นานาทัศนะต่อนโยบายทิ้งจีน “ย้ายฐานผลิตกลับประเทศ” ของรัฐบาลญี่ปุ่น
จากการประกาศนโยบายสนับสนุนการถอนฐานการผลิตออกจากจีน และย้ายกลับเข้าสู่ประเทศ ของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) เมื่อต้นเดือนเมษายน 2020 ที่ผ่านมา เพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติ และเสริมความแข็งแกร่งในสภาวะฉุกเฉินให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการอนุมัติงบประมาณพิเศษจากวิกฤตโควิด-19 โดยมุ่งเน้นการสร้างซัพพลายเชนที่มั่นคง และส่งเสริมการผลิตในประเทศให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตชิ้นส่วน และวัสดุคุณภาพสูง
ตามด้วยนโยบาย China Plus One ที่สนับสนุนให้ธุรกิจอุตสาหกรรมญี่ปุ่นลงทุนในอาเซียน (ASEAN) และล่าสุดนั้น ทาง METI อยู่ระหว่างการพิจารณาสนับสนุนงบ R&D สำหรับเทคโนโลยีที่สามารถลดปริมาณหรือทดแทนการใช้ Rare Earth ในผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะให้การสนับสนุนเงินทุนในการย้ายฐานการผลิต ซึ่งแม้จะช่วยให้ซัพพลายเชนในประเทศญี่ปุ่นมั่นคงขึ้นได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่า มาตรการนี้จะนำมาซึ่งการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาในอนาคต
l นานาทัศนะต่อนโยบาย “ย้ายฐานผลิต กลับประเทศญี่ปุ่น”
ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์รายหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นจากจังหวัด Nagoya รายงานว่า กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน เล็งเห็นว่าการผลิตในประเทศจะช่วยให้ Lead Time ของสินค้าสั้นลง และลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ได้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ที่แล้วมาบริษัทเคยมีการย้ายฐานการผลิตหลายครั้งเนื่องจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น หากย้ายกลับสู่ประเทศญี่ปุ่นที่มีค่าแรงสูงแล้ว จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า จะต้องขายเครื่องมือแพทย์ในราคาสูงขึ้น แม้ในระยะสั้นจะสามารถผลิตตามความต้องการได้ แต่จำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มในระยะยาวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้
Chikusui Canycom ผู้ผลิตรถยก และเครื่องจักรอื่น ๆ เป็นอีกรายที่อยู่ระหว่างพิจารณากลับประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง Mr. Tsutomu Maeda กรรมการบริหารแสดงความเห็นว่า สาเหตุที่บริษัทญี่ปุ่นเข้าตั้งฐานการผลิตในจีนมาจากเรื่องค่าแรง และวัตถุดิบ ซึ่งปัจจุบันต้องเลือกแล้วว่า จะให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน และถ้าขึ้นราคาสินค้าแล้ว ลูกค้าจะยอมรับในราคาใหม่ได้หรือไม่
ในอีกด้านหนึ่ง หลายบริษัทก็ไม่เห็นด้วยกับการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ ยกตัวอย่างเช่นผู้ผลิต Precision Part รายหนึ่งจากจังหวัด Fukuoka ซึ่งแสดงความเห็นว่า ที่แล้วมา บริษัทมีประสบการณ์ถูกปฏิเสธไม่ให้เป็นซัพพลายเออร์หลายครั้งเนื่องจาก “ราคาสินค้าสูงกว่าผู้ผลิตรายอื่น” และมั่นใจว่า หากผู้ผลิตญี่ปุ่นกลับประเทศแล้ว ธุรกิจรายใหญ่หลายรายทั่วโลก อาจเลือกบริษัทที่ตั้งโรงงานผลิตในประเทศที่ค่าแรงถูกกว่าเป็นซัพพลายเออร์แทน และเล็งเห็นว่าการผลิตในจีนยังคงคุ้มค่า
Hirata Corporation ผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และโซลูชันการผลิตยานยนต์และเซมิคอนดัคเตอร์ รายงานว่า ปัจจุบันยังไม่มีแผนย้ายกลับญี่ปุ่น เนื่องจากมีซัพพลายเออร์ในเกาหลีใต้ และไต้หวันอยู่แล้ว ทำให้สามารถคงซัพพลายเชนของบริษัทไว้ได้ในระดับหนึ่ง และการพัฒนาซัพพลายเชนให้ครบวงจรนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมในระดับประเทศ อีกทั้งต้องใช้เวลานานจึงจะเห็นผล และหากไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งนี้เองที่จะกลายเป็นกำแพงขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นในอนาคต
l “ย้ายฐานผลิต กลับประเทศญี่ปุ่น” ไม่ใช่เรื่องใหม่
ในขณะที่หลายบริษัทยังไม่แน่ชัดนักว่าจะย้ายกลับญี่ปุ่นหรือไม่นั้น METI ได้เปิดเผยว่า แนวคิดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ เมื่อปี 2011 ซึ่งในช่วงเวลานั้น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการลงทุนธุรกิจทดแทนในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ แต่นโยบายได้ครอบคลุมไปถึงการพัฒนาวัสดุ และเทคโนโลยีอื่นอีกด้วย
Nogami-gk ผู้ผลิตแม่พิมพ์สำหรับงาน Precision รายงานว่า เมื่อครั้งแผ่นดินไหว เครื่องจักร และออเดอร์ที่ถูกยกเลิกทำให้บริษัทเสียหายรวมกว่าร้อยล้านเยน และได้รับเงินสนับสนุนเพื่อติดตั้งเครื่องจักรใหม่ โดยได้เปิดสายการผลิตแม่พิมพ์สำหรับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเพิ่ม ซึ่งทางบริษัทเปิดเผยว่า เคยพิจารณาขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศ แต่พบว่า เมื่อหักลดค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และสามารถผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพได้เองในประเทศ ทำให้ได้รับโอกาสจากธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น
Yoshiwara Tetsudou Kougyou ผู้ผลิตรางรถไฟ และมีส่วนแบ่งในตลาดญี่ปุ่นกว่า 60% เปิดเผยว่า สาเหตุที่ได้รับออเดอร์จำนวนมาก มาจากขีดความสามารถในการซัพพลายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าโดยไม่ต้องรอการนำวัสดุเข้าจากต่างประเทศ
METI รายงานว่า แม้จะมีผู้ให้ความสนใจ หรือมีผู้ยื่นเรื่องขอรับการสนับสนุนเงินทุนแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ธุรกิจญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การพัฒนาซัพพลายเชนครบวงจรให้ได้ตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในช่วงไม่กี่ปีให้หลัง ทั้งสงครามการค้า, Brexit, และการระบาดของโควิด-19 การสร้างซัพพลายเชนที่มีความเข้มแข็ง จะเป็นเรื่องที่ทุกประเทศจำเป็นต้องให้ความสำคัญขึ้นอย่างแน่นอน