เพราะอะไร ‘บริษัทญี่ปุ่น’ สนใจลงทุนอินเดีย
รู้หรือไม่ “ซูซูกิ” เป็นผู้นำตลาดยานยนต์ในอินเดีย ขณะที่ UN คาดจำนวนประชากรของอินเดียกำลังจะแซงหน้าจีน ด้าน IMF คาด GDP อินเดียจะโต 6.1% ในปี 2023
นาย Fumio Kishida นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เยือนอินเดียกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา จึงเป็นที่น่าจับตาถึงความเคลื่อนไหวของบริษัทญี่ปุ่นในอินเดียหลังจากนี้ไป
Advertisement | |
“ผู้ผลิตเครื่องจักรกลญี่ปุ่น” เร่งลงทุนเสริมฐานการผลิต
ในช่วงเวลาเดียวกัน อินเดียได้จัดงานแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกล "IMTEX" ที่เมืองเบงกาลูรู เมืองหลวงของรัฐกรณาฏกะ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย และเป็นหนึ่งในเมืองอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ
นาย Yoshiharu Inaba ประธานสมาคมเครื่องจักรกลญี่ปุ่น (JMTBA) และประธานบริษัท FANUC เผยว่า งาน IMTEX จัดขึ้นทั้งหมด 7 วัน มีผู้เยี่ยมชมงานมากกว่า 96,000 คน ซึ่งในปีนี้มีจำนวนผู้เข้าชมสูงสุดนับตั้งแต่ที่เคยจัดมา อีกทั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2022 ยังเป็นเดือนที่อินเดียสั่งซื้อเครื่องจักรญี่ปุ่นสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย
Yamazaki Mazak หนึ่งในบริษัทญี่ปุ่นที่ร่วมออกบูธภายในงานครั้งนี้ ได้ประกาศจัดตั้งโรงงานแห่งใหม่ที่รัฐมหาราษฏระ และเปิดตัวเครื่องแมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์ “VC-EZ Series” ที่ออกแบบเพื่อตลาดอินเดียโดยเฉพาะ ผู้เกี่ยวข้องเปิดเผยว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและสะท้อนถึงความต้องการลงทุนเครื่องจักรของลูกค้าในตลาดอินเดีย
Brother Industries เป็นอีกบริษัทที่เล็งเห็นความต้องการเครื่องจักรกลแบรนด์ญี่ปุ่นในอินเดีย และจะเริ่มเดินสายการผลิตเครื่องจักรกลที่เมืองเบงกาลูรูเมื่อเดือนธันวาคม 2024 เพื่อให้สามารถจัดส่งเครื่องจักรถึงลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ทางด้าน DMG MORI เผยว่า มีแผนสร้างโรงหล่อโลหะที่อินเดียในอนาคต โดยตั้งเป้าให้เป็น “โรงหล่อสีเขียว” ใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในการผลิต
อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นในอินเดีย
ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีสัดส่วน GDP ราวครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหมดในอินเดีย ทำให้บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากเข้ามาดำเนินธุรกิจในอินเดีย โดยซูซูกิ (Suzuki) เป็นหนึ่งในบริษัทที่น่าจับตามองด้วยส่วนแบ่งราว 40% ของตลาดยานยนต์อินเดียและยังเป็นผู้นำตลาดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียได้กำหนดเป้าหมายของรถยนต์ไฟฟ้าไว้ที่ 30% ของยอดขายยานยนต์ใหม่ทั้งหมดในปี 2030 ทำให้ค่ายรถจากประเทศอื่น ๆ เล็งเห็นโอกาสนี้ จึงน่าจับตาว่าซูซูกิจะเร่งลงทุนด้านรถอีวีเพิ่มขึ้นหรือไม่
แผนธุรกิจล่าสุดของซูซูกิเมื่อเดือนมกราคม 2023 เผยว่า ซูซูกิมีแผนเปิดตัวรถอีวี 6 รุ่นใหม่ภายในปี 2030 และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายรถอีวีเป็น 15% ซึ่งในปี 2022 ที่ผ่านมา ซูซูกิได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐคุชราต ประกาศแผนการลงทุนประมาณ 104.4 พันล้านรูปี (1,263 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ อีกทั้งยังมีแผนสร้างโรงงานแห่งใหม่ในรัฐหรยาณา และศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งใหม่ในเดลีอีกด้วย
ทางด้านนิสสัน (Nissan) มีแผนเปิดตัวอีวีรวม 6 โมเดลในอินเดียร่วมกับ Renault และแผนลงทุนโรงงานมูลค่า 6 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ
Toyoda Gosei ผู้ผลิตถุงลมนิรภัยเผยแผนลงทุน 2.2 พันล้านเยน (16.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อขยายอาคารโรงงาน Toyoda Gosei Minda India ขึ้น 1.6 เท่า โดยตั้งเป้าเริ่มเดินสายการผลิตในเดือนกันยายน 2024 เพื่อตอบสนองต่อรัฐบาลอินเดียที่ได้พยายามยกระดับกฎระเบียบด้านความปลอดภัย
โรงงาน Toyoda Gosei ในอินเดีย เพิ่มกำลังการผลิตถุงลมนิรภัยซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท
Tokai Rika เป็นอีกบริษัทที่มีแนวทางตรงกัน โดยมีแผนก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในรัฐราชสถานซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย เพื่อผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และคันเกียร์ป้อนให้กับโรงงานซูซูกิอินเดีย และคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในเดือนกันยายน 2024
Yokohama Rubber Company เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อีกรายที่มีแผนต่อเติมโรงงานด้วยเงินลงทุน 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตบยางรถยนต์นั่งส่วนบุคคล
นอกจากอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและยานยนต์แล้ว อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงอุตสาหกรรมก่อสร้างก็ให้ความสนใจในตลาดอินเดียเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น มิตซูบิชิ อีเล็คทริค (Mitsubishi Electric) ซึ่งมีแผนลงทุน 2.67 หมื่นล้านเยน (203 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สร้างโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศและคอมเพรสเซอร์แอร์ ขณะที่ TDK มีแผนผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาดเล็กสำหรับสมาร์ทโฟน และอื่น ๆ
นอกจากนี้ NTT บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่จากญี่ปุ่นได้ยกให้อินเดียเป็นตลาดสำคัญที่สุดในเอเชีย และมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเป็นมูลค่า 5 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้อีกด้วย
Komatsu เป็นอีกบริษัทที่มีแผนลงทุนเช่นกัน โดยตั้งเป้าสร้างศูนย์กระจายสินค้าในอินเดียเพื่อให้ซัพพลายเชนมีความมั่นคงยิ่งขึ้น และลดความเสี่ยงจากปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ
อินเดียมีแนวโน้มเติบโตทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคการผลิต
องค์การสหประชาชาติ (UN) ประชากรของอินเดียจะแซงหน้าจีนและกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกภายในปี 2023 นี้ ส่วนทางด้าน IMF คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP ของอินเดียจะอยู่ที่ 6.1% ในปี 2023 และ 6.8% ในปี 2024
ไม่ใช่แค่จำนวนประชากรและ GDP เท่านั้น รัฐบาลอินเดียยังมีแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตภายใต้ชื่อ “Make in India” เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งของ GDP ในอุตสาหกรรมการผลิตจาก 15% ในปี 2021 เป็น 25% อีกทั้งยังมีแผนกระตุ้นการผลิตและการลงทุนภายใต้โครงการ Production Linked Incentive (PLI) ด้วยการอัดฉีดเงินอุดหนุน ดึงดูดการลงทุนทั้งจากในและนอกประเทศอีกด้วย
นอกจากอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว บริษัทญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มพัฒนาธุรกิจอื่นทั้งการตั้งฐานวิจัยและพัฒนา และยังพบว่าการจ้างบุคลาการด้านไอทีที่มีทักษะสูงจากอินเดียยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
มุมมองจากนาย Masashi Kono หัวหน้าแผนกวิจัยต่างประเทศจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO)
นาย Masashi Kono หัวหน้าแผนกวิจัยต่างประเทศจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) แสดงความเห็นว่า สิ่งที่บริษัทอินเดียคาดหวัง คือ เทคโนโลยีขั้นสูงจากญี่ปุ่น ซึ่งเห็นได้จากความร่วมมือระหว่างสองประเทศในด้านการแพทย์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีดิจิทัล
ส่วนตลาดยานยนต์นั้น นาย Kono คาดการณ์ว่าจะมีเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหัวใจหลัก ในขณะที่ตลาดจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถสามล้อไฟฟ้าของอินเดียนั้นก้าวหน้ากว่าญี่ปุ่นมาก ทั้งการเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่มีตัวเลือกมากมาย การรีไซเคิลรถยนต์ไฟฟ้า และอื่น ๆ ซึ่งฮอนด้าเองก็มีแผนทำธุรกิจสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ในอินเดียเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจบริษัทญี่ปุ่นซึ่งจัดทำโดย JETRO พบว่า ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นกำลังกลายเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง อีกทั้งยังมีผู้ตอบแบบสอบถามว่าต้นทุนการจัดซื้อที่เพิ่มขึ้นและขั้นตอนด้านศุลกากรเป็นสิ่งที่บริษัทญี่ปุ่นกำลังจับตาเช่นกัน
#ลงทุนอินเดีย #นักลงทุนญี่ปุ่น #India #Investment #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม
ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ในไทย ปี 2565
- ครม. อนุมัติงบอุดหนุนรถ BEV 18,000 - 150,000 บาท/คัน
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- 17 อุตสาหกรรมแนวโน้มเติบโตในปี 2566
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH