โคบอทส์ รับโอกาสโควิด ตอบโจทย์ New Normal
วิกฤต COVID-19 ผลักดันให้ผู้คนทั่วโลกเข้าสู่ความปกติรูปแบบใหม่ (New Normal) ในทุกด้าน รวมถึงธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งนำสู่ความต้องการใช้โคบอทส์ (Cobots) เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
โคบอทส์ (Cobots: Collaborative Robots) คือ
หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน สามารถทำงานร่วมกับคนได้อย่างปลอดภัยโดยปราศจากเครื่องกั้น
สถานการณ์ตลาดหุ่นยนต์ในต่างประเทศ
ที่แล้วมา หุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติ ได้ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานเป็นหลัก แต่ในปัจจุบัน ผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดทำให้ความต้องการหุ่นยนต์หยุดชะงักไปบ้าง โดยเฉพาะในจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ โดยฝ่ายบริหารของ Yaskawa Electric รายงานว่า โดยภาพรวมแล้ว สถานการณ์ตลาดหุ่นยนต์ในจีนไม่ดีนัก
อย่างไรก็ตาม จากการเดินหน้านโยบาย “New Infrastructure” ของรัฐบาลจีน ซึ่งให้การสนับสนุนอุตสาหกรรม 5G, อินเทอร์เน็ตเพื่อภาคอุตสาหกรรม, คมนาคมขนส่ง, ระบบราง, Data Center, ปัญญาประดิษฐ์, ไฟฟ้า, และสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ความต้องการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจากเป้าหมายเหล่านี้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในตลาดจีน
ในอีกด้านหนึ่ง Mr. Tosei Takagi หัวหน้าแผนกหุ่นยนต์ และ Precision Machine บริษัท Kawasaki Heavy Industries แสดงความเห็นว่า ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะยอดขายรถที่ลดลง ส่งผลต่อยอดขายหุ่นยนต์เช่นเดียวกัน โดยมีโปรเจกต์ของลูกค้าหลายรายที่ถูกเลื่อนการลงทุนออกไป
Cobots เติบโตสูง ตอบโจทย์ New Normal
Mr. Kenji Yamaguchi ประธานบริษัท Fanuc คาดการณ์ว่า เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น และกลายเป็น New Normal ก็คือ โคบอทส์ หุ่นยนต์ซึ่งทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย โดยในช่วงที่่ผ่านมา ทางบริษัทฯ ได้รับออเดอร์โคบอทส์เข้ามาเยอะมาก จึงมีการเดินหน้าผลิตโคบอทจำนวนมากตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป รวมถึงกำหนดจัดส่งโคบอท CRX จำนวนมากในเดือนเดียวกัน และมองว่า ความต้องการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จะพุ่งทะยานขึ้นเร็วกว่าที่ผ่านมา
ความเคลื่อนไหวในหมู่ผู้ผลิตหุ่นยนต์อีกบริษัท คือ Mitsubishi Electric ซึ่งประกาศลงทุนพัฒนาโคบอท “MELFA ASSISTA” ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเดิมทีเป็นโคบอทที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และยังต้องปรับปรุงอีกหลายจุด แต่ทางบริษัทยืนยันถึงความต้องการโคบอทจะพุ่งสูงขึ้นอย่างมากหลังสิ้นสุดโควิด-19
Kawasaki Heavy Industries แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า โคบอทไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงงานเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือผู้ขายหุ่นยนต์จะเข้าหาลูกค้าอย่างไร พร้อมเปิดเผยแผนพัฒนาโคบอทส์ เพื่อต่อยอดทางการแพทย์ร่วมกับบริษัท Medicaroid
"สำหรับผู้ผลิตหุ่นยนต์ค่ายญี่ปุ่นแล้ว สงครามการค้าได้ทำให้สถานการณ์ยอดขายหุ่นยนต์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเริ่มหยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2019 และอาจถอยหลังอีกครั้งในปีนี้จากวิกฤตโควิด แต่สมาคมหุ่นยนต์ญี่ปุ่น (Japan Robot Association) ยังมั่นใจว่าในท้ายสุด การแข่งขันเพิ่มผลผลิตระหว่างบริษัทจะกระตุ้นความต้องการหุ่นยนต์โรงงาน และระบบอัตโนมัติให้กลับมาอย่างแน่นอน"
อ่านต่อ