นายกฯ ญี่ปุ่นเยือน สจล. เยี่ยมชม KOSEN-KMITL สถาบันบ่มเพาะนวัตกรหัวกะทิ เทียบชั้นระดับโลก
นายกฯ ญี่ปุ่นเยือน สจล. เยี่ยมชม KOSEN-KMITL สถาบันเฟ้นหัวกะทิ ม.ต้น รับทุนเรียนฟรีจากรัฐบาล 5 ปี พร้อมบินไปฝึกงานไกลถึงญี่ปุ่น ปั้นนวัตกรคุณภาพมาตรฐานโลก รับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม
วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้รับเกียรติสูงสุดในการต้อนรับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น นายฟูมิโอะ คิชิดะ เข้าตรวจเยี่ยมสถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN - KMITL) เพื่อติดตามการดำเนินงานของสถาบันฯ ที่ก่อตั้งจากการสนับสนุนของรัฐบาลไทยและญี่ปุ่นตามโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย คัดนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นระดับหัวกะทิ เรียนหลักสูตรอนุปริญญาด้านวิศวกรรมเพื่อเร่งป้อนวิศวกรที่มีคุณภาพทัดเทียมกับนานาชาติสู่ภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต สืบเนื่องมาจากการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทยตามยุทธศาสตร์ Thailand Plus One ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน
รศ. ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สจล. รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ให้การต้อนรับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น นายฟูมิโอะ คิชิดะ ในการเข้าตรวจเยี่ยมสถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN - KMITL) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับ สจล. นับตั้งแต่ในอดีต รัฐบาลญี่ปุ่นและ สจล. ได้มีความสัมพันธ์อันดีนับแต่เริ่มการก่อตั้งสถาบัน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรกและถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อสร้างฐานราก สจล. สู่การเป็นสถานศึกษาชั้นนำที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและทวีปเอเชียด้านความโดดเด่นเรื่องด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้วางรากฐานในการพัฒนาประเทศกว่า 60 ปี
นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
โดยในปี 2562 ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นและ สจล. ได้ยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นพันธมิตรด้านวิชาการ ผ่านการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN - KMITL) เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) รวมถึงการขยายการลงทุนรับยุทธศาสตร์ Thailand Plus One เพื่อผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนของภูมิภาคอาเซียน โดยสถาบัน KOSEN – KMITL มีเป้าหมายในการสร้างวิศวกรนักปฏิบัติ (Practical Engineers) เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว
ด้าน รศ. ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการผู้อำนวยการสถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวเสริมว่า สจล. ถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการออกแบบหลักสูตรด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่เข้มข้น ทั้งภาควิชาการ และภาคปฏิบัติจากประเทศญี่ปุ่น โดยเนื้อหาของหลักสูตรจะยึดตามแนวทางของสถาบันโคเซ็น ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงของประเทศญี่ปุ่นในการสร้างบุคลากรด้านเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรม เพื่อปฏิบัติงานจริงควบคู่กับการเรียนรู้ในทักษะด้านสังคมเพื่อให้นักศึกษามีความเข้าใจความเป็นมนุษย์ มีจิตสาธารณะ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างไรก็ดี สถาบัน KOSEN – KMITL มีความโดดเด่นกว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยทั่วไป กล่าวคือ ทางสถาบันจะคัดเลือกนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์และสนใจศึกษาต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเข้าเรียนในหลักสูตร 5 ปี โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวนจากรัฐบาล เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันโคเซ็น ควบคู่กับอนุปริญญาวิศวกรรมศาสตร์จาก สจล.
ทั้งนี้ ในช่วงปี 1-5 ทำการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น ก่อนสำเร็จการศึกษา นักศึกษาจะได้รับโอกาสศึกษาดูงานกับบริษัทชั้นนำที่ประเทศญี่ปุ่นและสามารถสอบคัดเลือกเพื่อรับทุนศึกษาต่อในระดับ Advanced Course (ปริญญาตรี) จำนวน 30% ของนักศึกษาในแต่ละรุ่นเป็นเวลา 2 ปี ปัจจุบันเปิดสอนหลักสูตรอนุปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics Engineering) และสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering) โดยมีนักศึกษาแล้วจำนวน 4 รุ่น นับตั้งแต่ปี 2562 อย่างไรก็ดีในเดือนพฤษภาคม 2566 จะเปิดสอนในหลักสูตรอนุปริญญา สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และในปี 2567 จะเปิดหลักสูตร Advanced Innovative Engineering Program ต่อไป
“ในระดับนานาชาติวิศวกรที่จบจากหลักสูตรของสถาบันโคเซ็นได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถตรงตามความต้องการของบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำ เป็นที่ต้องการของบริษัทต่างๆ สถาบัน KOSEN – KMITL หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการผลิตวิศวกรรุ่นใหม่ของไทยให้มีคุณภาพเทียบชั้นกับวิศวกรในบริษัทระดับโลก จะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยเติบโตมากยิ่งขึ้น” รศ. ดร.คมสัน กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าตรวจเยี่ยมสถาบัน KOSEN - KMITL เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมี ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นายกสภาสถาบัน พร้อมด้วย รศ. ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ อดีตอธิการบดี สจล. และ รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ให้การต้อนรับที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH