ฝ่าวิกฤต ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เมื่อรอดจากโควิด ธุรกิจจะไปต่ออย่างไร

ฝ่าวิกฤต ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เมื่อรอดจากโควิด ธุรกิจจะไปต่ออย่างไร

อัปเดตล่าสุด 26 พ.ย. 2563
  • Share :
  • 733 Reads   

แม้ตลาดยานยนต์จะเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 แต่กว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนจะได้รับประโยชน์ยังต้องอาศัยเวลาอีกระยะใหญ่ ทำให้หลายบริษัทจำเป็นต้องปรับลดต้นทุนเพื่อประคับประคองให้ธุรกิจดำเนินไปต่อได้ แต่หลังจากนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างมั่นคง หลายรายลงทุนขยายตลาดสู่ธุรกิจชิ้นส่วนยุคใหม่

Shindengen Electric Manufacturing ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ และจักรยานยนต์ ประกาศหยุดการลงทุนวิจัยและพัฒนา ปิดสายการผลิตของโรงงานจังหวัดไซตามะเป็นการชั่วคราว และจำเป็นต้องปรับลดพนักงานลง 10% ในปีงบประมาณนี้  เนื่องจากประเมินว่าเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2020 บริษัทจะขาดทุน 7.1 พันล้านเยน ซึ่งธุรกิจที่ขาดทุนสูงสุดคือชิ้นส่วนจำพวกระบบขับเคลื่อนยานยนต์ ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดร่วมกับปัญหาด้านการผลิตที่ไม่สามารถเดินเครื่องได้อย่างเต็มกำลัง  

นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังแสดงความเห็นต่อความจำเป็นต้องเข้าสู่ธุรกิจชิ้นส่วนยุคใหม่ เช่น ชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ตามแนวคิด CASE จะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์นำพาธุรกิจให้ไปต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทิ้งกลุ่มลูกค้าเดิม

Riken Corporation ผู้ผลิตแหวนลูกสูบ (Piston Ring) มีแผนเปิดโครงการสมัครใจลาออกในเดือนมกราคม 2021 ซึ่งเป็นผลจากการประเมินตัวเลขคาดว่าจะขาดทุน 6 ร้อยล้านเยน และตั้งเป้าลดจำนวนพนักงานลง 10% เช่นเดียวกัน

TACHI-S ผู้ผลิตเบาะนั่งยานยนต์ เป็นอีกบริษัทที่เล็งเห็นว่าการปลดพนักงานเพื่อให้บริษัทยังทำกำไรต่อได้เป็นเรื่องจำเป็น และได้ให้พนักงานเกษียณก่อนกำหนดรวมแล้ว 232 คนตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา

Sanden Holdings เปิดเผยถึงโควิดส่งผลให้ต้องชะลอการปรับโครงสร้างออกไปก่อน และมีกำหนดลดพนักงานลง 2,000 ตำแหน่งทั่วโลก โดยรายงานว่าตั้งแต่ปีงบประมาณ 2017 เป็นต้นมา บริษัทฯ พบว่ายอดขายชิ้นส่วนเครื่องยนต์ดีเซลได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุโรปและจีน ซึ่งมีการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น รวมไปถึงปัจจัยอื่นอย่างสงครามการค้า อย่างไรก็ตาม พบว่าปัจจุบันตลาดยุโรปกำลังมีความต้องการเพิ่มขึ้น และมียอดสั่งซื้อชิ้นส่วนเข้ามามากกว่าการคาดการณ์ 

MITSUBA Corporation เป็นอีกบริษัทที่เห็นตรงกันในเรื่องธุรกิจชิ้นส่วนยุคใหม่ โดยบริษัทฯ ตัดสินใจลงทุนพัฒนามอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับจักรยานยนต์เป็นหลัก หลังจากที่ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีงบประมาณ Mr. Katsuyoshi Kitada ประธานบริษัทแสดงความเห็นว่าเป็นผลจากต้นทุนคงที่ (Fixed cost) ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้บริษัทตัดสินใจปิดโรงงาน 2 แห่งในปี 2021 และปลดพนักงานออก 549 ราย