สยามอนันต์กิจ ตัวแทนฯ วอเตอร์เจ็ท Flow เบอร์ต้นโลก เผยพลังน้ำอรรถประโยชน์ ตัดได้ทุกวัสดุ ในงานเมทัลเล็กซ์ 2020

สยามอนันต์กิจ ตัวแทนฯ วอเตอร์เจ็ท Flow เบอร์ต้นโลก เผยพลังน้ำอรรถประโยชน์ ตัดได้ทุกวัสดุ ในงานเมทัลเล็กซ์ 2020

อัปเดตล่าสุด 23 พ.ย. 2563
  • Share :
  • 863 Reads   

เป็นที่ทราบกันว่า มวลน้ำนั้นมีพลังมหาศาลเมื่อนำมาผนวกเข้ากับเครื่องปั๊ม จะยิ่งเพิ่มพลังจนเกิดเป็นแรงดันน้ำ นำไปใช้ประโยชน์หลากหลาย รวมถึงในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีเทคโนโลยีการตัดวัสดุด้วยพลังน้ำ (Waterjet Cutting) สามารถตัดวัสดุได้ทุกชนิดที่มีความหนาตั้งแต่ 1/16 นิ้วจนถึงมากกว่า 10 นิ้ว สามารถตัดวัสดุในคราวเดียวกันด้วยปริมาณมากหรือน้อยก็ได้ จึงเป็นเครื่องจักรที่มีความคล่องตัวต่อการใช้งานสูง 

สยามอนันต์กิจ (Siam Anankit) ตัวเทนจำหน่าย Flow ซึ่งเป็นผู้นำเทคโนโลยีวอเตอร์เจ็ทระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา โดย นายประวิทย์ วงศ์อนันต์กิจ ผู้จัดการทั่วไป เปิดเผยกับ M Report ถึงศักยภาพของเทคโนโลยีที่จะขยายโอกาสให้แก่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่นำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำไปใช้ในเครื่องจักรแปรรูปอาหารสด เช่น เนื้อปลา ผัก ผลไม้

Flow ผู้นำเทคโนโลยีวอเตอร์เจ็ทระดับโลก จากสหรัฐอเมริกา

ถ้าจะให้เครดิตแก่ Flow คือเบอร์หนึ่งของเทคโนโลยีวอเตอร์เจ็ทก็ไม่คลาดเคลื่อนนัก ย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษ 1970 เมื่ออดีตนักวิจัยและพัฒนาจากโบอิ้ง (ฺBoeing) ได้ก่อตั้ง Flow Research ซึ่งเทคโนโลยีแรกที่ถูกพัฒนาเชิงพาณิชย์ คือ วอเตอร์เจ็ทแบบ Ultra-high Pressure (UHP) สำหรับเป็นเครื่องมือตัดในอุตสาหกรรม เป็นการใช้น้ำบริสุทธิ์ผ่านปั๊มแรงดันสูงตัดวัสดุคอมโพสิตซึ่งเป็นชิ้นส่วนอากาศยานของโบอิ้ง จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในการตัดวัสดุเนื้ออ่อนที่มีความแข็งปานกลาง รวมไปถึงผ้าอ้อมกระดาษ แต่เมื่อครั้งแรกเริ่มนั้นยังไม่สามารถตัดวัสดุจำพวกเหล็ก แก้ว และหินได้ 

หลังจากนั้น Flow ได้พัฒนาต่อยอดเป็นระบบวอเตอร์เจ็ทแบบขัด (Abrasive) ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกและได้จดสิทธิบัตร โดยใช้ผงขัดร่วมในการตัดวัสดุ ผงขัดจะมีความเหมาะสมกับวัสดุแตกต่างกันไป ซึ่งปัจจุบันผงขัดเรียกว่าทรายวอเตอร์เจ็ท (Garnet Abrasive) 

ปัจจุบัน Flow เป็นบริษัทในเครือ Shape Technologies Group เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี Ultra-high Pressure และได้ส่งมอบวอเตอร์เจ็ทกว่า 13,000 เครื่องให้กับลูกค้ากว่า 100 ประเทศ ซึ่งรวมถึงลูกค้าผู้ผลิตอากาศยานทั้งโบอิ้ง แอร์บัส สเปซเอ็กซ์ และมิตซูบิชิเจ็ท

ทำไม “การตัดด้วยระบบวอเตอร์เจ็ท” จึงเหมาะสมกับการแปรรูปอาหารสด

อุตสาหกรรมอาหารมีความละเอียดอ่อนต่อสุขอนามัย และต้องการความพิถีพิถัน ซึ่งการตัดอาหารด้วยระบบวอเตอร์เจ็ทนั้นเป็นกระบวนการตัดแบบเย็น โดยใช้เพียงน้ำบริสุทธิ์ในกระบวนการตัด ลดการสัมผัสอาหารจากมือคน จึงรักษาอุณหภูมิ คงความสด สะอาด และยังให้ความสวยงามตามรูปทรงที่ต้องการได้อย่างไร้ข้อจำกัด ตัดได้เท่ากันทุกชิ้นและทุกวัตถุดิบทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ได้อย่างไม่บอบช้ำ 

สำหรับอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และยังมีแรงผลักดันจากนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับการนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมสร้างศักยภาพธุรกิจให้แข่งขันได้ ปัจจุบันมีบางโรงงานที่ใช้เครื่องจักรแปรรูปอาหารที่ใช้ระบบวอเตอร์เจ็ทแล้ว โดยเฉพาะเครื่องจักรนำเข้าจากต่างประเทศมักจะติดตั้ง UHP ของ Flow มาด้วย ซึ่งสยามอนันต์กิจได้สนับสนุนการบำรุงรักษาระบบวอเตอร์เจ็ทแก่เครื่องจักรเหล่านี้อยู่แล้ว ในอีกด้านหนึ่งนั้นจะเป็นการแนะนำเทคโนโลยีนี้ให้แก่ผู้ผลิตเครื่องจักรแปรรูปอาหารในประเทศไทยได้นำไปใช้ 

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีวอเตอร์เจ็ทในไทยได้รับความนิยมอย่างมากในอุตสาหกรรมหนัก เช่น การผลิตชิ้นส่วนโลหะ ส่วนตกแต่งภายในรถยนต์ วัสดุก่อสร้างและสถาปัตยกรรม แปรรูปหิน กระจก กระเบื้อง รวมถึงงานตัดขึ้นรูปวัสดุพิเศษต่าง ๆ ซึ่งสยามอนันต์กิจได้นำเครื่องวอเตอร์เจ็ทไปร่วมสาธิตในงานแสดงเทคโนโลยีและเครื่องจักรด้านโลหะการ “เมทัลเล็กซ์ 2020”

เครื่องตัดวอเตอร์เจ็ท Mach 200 จาก Flow ในงานเมทัลเล็กซ์ 2020 

Mach 200 เครื่องตัดวัสดุด้วยระบบน้ำแรงดันสูงจาก Flow ซึ่งตัดวัสดุได้ทุกประเภทด้วยกระบวนการตัดแบบเย็น จึงไม่สร้างความร้อนระหว่างกระบวนการตัด ทำให้ไม่มีรอยไหม้ หรือ ตะกรัน ซึ่งพบในกระบวนการตัดพลาสมาและเลเซอร์ สามารถตัดงานได้หนาถึง 200 มม. สามารถตัดวัสดุได้ทุกรูปแบบ ด้วยการตัดเพียงขั้นตอนเดียว และได้คุณภาพขอบที่ดีเยี่ยม โดยไม่จำเป็นต้องทำการขัดผิวซ้ำอีกครั้ง คุณภาพรอยตัดสวยงาม สามารถนำไปใช้งานได้ทันที รองรับงานความละเอียดสูง ตอบโจทย์การตัดวัสดุที่หลากหลาย 

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สยามอนันต์กิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยความต้องการซื้อสินค้ากลุ่มทุนเช่นเครื่องจักรอยู่ในภาวะชะลอตัวลง คาดว่าจะกระทบต่อตัวเลขรายได้ปีนี้ 10-15% ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงต้องใช้เวลาจนกว่าจะมีวัคซีนผลิตออกมาและกระจายทั่วถึงทุกคน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจึงควรปรับตัวโดยมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้สูงขึ้น มีคุณภาพมากขี้น ให้ทันกับกระแสเทคโนโลยีดิจิทัล, IOT หรือ 5G ที่กำลังเข้ามา

“ภาครัฐควรเป็นผู้ริเริ่ม ผลักดันเทคโนยีดิจิทัลให้มากขึ้น ด้วยสนับสนุนทุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการวิจัยสร้างสินค้านวัตกรรม และเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้โดยทั่วถึง” นายประวิทย์ สรุปทิ้งท้าย