7 สมาคมเหล็กฯ เร่งหารือ แก้ปัญหาราคาเหล็ก สนับสนุนผู้ใช้ในประเทศ

7 สมาคมเหล็กฯ เร่งหารือ แก้ปัญหาราคาเหล็ก สนับสนุนผู้ใช้ในประเทศ

อัปเดตล่าสุด 4 พ.ค. 2564
  • Share :
  • 1,186 Reads   

กลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งประกอบด้วย (1) สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย (2) สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย (3) สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น (4) สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า (5) สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (6) สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และ (7) สมาคมโลหะไทย ร่วมหารือเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาสินค้าเหล็กราคาสูง เชื่อหากมีการร่วมมือทั้งห่วงโซ่การผลิตสามารถบรรเทาผลกระทบผู้ใช้สินค้าเหล็กได้ อีกทั้งแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กในประเทศมีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านวัตถุดิบในประเทศ ขณะที่อุตสาหกรรมในประเทศสามารถช่วยชะลอราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้นเร็วตามราคาตลาดโลก

 

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 นายกวินพัฒน์ นิธิเตชเศรษฐ์ นายกสมาคมผู้ผลิตท่อและแปรรูปเหล็กแผ่น เปิดเผยว่า จากกรณีที่สถานการณ์ราคาสินค้าเหล็กทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยมีการปรับตัวสูงขึ้นเป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้น ความต้องการใช้เหล็กของโลกจึงปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงประเทศจีนมีการลดการผลิตในประเทศจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีนโยบายการลดการผลิต เพื่อการส่งออกโดยการยกเลิกการคืนภาษีส่งออก (VAT. Rebate) 9-13% สำหรับสินค้าเหล็กบางรายการ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2564 ทำให้ผู้ส่งออกจีนต้องปรับราคาขึ้นชดเชยกับการยกเลิกการคืนภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนต้นทุนและราคาขายของประเทศจีนด้วย สมาคมผู้ผลิตท่อฯ มีความยินดีที่จะร่วมมือกับกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ ภาครัฐ และผู้บริโภค แก้ไขปัญหาร่วมกัน

นายพงศ์เทพ เทพบางจาก กรรมการสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า กล่าวเสริมว่า กลุ่มผู้ผลิตในประเทศมีความยินดีที่จะสร้างความสมดุลระหว่าง Demand และ Supply ในประเทศโดยเพิ่มการผลิตสินค้าเหล็กให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยข้อมูลจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2564 อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศมีการผลิตเพิ่มสูงขึ้นถึง 9.5% ไม่มีการชะลอการผลิตเพื่อดึงราคา ถึงแม้ว่าจะมีความต้องการใช้เพิ่มเติมจากกลุ่มผู้บริโภคที่หันกลับมาใช้สินค้าเหล็กในประเทศแทนการนำเข้า เนื่องจากราคาสินค้านำเข้ามีราคาที่ใกล้เคียง และ/หรือ สูงกว่าสินค้าเหล็กในประเทศ แต่การสั่งซื้อต้องรอสินค้าประมาณ 3 เดือน ซึ่งเกิดความเสี่ยงในการสั่งซื้อสินค้า รวมถึงบางครั้งมีการผิดนัดยกเลิกสินค้า ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้สินค้าเหล็กในประเทศอย่างมาก นอกจากนี้จากการที่ผู้ผลิตในประเทศมีกำลังการผลิตกว่า 23.5 ล้านตัน แต่ปัจจุบันมีการใช้กำลังการผลิตเพียง 37% ดังนั้นจึงยังมีกำลังการผลิตเพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการใช้ของผู้บริโภคในประเทศอย่างแน่นอน

ด้านนายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ อุปนายกสมาคมโลหะไทย เปิดเผยข้อมูลแนวทางดำเนินการจากการประชุมร่วมกันของกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ ประกอบด้วย 5 แนวทางดังนี้

1. การสร้างความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทาน โดยผู้ใช้เหล็กวางแผนการใช้เหล็ก แจ้งผู้ผลิตเหล็กให้ทราบล่วงหน้า เพื่อสามารถจัดซื้อวัตถุดิบและวางแผนการผลิตได้ทันเวลา และสามารถทราบถึงต้นทุนที่แน่นอนก่อนรับงานโครงการต่างๆได้

2. กลุ่มผู้ผลิตในประเทศจะรายงานข้อมูลการผลิต และราคาต่อสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อมูลความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ

3. สนับสนุนให้ภาครัฐพิจารณาปรับค่าตัวเลขดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างาน (ค่า K) ของงานโครงการภาครัฐ เพื่อให้สามารถครอบคลุม และหรือเยียวยาผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้รับเหมาโครงการ

4. ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการให้เกิดการใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเศษเหล็ก ที่ปัจจุบันมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ส่งผลให้เกิดการนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาที่สูงกว่าในประเทศเนื่องจากต้องเสียค่าขนส่งระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ค่าขนส่งปรับเพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาตู้บรรจุสินค้า (Container) ขาดแคลน และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

5. เร่งนำเสนอ และผลักดันนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ร่วมกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยผ่านกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมเหล็ก และตอบสนองต่อนโยบาย BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ของกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐบาล

 

อ่านเพิ่มเติม: