เจาะลึกแนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ปี 2563 หลังโควิด และระยะถัดไป

เจาะลึกแนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ปี 2563 หลังโควิด และระยะถัดไป

อัปเดตล่าสุด 21 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 1,306 Reads   

เจาะลึกแนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ปี 2563 หลังโควิด และระยะถัดไป ผ่านมุมมองผู้บริหารบริษัท Asahi Kasei, Mitsui Chemicals, Tosoh, Sumitomo Chemical, Showa Denko, และ Mitsubishi Chemical  

เครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ยา ความต้องการสูงสุดในช่วงนี้

Mr. Hideki Kobori ประธานบริษัท Asahi Kasei กล่าวแสดงความเห็นว่า การมาของโควิดทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์เป็นอย่างมาก โดยผู้คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง ทางบริษัทจึงเข้าซื้อกิจการ Veloxis Pharmaceuticals ผู้ผลิตยาค่ายสหรัฐฯ และเสริมธุรกิจ เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต

Mitsui Chemicals ธุรกิจเคมีภัณฑ์ วัสดุ และพอลิเมอร์ เป็นอีกบริษัทหนึ่งซึ่งรายงานในทิศทางเดียวกัน และประกาศเพิ่มกำลังผลิตวัสดุสำหรับหน้ากาก และเครื่องมือแพทย์ เนื่องจากเล็งเห็นว่าความต้องการของสินค้าประเภทนี้จะเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่ง Mr. Osamu Hashimoto ประธานบริษัทแสดงความเห็นว่า “เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในอีก 5-10 ปีข้างหน้านี้แล้ว การขยายธุรกิจเครื่องมือแพทย์เป็นเรื่องอันควร” พร้อมเปิดเผยว่า อยู่ระหว่างพิจารณาเปิดธุรกิจด้านระบบวินิจฉัยอีกด้วย

Tosoh ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ อีกรายหนึ่ง รายงานว่า ปัจจุบันทางบริษัทมีแนวทางลงทุนด้านเทคโนโลยีวัสดุชีวภาพ ซึ่งมีความต้องการจากกลุ่มผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้พัฒนาอุปกรณ์ตรวจโรคโควิดในขณะนี้

ลูกค้ารายถัดไป ความต้องการจากอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์เพื่อ 5G และ AI 

นอกจากเครื่องมือแพทย์แล้ว ยังมีความต้องการเคมีภัณฑ์จากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งที่เด่นชัดที่สุดในขณะนี้ คืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งมีความต้องการเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Mr. Keiichi Iwata ประธานบริษัท Sumitomo Chemical คาดการณ์ว่าในอนาคต ความต้องการ Extreme ultraviolet lithography (EUV) เทคโนโลยีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์สำหรับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และเครือข่าย 5G จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาดของบริษัทต่าง ๆ เช่น JSR และ TOKYO OHKA KOGYO ซึ่งทาง Sumitomo Chemical เอง ก็วางแผนเข้าสู่ตลาดสารไวแสง (Photoresist) สำหรับ EUV และจะเริ่มผลิตจำนวนมากเร็ว ๆ นี้ รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์แบบเหลวอีกด้วย

Showa Denko ผู้นำตลาดวิศวกรรมเคมีในญี่ปุ่น เป็นอีกรายที่รายงานตรงกันว่าการแข่งขันในตลาดวัสดุสำหรับ 5G กำลังรุนแรงขึ้น ซึ่ง Mr. Motohiro Takeuchi เจ้าหน้าที่บริหาร เล่าว่าบริษัทตัดสินใจซื้อกิจการ Hitachi Chemical เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดวัสดุสำหรับ 5G และ ICT ซึ่งแต่เดิม Hitachi Chemical เป็นเจ้าของส่วนแบ่งตลาดสารเคลือบเซมิคอนดักเตอร์ลำดับหนึ่งของโลก และมีส่วนแบ่งในตลาดวัสดุสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่มาก 

Mitsubishi Chemical เป็นอีกบริษัทที่คาดการณ์ตรงกัน โดยประกาศเพิ่มกำลังผลิต และตั้งเป้ายอดขายผลิตภัณฑ์เซมิคอนดัคเตอร์ในแผนระยะกลางไว้ที่ 1 แสนล้านเยน หรือราว 930 ล้านดอลลาร์สหรัญ ในขณะที่ Mitsui Chemicals ได้ตั้งไว้ที่ยอดเท่ากัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าปัจจุบันถึง 2 เท่า ส่วน Tosoh ก็ประกาศเพิ่มกำลังผลิตเช่นเดียวกัน ส่วนทางด้าน Ube Industries และ Kyocera ได้ประกาศร่วมลงทุนในธุรกิจฟิลเตอร์เซรามิกสำหรับสถานีฐาน 5G ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการมากขึ้น และมีราคาสูงขึ้นทั้งสิ้น

อุตฯ ยานยนต์ กุญแจสู่การเติบโตระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ความต้องการเคมีภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และอิเล็กทรอนิกส์ อาจยังไม่เพียงพอสำหรับการเติบโตในระยะยาว ซึ่งในท้ายสุด อุตสาหกรรมยานยนต์ที่อยู่ระหว่างการชะลอตัวก็จะฟื้นตัวกลับมาได้ ดังนั้นหากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ต้องการให้ธุรกิจเติบโตในระยะยาวแล้ว ความต้องการจากอุตสาหกรมยานยนต์นี่เอง ที่อาจจะเป็นคำตอบ

Mr. Hideki Kobori ประธานบริษัท Asahi Kasei คาดการณ์ว่า อาจต้องอาศัยเวลาอีก 2 - 3 ปี กว่าความต้องการจากอุตสาหกรรมยานยนต์จะฟื้นตัว สืบเนื่องจากการชะลอตัวในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม ความต้องการเคมีภัณฑ์สำหรับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ตามแนวคิด CASE ซึ่งการมาของโควิด อาจทำให้เกิดความต้องการใหม่ ๆ เช่น เซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ หรือวัสดุกันเชื้อโรคสำหรับเบาะนั่งอีกด้วย

Mr. Osamu Hashimoto ประธานบริษัท Mitsui Chemicals คาดการณ์ว่า มีแนวโน้มอย่างยิ่งที่ผู้บริโภคจะเลือกเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะลดลง และเลือกใช้รถส่วนตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัวทางการเงิน แต่ก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ความต้องการจะพุ่งทะยานหลังจากนี้ ซึ่งเป็นเหตุให้ทางบริษัทตัดสินใจร่วมมือกับองค์กรอื่น ก่อตั้ง “CoE (Center of Excellence)” สำหรับสนับสนุนการออกแบบโซลูชัน และบริการยานยนต์ เพื่อตอบรับความต้องการในอนาคต 

บทสัมภาษณ์ Mr. Masayuki Waga ประธานบริษัท Mitsubishi Chemical

Mr. Masayuki Waga, President of Mitsubishi Chemical
Mr. Masayuki Waga ประธานบริษัท Mitsubishi Chemical 


มีความเห็นอย่างไรต่ออุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในระยะสั้น และหลังโควิด

“ในระยะสั้นผมเห็นว่า หากผู้ผลิตมีการร่วมมือกัน ก็จะสามารถผลิตสินค้าต่าง ๆ ตอบรับความต้องการได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสเปรย์ฆ่าเชื้อ, หน้ากาก, เฟสชิลด์, หรือชุดกันเชื้อโรค ซึ่งประสบการณ์ที่ได้จากช่วงนี้เอง ที่สามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่รวดเร็วได้ในอนาคต เหมือนอย่างการนำเทคโนโลยีกันฝ้ามาใช้พัฒนาเฟสชิลด์ในช่วงที่ผ่านมา

และอีกสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากวิกฤตนี้ คือการร่วมมือที่ไร้พรมแดน เริ่มจากการขอความร่วมมือในบริษัทในสาขาต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศที่ทำให้องค์กรมีความสามัคคีมากขึ้น รวมไปถึงการโพสต์ถามหาไอเดีย และแนวทางการแก้ปัญหาในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีอีกด้วย”

คิดอย่างไรกับ Digitalization หรือการพัฒนาทุกอย่างให้ Smart ยิ่งขึ้น

“ผมมองว่าแนวทางนี้ จะทำให้ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์พุ่งสูงขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา และช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น ซึ่งผมคาดการณ์ว่า ความต้องการจอภาพและเซมิคอนดักเตอร์จะกลายเป็นเทรนด์ในอนาคต และเนื่องจากการที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น ก็จะนำมาซึ่งความต้องการใหม่ ๆ ในขณะที่ภาคธุรกิจและโรงงาน จะก่อให้เกิดความต้องการเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายการผลิต ที่จะนำมาซึ่งความต้องการเทคโนโลยีควบคุมระยะไกล (Remote Controlling Technology) ซึ่งบริษัทเรามีแผนตั้งศูนย์วิจัยแห่งใหม่สำหรับธุรกิจนี้ภายในสิ้นปี 2021”

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะเป็นอย่างไร

“เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ผลิตควรมีสินค้าที่หลากหลาย เพื่อให้รองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่อง แต่ความต้องการเหล่านี้มีแต่จะทำให้การผลิตซับซ้อนยิ่งขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยี, การซื้อกิจการ, การร่วมมือระหว่างหน่วยงาน, และการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรที่ต้องการเตรียมพร้อมต่ออนาคต และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ที่จะต้องมีความเชี่ยวชาญกว่าที่แล้วมา”

 

อ่านต่อ