Toyota เผยโฉม e-Palette รถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ ใช้ร่วม MaaS สู่ระบบขนส่งมวลชนแห่งอนาคต

Toyota เผยโฉม e-Palette ใช้ร่วม MaaS สู่ระบบขนส่งมวลชนแห่งอนาคต

อัปเดตล่าสุด 6 ม.ค. 2564
  • Share :
  • 1,533 Reads   

♦ ความคืบหน้า e-Palette ที่มุ่งสู่การใช้งานบน Mobility Services Platform ได้จริง นำร่องให้บริการใน Woven-city ของโตโยต้า และตั้งเป้าให้บริการเชิงพาณิชย์ในหลายภูมิภาคช่วงต้นทศวรรษ 2020 นี้

♦ ระบบบริหารจัดการของ e-Palette ได้รับการต่อยอดจาก Toyota Production System (TPS) เพื่อส่งมอบบริการด้านขนส่งมวลชนแบบ Just-In-Time เดินทางไปได้ทุกที่ตามต้องการและตรงเวลา

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2020 โตโยต้า (Toyota Motor Corporation) ประกาศพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการให้บริการที่จะช่วยให้สามารถใช้งาน e-Palette รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ไร้คนขับ สำหรับแอปพลิเคชันการเดินทางอัตโนมัติในรูปแบบบริการ (Autono-MaaS) ตอบโจทย์บริการด้านการเดินทางแห่งอนาคต นำร่องใช้งานใน Woven City เมืองต้นแบบของโตโยต้า และกำหนดเป้าหมายการใช้งานเชิงพาณิชย์ในหลายภูมิภาคในช่วงต้นทศวรรษ 2020

นับตั้งแต่โตโยต้าประกาศปรับโครงสร้างองค์กร สู่การเป็น “องค์กรแห่งการขับเคลื่อน (Mobility Company)” ในงาน CES 2018 โดย Mr. Akio Toyoda ได้แถลงว่า e-Palette รถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับว่าจะไม่ใช่เพียงแค่ยานยนต์ แต่จะเป็นสัญลักษณ์ของการบริการด้านขนส่งมวลชนรูปแบบใหม่ ซึ่งระบบขับขี่อัตโนมัติของ e-Palette ได้ถูกเปิดตัวครั้งแรกในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ 2019 และมีกำหนดนำมาใช้รับส่งนักกีฬาในงานโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 แต่ต้องถูกเลื่อนออกไปจากการระบาดของโควิด

โตโยต้าแสดงความเห็นว่า การระบาดของโควิดทำให้ระบบขนส่งมวลชนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างภายในยานพาหนะ ซึ่งเมื่อคำนึงถึงปัญหาอื่น ๆ อย่างสังคมผู้สูงอายุร่วมด้วยแล้ว ทำให้ระบบขนส่งมวลชนในอนาคตมีอุปสรรคมากยิ่งขึ้น และนำสู่ระบบขนส่งมวลชนมรูปแบบใหม่ซึ่งโตโยต้าได้นำเสนอ e-Palette ที่สามารถใช้งานบน Mobility Services Platform (MSPF) ภายใต้แนวคิดการเดินทางอัตโนมัติในรูปแบบบริการ หรือ Autono-MaaS (Autonomous Mobility as a Service) เพื่อตอบโจทย์นี้

ด้วยเหตุนี้เอง โตโยต้าจึงมุ่งพัฒนาบริการด้านขนส่งมวลชนแบบ Just-In-Time หรือการเดินทางไปได้ทุกที่ตามต้องการและตรงเวลา จึงต่อยอดระบบการผลิตแบบโตโยต้า (TPS) สู่ระบบบริหารจัดการ e-Palette ซึ่งจะเป็นฟังค์ชันใหม่ของ Mobility Services Platform (MSPF) แพลตฟอร์มแบบเปิดของโตโยต้าซึ่งผู้ใช้สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการ แพลตฟอร์มนี้จะประกอบด้วย Autonomous Mobility Management System (AMMS) สำหรับการเชื่อมต่อยานยนต์สู่ยานยนต์ และ e-Palette Task Assignment Platform (e-TAP) สำหรับการเชื่อมต่อยานยนต์สู่ผู้ใช้บริการ เพื่อลดระยะเวลาการรอรถ และประสานการทำงานของยานยนต์ไร้คนขับให้สอดคล้องกัน

Photo: Toyota Motor Corporation

โดยระบบเหล่านี้ จะช่วยให้ e-Palette สามารถวิ่งไปหาผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยตารางเวลาที่ยืดหยุ่น สามารถวิ่งไปกลับระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการได้เอง และรองรับการเพิ่มจำนวนยานยนต์ ซึ่งระบบจะปรับแต่งตารางเวลาโดยอัตโนมัติ ไปจนถึงการตรวจสอบการเสื่อมสภาพของยานยนต์เพื่อวิ่งเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง และจัดหายานยนต์ที่ว่างอยู่ไปให้บริการลูกค้าได้โดยอัตโนมัติเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้ให้บริการยานยนต์ยังสามารถสั่งหยุดรถจากทางไกลได้อีกด้วย

โตโยต้าเปิดเผยว่า ระบบบริหารจัดการยานยนต์นี้ได้ถูกออกแบบตามหลักการเดียวกับ Toyota Production System (TPS) ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติที่มนุษย์สามารถควบคุมได้ ด้วยการแสดงผลข้อมูลเป็นรูปภาพที่เข้าใจง่าย ช่วยให้ผู้ใช้งานหนึ่งคนสามารถบริหารยานยนต์ไร้คนขับได้หลายคันพร้อมกัน ช่วยลดความต้องการพนักงาน และใช้ระบบอัตโนมัติช่วยสนับสนุนการทำงาน หรือกระทั่งแนะนำการบำรุงรักษา เพื่อให้ได้บริการขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพภายใต้บุคลากรจำนวนจำกัดอีกด้วย