เทรนด์ใหม่ของโคบอท "Cobot for heavy duty process"
อัปเดตเทรนด์ใหม่ของโคบอท "Cobot for heavy duty process" ที่ออกแบบให้รับน้ำหนักได้มากขึ้น โดยล่าสุดมีหุ่นยนต์ Cobot ที่รับโหลดได้มากถึง 50 kg. ซึ่งถูกยกให้เป็นสถิติสูงสุดในตอนนี้
หุ่นยนต์โคบอท (Cobot) ชื่อเรียกหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน หรือ Collaborative Robot ที่ถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างใกล้ชิดและปลอดภัยโดยไม่ต้องมีรั้วกั้น
Advertisement | |
ข้อมูลจาก International Federation of Robotics (IFR) เผยว่า ในปี 2021 ทั่วโลกมีโคบอทส์รวม 39,000 ยูนิต เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 50% ซึ่งแม้เมื่อเทียบกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแล้วจะยังมีสัดส่วนไม่มาก แต่ก็แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่ชัดเจน การพัฒนาให้หุ่นยนต์โคบอททำงานร่วมกับมนุษย์ได้โดยไม่ต้องล้อมรั้วป้องกัน ทำให้กล่าวได้ว่า โคบอทส์ คือ กุญแจสำคัญที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน
โคบอทส์ที่รับน้ำหนักได้มากขึ้น
โคบอทส์ที่รองรับน้ำหนักได้มากขึ้นเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เมื่อโคบอทส์ได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้มีความต้องการนำโคบอทส์ไปใช้งานในแอปพลิเคชันที่หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงงานที่เสี่ยงอันตรายและการทำงานกับชิ้นงานขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้รองรับไว้แต่แรกจึงเพิ่มขึ้นด้วย
ตัวอย่างหนึ่งตามเทรนด์นี้ คือ FANUC ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2023ได้จัดงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สำนักงานใหญ่ในจังหวัดยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น โดยสิ่งที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ โคบอทส์รุ่นแรกของโลกที่รองรับชิ้นงานหนักได้ 50 กิโลกรัม ทำลายสถิติเดิมของบริษัทที่โคบอทส์รับน้ำหนักสูงสุดได้ 35 กิโลกรัม และยังเป็นตัวเลขที่มากที่สุดในภาคอุตสาหกรรมได้สำเร็จ
โคบอทส์จาก FANUC ซึ่งเป็นรุ่นแรกของโลกที่รองรับน้ำหนักชิ้นงานได้สูงสุด 50 กิโลกรัม
จุดเด่นของโคบอทส์รุ่นนี้ คือ การใช้โครงสร้างและกลไกเดียวกับรุ่น “CR-35iB” ที่มีอยู่แต่เดิม แต่อัปเดตซอฟต์แวร์ให้รองรับชิ้นงานที่มีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเสียเงินลงทุนเพิ่มเติมแต่อย่างใด
นาย Kenichiro Abe เจ้าหน้าที่บริหาร FANUC แสดงความเห็นว่า “สิ่งสำคัญของโคบอทส์ คือ ต้องใช้งานง่าย ทำงานด้วยได้ง่าย และเลือกได้ง่าย” และอธิบายว่า หากโคบอทส์สามารถอัปเดตได้อย่างต่อเนื่องเหมือนการอัปเดต OS ของสมาร์ทโฟนแล้ว ก็จะทำให้โคบอทส์ตอบโจทย์เหล่านี้
FANUC คาดการณ์ว่า โคบอทส์ที่รับน้ำหนักได้มากจะถูกนำไปใช้ในการลำเลียงล้อและยางรถบรรทุก ไปจนถึงใช้ประกอบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะเป็นงานที่มีความต้องการมากขึ้นเมื่อรถอีวีแพร่หลาย
Yaskawa Electric เป็นอีกบริษัทที่ขยายไลน์อัพโคบอทส์เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 โดยเพิ่มโคบอทส์รุ่นที่รองรับน้ำหนักได้ 30 กิโลกรัมเสริมในไลน์อัพเดิมที่มีแค่รุ่น 10 กิโลกรัม และ 20 กิโลกรัมเท่านั้น
อีกรายคือ Universal Robot (UR) บริษัทผู้บุกเบิกโคบอทส์จากเดนมาร์ก เป็นอีกรายที่มีแนวทางเดียวกัน ด้วยการเปิดตัวโคบอทส์ที่รองรับน้ำหนักสูงสุด 20 กิโลกรัม
โคบอทส์จาก Universal Robot ที่รองรับชิ้นงานหนักได้ 20 กิโลกรัม สำหรับงาน Palletizing และงานอื่น ๆ
นาย Tsuyoshi Yamane ตัวแทนจาก Universal Robot สาขาญี่ปุ่น กล่าวว่า โคบอทส์ที่รองรับน้ำหนักได้มากขึ้น ทำให้สามารถทำงานกับชิ้นงานที่มีน้ำหนักมากขึ้นได้ เช่น จัดเรียงสินค้าบนพาเลท ขนถ่ายชิ้นงานที่มีน้ำหนักมากขึ้นไปยังเครื่องจักร และอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบ Cobot กับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วไปแล้ว จุดเด่นของโคบอทส์ที่รองรับน้ำหนักได้มากอาจไม่เพียงพอ เพราะหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสามารถรองรับชิ้นงานที่มีน้ำหนักมากกว่าอย่างมาก หยิบจับชิ้นงานที่มีน้ำหนักหลายร้อยกิโลกรัมได้ และยังทำงานได้รวดเร็วจาการแยกพื้นที่การทำงานอย่างชัดเจนด้วยรั้วที่กั้นไว้
ซึ่งในประเด็นนี้ นาย Kenichiro Abe เจ้าหน้าที่บริหาร FANUC เผยว่า ตัวเลือกที่หลากหลาย คือสิ่งที่จะเข้ามาตอบโจทย์ แม้ปัจจุบันจะมีผู้ที่เห็นต่างในการนำหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาใช้งานเฉพาะทาง แต่ Cobots ยังถูกคาดหวังว่าจะนำมาใช้ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยโดยพนักงานสามารถเดินเข้าออกพื้นที่การผลิตที่มีหุ่นยนต์ได้
การเติบโตและอุปสรรคในอนาคต
Yano Research Institute คาดการณ์ว่า ในปี 2032 ความต้องการระบบอัตโนมัติจะทำให้มูลค่าตลาด Cobots ทั่วโลกอยู่ที่ 1,538,000 ล้านเยน (10,962 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 7 เท่าจากปี 2021 และโคบอทส์จะมีราคาถูกลงราว 30% เนื่องจากจำนวนผู้ผลิตโคบอทที่มากขึ้นทำให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ มีราคาถูกลง และด้วยตัวเลือกโคบอทส์ในตลาดที่มากขึ้นนี้เองจะช่วยลดกำแพงในการจัดหาโคบอทส์ให้ต่ำลง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการคาดการณ์ว่าโคบอทส์จะเติบโตในอนาคต แต่ยังคงมีหลายฝ่ายในภาคอุตสาหกรรมที่มีความเห็นสวนทาง โดยผู้บริหารบริษัทหุ่นยนต์รายหนึ่งแสดงความเห็นว่า Cobots เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเพราะปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข แต่กลับกันก็มีผู้แสดงความเห็นว่า เมื่อเทียบกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมแล้ว ผู้ใช้ยังยอมรับโคบอทส์ไม่มากพอ
ยกตัวอย่างเช่น การนำเครื่องสแกนเลเซอร์นิรภัย (Safety Laser Scanner) มาใช้ในการตรวจจับเพื่อลดความเร็วและหยุดการทำงานของโคบอทส์ เนื่องจากพนักงานยังรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อทำงานร่วมกับ Cobot
จากการสำรวจด้านสุขภาพและความปลอดภัยในโรงงานยังพบกรณีที่ Cobots ถูกยกให้เป็นเป้าหมายด้านความปลอดภัยที่ควรปรับปรุง ส่งผลให้มีการล้อมรั้วหุ่นยนต์โคบอทส์ทั้งที่ถูกออกแบบให้ทำงานโดยไม่มีรั้วกั้น ซึ่งผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่รายหนึ่งแสดงความเห็นว่า เมื่อผู้ใช้งานพบว่า Cobots ไม่ได้ปลอดภัยดังที่คาดหวังไว้ ก็จะทำให้การขายโคบอทส์ทำได้ยากขึ้น
นอกจากนี้ ปัญหาหนึ่งที่เป็นอุปสรรคของโคบอทส์และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม คือการขาดแคลนแรงงานในกลุ่ม SMEs ที่มีความรุนแรงมากกว่าองค์กรขนาดใหญ่ ขณะที่ความสามารถในการจัดหาหุ่นยนต์มาใช้งานทำได้ยากกว่า อีกทั้ง System Integrator (SI) ยังมีทรัพยากรและเวลาที่จำกัด จึงมักเลือกให้ความสำคัญกับงานจากบริษัทใหญ่มากกว่าด้วย
โคบอทส์ของ ABB ที่รองรับน้ำหนักได้มากกว่ารุ่นก่อนถึง 6 เท่า แต่มีความเร็วต่ำกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพื่อความปลอดภัยของวิศวกร
นาย Shuichiro Nakajima ประธานบริษัท ABB ญี่ปุ่น แสดงความเห็นว่า จำนวนประชากรวัยทำงานกำลังลดลงทุกวัน ทำให้ความต้องการระบบอัตโนมัติเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ บุคลากรที่สามารถนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในการพัฒนาระบบอัตโนมัติได้ยังมีไม่เพียงพอ
ข้อดีของ Cobots คือ ใช้พื้นที่น้อย สามารถติดตั้งในพื้นที่จำกัดได้ สามารถเคลื่อนย้ายไปตามสายการผลิตได้ง่ายด้วยการติดตั้งเข้ากับฐานล้อเลื่อน อีกทั้งยังสามารถทำงานได้ตามฟังก์ชัน “Direct teach” หรือการสอนด้วยการจับแขนหุ่นยนต์ให้เคลื่อนไปตามจุดที่ต้องการ
ทุกวันนี้ การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นเรื่องไม่อาจรอได้ ไม่เพียงแต่ผู้ผลิตและผู้พัฒนาเทคโนโลยีเท่านั้น แต่หน่วยงานรัฐบาล หน่วยงานสนับสนุน บริษัทประกันภัย และอื่น ๆ ยังได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ด้วย ซึ่งการร่วมสร้างกรณีตัวอย่างการใช้งาน และการพัฒนาบุคลากร SI ก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาเช่นเดียวกัน
#Cobots #Cobot #โคบอทส์ #หุ่นยนต์อุตสาหกรรม #Mreport #ข่าวอุตสาหกรรม
ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ในไทย ปี 2565
- ครม. อนุมัติงบอุดหนุนรถ BEV 18,000 - 150,000 บาท/คัน
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- 17 อุตสาหกรรมแนวโน้มเติบโตในปี 2566
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH