินผ่านการสแกน QR Code 

5. ประเมินคู่ค้า วางแผนสำรองและหาแหล่งทดแทนด้วยการตรวจสอบความสามารถในการผลิตและขนส่ง วิเคราะห์ความเสี่ยงด้าน Supply Chain จากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการแพร่ระบาด และเตรียมหาแหล่งวัตถุดิบสำรองภายในประเทศทดแทน และ 

6. ถ่ายโอนความเสี่ยงทางการเงินด้วยประกันภัย ที่สามารถช่วยคุ้มครองค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ และชดเชยให้บริษัทในกรณีมีบุคลากรหลักเสียชีวิต เป็นต้น

นอกจากการแนะนำแนวทางการรับมือสำหรับภาคอุตสาหกรรมแล้ว ส.อ.ท. ยังได้มอบชุดป้องกันและแว่นนิรภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (Personal Protective Equipment: PPE) จำนวน 1,000 ชุด ให้กับมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ โดยมีศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ พลอากาศตรีนายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร รองประธานโครงการอาสาร่วมใจ Fight COVID เป็นผู้รับมอบ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 ณ ห้องประชุม 1219 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อนำไปให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้งานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อไป