Electric Exhaust Gas Turbocharger by Mercedes-AMG

Mercedes-AMG เปลี่ยนเทคโนโลยีจากสนาม F1 สู่รถยนต์ไฟฟ้า

อัปเดตล่าสุด 6 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 886 Reads   

เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี (Mercedes-AMG) กำลังก้าวไปอีกขั้นในนวัตกรรมด้านยานยนต์ ผ่านการพัฒนาเทอร์โบชาร์จเจอร์ระบบไฟฟ้า เทคโนโลยีจากสนามแข่งรถ Formula 1 โอนถ่ายสู่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นถัดไป ซึ่งเป็นการเดินตามเป้าหมายในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าเครื่องยนต์สันดาป

การพัฒนาเทอร์โบชาร์จเจอร์ระบบไฟฟ้า (Electric Exhaust Gas Turbocharger) ในครั้งนี้ Mercedes-AMG ได้ร่วมมือกับ Garrett Motion อาศัยองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีจากรถแข่งในสนามฟอร์มูลาวัน (Formula 1) ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์สันดาปให้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการพัฒนา และจะถูกติดตั้งให้กับยานยนต์ที่จะออกสู่ตลาดจริงในอนาคต โดยรวมข้อดีของระบบประจุอากาศขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ไว้ด้วยกันในระบบเดียว

เทอร์โบชาร์จเจอร์ไฟฟ้านี้ มีจุดเด่นที่มอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็กเพียง 4 เซนติเมตร ติดตั้งไว้กับเพลาซึ่งอยู่ระหว่างใบพัดที่ท่อร่วมไอเสีย ในขณะที่ใบพัดถูกติดตั้งไว้ที่ท่อร่วมไอดี ซึ่งการนำมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาใช้ในเทอร์โบชาร์จเจอร์นั้น ทำให้สามารถช่วยแก้ปัญหา Turbo Lag หรืออาการรอรอบของเทอร์โบชาร์จเจอร์ขนาดใหญ่ ในขณะที่สามารถขับประสิทธิภาพได้สูงกว่าเทอร์โบชาร์จเจอร์ขนาดเล็ก จึงช่วยให้เครื่องยนต์สันดาปสามารถตอบสนองต่อคันเร่งได้เร็วยิ่งขึ้น ช่วยให้มีแรงบิด (Torque) มากขึ้นที่ความเร็วต่ำ ทำให้อัตราเร่งของยานยนต์สูงขึ้นกว่าเดิม และรักษากำลังเครื่องยนต์ให้มีอัตราเร่งที่มั่นคงได้

เทอร์โบชาร์จเจอร์มีความเร็วสูงถึง 170,000 รอบต่อนาที ซึ่งช่วยให้อัตราการไหลของอากาศสูงมาก สามารถใช้งานได้ผ่านระบบไฟฟ้า 48 โวลต์ เทอร์โบชาร์จเจอร์ มอเตอร์ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถูกเชื่อมต่อกับวงจรทำความเย็นของเครื่องยนต์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้คงอุณหภูมิที่เหมาะสมตลอดเวลา

Tobias Moers ประธานบอร์ดบริหาร Mercedes-AMG แสดงความเห็นว่า “ทางบริษัทฯ มีแนวทางที่ชัดเจนในการมุ่งสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้าด้วยการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ทีละชิ้นจากเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ชิ้นส่วนที่ได้ มีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการ และเป็นการสนับสนุนเทคโนโลยีโมดูลาร์ (Modular) ที่ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นสามารถใช้งานสลับทดแทนกันได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพในการขับขี่เทียบเท่ายานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป ดังนั้น การพัฒนาเทอร์โบชาร์จเจอร์ไฟฟ้าในครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของก้าวแรกเท่านั้น”