ประชุม APEC, APEC Business Advisory Council (ABAC), APEC CEO Summit 2022

APEC CEO Summit 2022 เอกชนประกาศความพร้อม เปิดประตูแห่งการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย 16-18 พ.ย. 65 นี้

อัปเดตล่าสุด 1 พ.ย. 2565
  • Share :
  • 2,572 Reads   

นับถอยหลัง “APEC CEO Summit 2022” ภาคเอกชนและภาคประชาชน ประกาศความพร้อม เวทีประวัติศาสตร์แห่งภาคธุรกิจและสังคมเอเชียแปซิฟิก...เปิดประตูแห่งการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ดร. พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ APEC CEO Summit 2022 Chair และ APEC Business Advisory Council Member ผู้รับหน้าที่ประธานและเจ้าภาพการจัดงาน APEC CEO Summit 2022 ประกาศความพร้อมเต็มที่สำหรับการจัดงานระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2565 นี้ ที่ประเทศไทยมีความพร้อมแล้วในทุกด้าน ไม่ว่า ด้านสถานที่จัดการประชุม การดูแลต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม การรักษาความปลอดภัย และการจัดงานเลี้ยงรับรอง โดยเฉพาะโปรแกรมการประชุมที่ครอบคลุมทุกด้านทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และสังคม พร้อมยืนยันการเข้าร่วมงานจากผู้นำเขตเศรษฐกิจ ผู้นำองค์กรโลกที่สำคัญ ผู้นำทางความคิด และซีอีโอระดับแนวหน้าจากทุกเขตเศรษฐกิจในการเข้าร่วมประชุม เพื่อรับฟัง แสดงความคิดเห็น และแบ่งปันคำแนะนำที่สามารถร่วมบูรณาการได้ทั่วทั้งภูมิภาค

 โดยเวทีครั้งประวัติศาสตร์นี้ ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพในการต้อนรับผู้ประชุมจากทั่วภูมิภาคที่จะเดินทางมาพบปะ ในรอบ 3 ปีของการประชุม ดร. พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กล่าวว่า “เราได้มีการเรียนเชิญผู้นำเขตเศรษฐกิจในการร่วมงาน APEC CEO Summit 2022 รวมทั้งสิ้น 13 เขตเศรษฐกิจ และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยขึ้นกล่าวปาฐกถา ซึ่งแม้การตอบรับอย่างเป็นทางการยังอยู่ในกระบวนการ แต่ ณ เวลานี้ เราสามารถแจ้งได้ว่า ผู้นำเขตเศรษฐกิจที่ยืนยันอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วมงาน ได้แก่ นายโฮเซ เปโดร กัสติโย เตร์โรเนส (José Pedro Castillo Terrones) ประธานาธิบดีเปรู, นายกาบริเอล โบริช ฟอนต์ (Gabriel Boric Font) ประธานธิบดีชิลี และนายเหงียน ซวน ฟุก  (Nguyễn Xuân Phúc) ประธานาธิบดีเวียดนาม เป็นต้น โดยผู้นำเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา  และนิวซีแลนด์ นับว่ามีแนวโน้มที่ดีในการตอบรับ ซึ่งเราจะสามารถยืนยันได้อีกครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน พร้อมทั้งแขกของรัฐบาลไทย และแขกของเอเปคในการเข้าร่วมปาฐกถาด้วย”

ภาคเอกชนเน้นย้ำด้านความพร้อม

การประชุม APEC CEO Summit ครั้งล่าสุดที่ไทยเป็นเจ้าภาพคือในปี 2003 โดยในปีนี้มีความสำคัญในการเป็นเจ้าภาพมีมิติที่น่าสนใจหลากประการ ไม่ว่า เป็นการประชุมแบบพบปะในรอบ 3 ปี หลังจากที่ทั่วโลกเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด อันทำให้การประชุมต้องดำเนินในรูปแบบออนไลน์ นอกจากนี้ การเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจรอบด้าน ได้สร้างความตื่นตัวให้ภาคเอกชนเกิดความต้องการในการหาเวทีเพื่อแสวงหาทางออกอย่างเร่งด่วน

ดร. พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กล่าวเสริมว่า “การรับบทบาทเจ้าภาพในปีนี้มีนัยที่น่าสนใจในด้านสถานการณ์ ด้วยภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่า ด้านภาวะขาดแคลนอาหาร วิกฤตพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อ หรือการฟื้นตัวจากโควิด เหล่านี้ทำให้ภาคเอกชนมีความตื่นตัวเป็นอย่างมาก และเวที APEC CEO Summit 2022 นี้ จะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนทิศทางครั้งสำคัญของโลก และจะเป็นโอกาสอันดีของไทยในการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจ หลังภาวะการแพร่ระบาดสิ้นสุดและเริ่มมีการเปิดประเทศเกิดขึ้น
 
เราคาดว่าในปีนี้จะมีผู้นำภาคธุรกิจจากทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิกไม่ต่ำกว่า 500-600 คน, ผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทยกว่า 200 คน ไม่รวมคณะผู้ติดตามและทีมงาน โดยในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 จะเป็นการจัดงานเลี้ยงต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมฯ ณ เดอะ ริเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม ส่วนในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2565 จะมีการประชุมที่ ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี คอลเลคชั่น โฮเต็ล กรุงเทพฯ รวมทั้งจะมีการจัดงานกาลาดินเนอร์ขึ้นในเย็นวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องรอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน ซึ่งภายในงานเราจะถ่ายทอดความเป็นไทยทั้งในด้านอาหาร ศิลปะวัฒนธรรม ของที่ระลึก ตลอดจนการจัดทริปท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่มาร่วมงานและคณะผู้ติดตามหลังวันงาน เพื่อสร้างความประทับใจและปลุกกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย”
 
นอกจากนี้ ภายในงานได้เน้นการประชุมแบบ ‘Green Meeting’ หรือการจัดการประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืน (Sustainability)  พร้อมจัดทำ Carbon Footprint  ที่ส่งเสริมการประหยัดพลังงานและลดปริมาณขยะ หนึ่งในตัวอย่างที่การประชุมในครั้งนี้ได้นำมาใช้เพื่อส่งเสริมแนวทางดังกล่าว คือการนำ Mobile Application มาใช้ในการดูแลผู้เข้าร่วมประชุม (Smart Hospitality) อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียน รับเอกสารดิจิทัล และอำนวยความสะดวกทุกรูปแบบผ่านแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยลดปริมาณขยะทางกระดาษ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการเลือกสถานที่ (Green Venue) , การจัดเตรียมอุปกรณ์ (Green Arrangement) และการจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม (Green Catering) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
 
ประเด็นเสวนาต่อความท้าทายทางเศรษฐกิจ

เนื่องจากกิจกรรมหลักของการประชุมภายใต้แนวทาง “Embrace Engage Enable” คือการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2565  นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ Executive Director APEC CEO Summit 2022 และ APEC Business Advisory Council Alternate Member กล่าวถึงความพร้อมด้านโปรแกรมเสวนา และการตอบรับจากผู้ร่วมเสวนาที่สำคัญไว้ว่า “นอกจากผู้นำเขตเศรษฐกิจแล้ว ภายในงานยังประกอบด้วยการแลกเปลี่ยนทางความคิดจากซีอีโอชั้นนำ และผู้นำทางความคิดระดับโลกอีกมาก ไม่ว่า ศาสตราจารย์ เคล้าส์ ชวาป  (Prof. Klaaus Schwab) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร World Economic Forum, โห่ย หลิงตัน (Hooi Ling Tan) ผู้ร่วมก่อตั้ง แกรบ, นายบ๊อบ มอริทซ์ (Bob Moritz) Global Chairman PWC หรือผู้บริหารระดับสูงจาก Johnson & Johnson, Meta, Google และ Exxon เป็นต้น
 
และที่น่าจับตาอีกประการ นั่นคือการร่วมเสวนาจากซีอีโอไทยชั้นนำ อาทิ คุณนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งนับเป็นซีอีโอหญิงมากความสามารถท่านหนึ่งของไทย หรือคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะและการฉายภาพความเป็นผู้นำของธุรกิจไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่เวทีโลก
 
นอกจากนี้ โปรแกรมในปีนี้ยังครอบคลุมต่อประเด็นของความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญ ไม่ว่าหัวข้อด้านเศรษฐกิจโลกและอนาคตของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย, การสร้างเศรษฐกิจ ธุรกิจ และสังคม ที่ยั่งยืน, สุขภาพภายหลังการเกิดโรคระบาด, การสร้างความเท่าเทียมทางเพศเพื่อผลักดันการเติบโต, ยุทธศาสตร์ด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก, ความท้าทายเรื่องความมั่นคงด้านอาหารของโลก, การเร่งการเติบโตในอนาคตและการรักษาโลก หรือการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและความปกติถัดไป เป็นต้น” 

ประตูแห่งโอกาสเพื่ออนาคตเศรษฐกิจไทย

ด้วยการหมุนเวียนรับบทบาทเจ้าภาพการประชุมในทุก ๆ 19 ปี นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้ร่วมผลักดัน ในฐานะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คือสถาบันผู้ส่งมอบสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจไทย ได้แสดงความมั่นใจต่อโอกาสทางการค้าและการลงทุนของประเทศไทย ผ่านการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ว่า “การพบปะระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจ ผู้นำทางความคิด และซีอีโอชั้นนำจากทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิก ณ ประเทศไทยในครั้งนี้นั้น นับเป็น “โอกาส” อันดีเยี่ยม ที่เราจะได้แสดงศักยภาพทางการค้าและการลงทุน และการแข่งขันได้ของไทยในหลายมิติ ไม่ว่า ด้านอาหาร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ, อุตสาหกรรมยานยนตร์ ฯลฯ
 
นอกจากนี้ กกร. ยังเห็นอีกหนึ่ง “โอกาส” สำคัญ นั่นคือการที่ผู้ประกอบการไทยจะได้ตื่นตัว ในการลุกขึ้นมาปรับตัวและเรียนรู้สู่การดำเนินธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่า การนำเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ หรือการส่งเสริมด้านความยั่งยืนให้กับธุรกิจของตน เพื่อสร้างความสอดคล้องกับตลาดโลกในปัจจุบันที่จะทำให้แข่งขันได้ และในงาน APEC CEO Summit 2022 นี้ เรายังขอส่งมอบ “โอกาส” ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นั่นคือการนำตัวแทน Young Entrepreneur Chamber of Commerce (YEC) จากคัดสรรจากทั่วประเทศจำนวน 100 คน เข้ามาทำหน้าที่ต้อนรับ และอำนวยความสะดวกผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อให้พวกเขาได้สัมผัสกับเวทีครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นการปลุกกระตุ้นในการกลับไปปรับตัวเพื่อการสร้างโอกาสในวันข้างหน้าของพวกเขาต่อไป”
 
โอกาสเดียวกันนี้ คณะทำงาน APEC CEO Summit 2022 ยังได้เปิดตัวชุดยูนิฟอร์มที่ตัวแทน Young Entrepreneur Chamber of Commerce จะสวมใส่เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ไทย อันนับเป็นหนึ่งกลยุทธ์ในการถ่ายทอด Soft power หรือการเผยแพร่ทางวัฒนธรรมไทยผ่านสายตาชาวโลก ออกแบบโดยนักศึกษา คณะศิลปะและการออกแบบดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้ถ่ายทอดความเป็นไทยผ่านการนำกลิ่นอายของผ้าฝ้ายที่งดงามและอ่อนช้อยของภาคเหนือ ผสานกับลวดลายช้างอันนับเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองและมีเรื่องราวของความเป็นไทยนานาประการ เล่าเรียงร้อยอยู่ในเส้นสายของยูนิฟอร์มชุดนี้

เวทีประวัติศาสตร์ เวทีของคนไทย

ด้วยภาคเอกชนพร้อมแล้วในทุกมิติของการจัดงาน จากนี้ไป จึงนับเป็นเวทีโอกาสของประชาชนคนไทย ที่จะได้ร่วมต้อนรับผู้นำทางธุรกิจจากทั่วโลกที่จะเดินทางมาร่วมขับเคลื่อนความก้าวหน้าและความอยู่ดีกินดีเพื่อเราทุกคนร่วมกัน ด้วยที่สุดแล้วมิใช่เพียงกลุ่มธุรกิจใดที่จะได้รับประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาของการจัดงานเท่านั้น แต่บทสนทนาของการประชุมที่ครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรม จะกลับไปสร้างแรงกระเพื่อมทางการค้า การลงทุน และหมุนกลับมาสร้างการขับเคลื่อนต่อธุรกิจไทยต่อไป เพียงเราเปิดรับโอกาส สอดประสานความเชื่อมโยง และร่วมกันสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ (Embrace Engage Enable) ให้การเป็นเจ้าภาพของไทยคือโอกาสอันยิ่งใหญ่ของเราคนไทยทุกคน 
 
“การประชุมในครั้งนี้ คือธุระของเราทุกคน มิใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง จึงนับเป็นเวทีที่สำคัญ ที่เราจะได้เห็นมิติของความร่วมมือร่วมใจระหว่างภาครัฐ  ภาคธุรกิจ ภาคสังคม และประชาชนคนไทย ในการแบ่งปันโอกาสอันยิ่งใหญ่ร่วมกัน ผมขอเชิญชวนประชาชนคนไทยทุกคนทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ เพราะ APEC CEO Summit 2022 จะเป็นหนึ่งในกลไกในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ทรงคุณค่าของประเทศ และของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของพวกเราทุกคน” นายสนั่น อังอุบลกุล กล่าวปิดท้าย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH