“โกชัน ไฮเทค” จับมือ “วินอีเอส เวียดนาม” ร่วมทุนเปิดโรงงานแบตเตอรี่

“โกชัน ไฮเทค” จับมือ “วินอีเอส เวียดนาม” ร่วมทุนเปิดโรงงานแบตเตอรี่

อัปเดตล่าสุด 22 พ.ย. 2565
  • Share :
  • 2,655 Reads   

โกชัน ไฮเทค และ วินกรุ๊ป เปิดตัวโครงการโรงงานแบตเตอรี่ คาดมีกำลังการผลิตทั้งปีรวม 5GWh ขึ้นแท่นโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟตแห่งแรกในเวียดนาม

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โกชัน ไฮเทค (Gotion High-Tech) และวินกรุ๊ป (VinGroup) ของเวียดนาม ได้เปิดตัวโครงการโรงงานแบตเตอรี่ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจห่าติ๋ญ (Vietnam Ha Tinh Economic Development Zone) โครงการดังกล่าวคาดว่าจะมีกำลังการผลิตทั้งปีรวม 5GWh คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปลายปี 2566 ขึ้นแท่นโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LFP) แห่งแรกในเวียดนาม

โรงงานแห่งนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างโกชัน ไฮเทค กับวินอีเอส (VinES) ซึ่งอยู่ในเครือวินกรุ๊ป โดยโกชัน ไฮเทค ถือหุ้น 51% ส่วนวินอีเอสถืออีก 49% ที่เหลือ ตามแผนแล้ว โครงการนี้มีขนาด 14 เฮกตาร์ ด้วยกำลังการผลิตปีละ 5GWh คาดว่าจะแล้วเสร็จและดำเนินการได้ภายในปลายปี 2566 เพื่อตอบรับกับความต้องการแบตเตอรี่ชนิด LFP ในการใช้เป็นแบตเตอรี่ยานยนต์พลังงานใหม่ของวินฟาสต์ (VinFast)

ที่พิธิวางศิลาฤกษ์โรงงานแห่งนี้คุณหลี่ เจิ้น (Li Zhen) ประธานโกชัน ไฮเทค กล่าวว่า วินกรุ๊ปเป็นองค์กรที่เป็นที่เคารพที่สุดในเวียดนาม โรงงานแบตเตอรี่ที่โกชัน ไฮเทค และวินกรุ๊ป ร่วมทุนสร้างนี้จะเข้ามาสนับสนุนความต้องการแบตเตอรี่เพื่อใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์วินฟาสต์ ซึ่งนอกจากจะสนับสนุนวิวัฒนาการด้านพลังงาน ความเป็นมิตรต่อสภาพอากาศ และความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของเวียดนามแล้ว ยังช่วยผลักดันอารยธรรมด้านพลังงานของสังคมมนุษย์ด้วย

นับตั้งแต่ต้นปีนี้ โกชัน ไฮเทค ได้เดินหน้ากลยุทธ์บุกตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทได้บรรลุความร่วมมือทางกลยุทธ์กับบริษัท JEMSE ของอาร์เจนตินา เพื่อร่วมทุนสร้างสายการผลิตลิเทียมคาร์บอเนตเกรดแบตเตอรี่ในจังหวัดคูคุยของอาร์เจนตินา ขณะเดียวกัน โกชันก็ได้เปิดสาขาที่เยอรมนี ซึ่งเป็นการเปิดฉากการผลิตแบตเตอรี่ของโกชันที่ “ผลิตในยุโรป” ต่อมาในเดือนกรกฎาคม บริษัทฯ ได้เปิดขายตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (General Depositary Receipt หรือ GDR) ที่ตลาดซิกซ์ สวิส (SIX Swiss) และในเดือนกันยายน บริษัทได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางกลยุทธ์กับซูเมค (Sumec) เพื่อส่งเสริมธุรกิจส่งออกผลิตภัณฑ์จัดเก็บพลังงาน ซึ่งตามแผนการของบริษัทนั้น ภายในปี 2568 บริษัทฯ น่าจะมีกำลังการผลิตทั่วโลกแตะ 300GWh ซึ่งในจำนวนนี้มาจากต่างประเทศ 100GWh เพื่อช่วยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH