แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญของไทย ไตรมาส 3/2565
กองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 3/2565 ซึ่งแม้จะยังได้รับผลกระทบจากภาระต้นทุนที่สูงขึ้น จากปัญหาเงินเฟ้อและการขาดแคลนวัตถุดิบ แต่คาดว่าหลายอุตสาหกรรมจะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นได้
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
คาดการณ์ว่าการผลิตจะขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาเหล็กในตลาดโลกมีแนวโน้มลดต่ำลง และมีการนำเข้าเหล็กจากรัสเซียเข้ามาในตลาดเอเชียมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทยเลือกนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กมากกว่าการซื้อจากในประเทศ
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
คาดว่าดัชนีผลผลิตจะหดตัวประมาณร้อยละ 3.0 เนื่องจากสถานการณ์การเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วนบางรายการ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องประมาณร้อยละ 6.0 เนื่องจากสถานการณ์ขาดแคลนชิปทั่วโลก และสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา จีน และไต้หวัน ที่อาจส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก ส่งผลให้ราคาของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสูงขึ้น
อุตสาหกรรมรถยนต์
ประมาณการในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 420,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 45-50
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์
ประมาณการในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 450,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20
อุตสาหกรรมพลาสติก
คาดว่าการผลิตจะชะลอตัว เนื่องจากสถานการณ์ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจส่งผลกระทบต่อราคาต้นทุนวัตถุดิบ รวมถึงผู้ประกอบการบางรายเริ่มให้ความสนใจยกเลิกบรรจุภัณฑ์ที่ยากต่อการรีไซเคิล ส่งผลให้การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เกี่ยวข้องลดลง
อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์
คาดว่าผลิตภัณฑ์กระดาษที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการบริโภคในประเทศ ขณะเดียวกันบรรจุภัณฑ์กระดาษจะได้อานิสงส์ตามการใช้งานสำหรับซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ สำหรับการส่งออกคาดว่า หากประเทศจีนมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 การส่งออกเยื่อกระดาษจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง เนื่องจากจีนเป็นตลาดหลักสำหรับการส่งออกเยื่อกระดาษของไทย
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยจากอุปสงค์ภายในประเทศ จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังเปราะบางจากปัญหาค่าครองชีพสูง ความผันผวนของราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งปัญหาเงินเฟ้ออาจจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ
อุตสาหกรรมยา
คาดว่าปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยาในประเทศ จะมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามความต้องการใช้ยาเพื่อรักษาโรคที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการส่งออกคาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของตลาดหลัก โดยเฉพาะตลาดอาเซียน อาทิ ลาว และเมียนมา
อุตสาหกรรมยาง และผลิตภัณฑ์ยาง
คาดว่าปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐมจะขยายตัวจากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทางด้านปริมาณการผลิตยางรถยนต์นั้น คาดการณ์ว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในส่วนของปริมาณการผลิตถุงมือยาง คาดการณ์ว่าจะขยายตัวจากความต้องการใช้ถุงมือยางเพื่อป้องกันโรคที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ และแนวโน้มการระบาดของโรคฝีดาษลิง
อุตสาหกรรมอาหาร
คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมขยายตัวจากนโยบายเปิดประเทศที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์เพิ่มขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศค่อย ๆ ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ในส่วนของการนำเข้าวัตถุดิบที่ต้องใช้เงินบาทต่อดอลลาร์เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนภาคอุตสาหกรรมและส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น สำหรับมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะหดตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจและการค้าโลกมีการชะลอตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้คำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง
อ่านย้อนหลัง:
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH