โรงงาน ลงทุนเครื่องจักร ลงทุนหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า รถอีวี

คลื่นลงทุนของภาคการผลิตทั่วโลก ในยุคตื่นทอง “รถอีวี” บูมสุด

อัปเดตล่าสุด 24 ส.ค. 2564
  • Share :

เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า รถอีวี ที่เบ่งบาน เข้าครอบครองส่วนแบ่งตลาดแทนที่รถเครื่องยนต์สันดาป กลายเป็นตัวกระตุ้นความต้องการเครื่องจักรกล หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุปกรณ์โรงงานต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ผลิตหลายรายต่างเร่งเครื่องคว้าคำสั่งซื้อในยุคตื่นทองเช่นนี้

Advertisement

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2021 รอยเตอร์ได้จัดทำรายงานความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตเครื่องจักรกล อุปกรณ์โรงงาน หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่อการบูมของรถยนต์ไฟฟ้า เปรียบเทียบว่ารถยนต์ไฟฟ้าก็เหมือน “ยุคตื่นทอง (Gold Rush)” 

คลื่นอีวี กระตุ้นการลงทุนเครื่องจักร หุ่นยนต์ และอุปกรณ์โรงงาน

สำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกา (USCB) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่การระบาดของโควิด การลงทุนเครื่องจักร หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติของอุตสาหกรรมการผลิตสหรัฐอเมริกาลดลงถึงจุดต่ำสุดที่ 361.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนเมษายน 2020 แต่ได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมั่นคง จนกลับมาอยู่ที่ 506 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมิถุนายน 2021 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าก่อนการระบาดของโควิด สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนที่เพิ่มขึ้น

โดยตัวเลขนี้เป็นผลจากการที่นักลงทุน เข้าลงทุนในสตาร์ทอัพอีวีจำนวนมากจากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นคลื่นลูกใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้แรงหนุนจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และยังมีตัวกระตุ้นจากความสำเร็จของเทสล่า ซึ่งกลายเป็นบริษัทรถยนต์มูลค่าสูงที่สุดในโลกแซง Toyota ในปีที่แล้ว และแซงหน้า Facebook ได้สำเร็จเมื่อต้นปี 2021 นี้ 

Andrew Lloyd หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าของบริษัท Comau ในเครือ Stellantis ให้สัมภาษณ์ว่า
 

“ผมไม่แน่ใจว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามาถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง แต่ผมมั่นใจว่ามีพื้นที่ให้ลงทุนอีกมาก และจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างยิ่งใน 18 - 24 เดือนข้างหน้านี้”

 

LMC Automotive ผู้ให้บริการด้านสถิติและตัวเลขในอุตสาหกรรมยานยนต์จากสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2019 - 2025 อุตสาหกรรมยานยนต์อเมริกาเหนือจะมีการลงทุนรวม 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง 77% ของมูลค่าการลงทุนจะเป็นการลงทุนในโครงการรถยนต์ไฟฟ้า และคาดว่าจะมีโรงงานในสหรัฐอเมริกาเปิดใหม่ 15 แห่ง

John Kacsur รองประธานฝ่ายยานยนต์และล้อรถจากบริษัท Rockwell Automation เล่าว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีการแข่งขันเพื่อแย่งส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างดุเดือด 

Laurie Harbour ประธานบริษัท Harbour Results ที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรม รายงานว่า ในช่วงปี 2021 - 2023 มีการลงนามระหว่างค่ายรถและซัพพลายเออร์แล้ว 37 ฉบับ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่รวมการลงนามสำหรับยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป

Mathias Christen โฆษกของ Dürr AG ผู้เชี่ยวชาญด้านการพ่นและเคลือบสี เปิดเผยว่าปัจจุบันมีโครงการจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหม่อีกมาก ส่งผลให้บริษัทมีการเติบโตของธุรกิจในปีที่ผ่านมาถึง 65%

Kuka AG รายงานว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 บริษัทมียอดสั่งซื้อหุ่นยนต์มากถึง 2.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2020 ถึง 52% ซึ่งเป็นช่วง 6 เดือนที่มียอดสั่งซื้อสูงสุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท โดยมียอดสั่งซื้อหลักมาจากอเมริกาเหนือ และเอเชีย

Mike LaRose CEO บริษัท KUKA Systems North America เปิดเผยว่า บริษัทได้รับยอดสั่งซื้อมากจนไม่อาจรับงานเพิ่มได้ตั้งแต่ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา

โดยทั่วไป ผู้ผลิตยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และแบตเตอรี่จะสั่งซื้อเครื่องจักรกลสำหรับการผลิตล่วงหน้าเป็นเวลา 18 เดือน ซึ่ง Neil Dueweke รองประธานฝ่ายยานยนต์จาก FANUC America กล่าวว่า รถยนต์ไฟฟ้าก็เหมือน “Amazon Effect” ซึ่งหมายถึงมีการเติบโตที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมในหลายมิติ ทำให้ทางบริษัทต้องสร้างคลังเก็บหุ่นยนต์มากกว่า 5,000 ตัวในปีที่แล้ว และแสดงความเห็นว่า
 

“ไม่ช้าก็เร็ว ผู้ผลิตจะต้องการเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในที่สุด”

 

ผลกระทบจากโควิดต่อแนวโน้มความต้องการเครื่องจักร

R.J. Scaringe CEO บริษัท Rivian สตาร์ทอัพด้านรถยนต์ไฟฟ้า เปิดเผยว่าบริษัทได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดเป็นอย่างมาก ทั้งการก่อสร้าง การติดตั้งเครื่องจักร และการซัพพลายชิ้นส่วนยานยนต์

ในทางกลับกัน เจเนรัล มอเตอร์ส (General Motors) เผิดเผยว่าบริษัทไม่ประสบปัญหาการจัดส่งอุปกรณ์โรงงานล่าช้าแต่อย่างใด

อีกสิ่งที่น่ากังวล คือการขาดแคลนแรงงานจากการระบาดของโควิด ซึ่งแม้ว่าการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าจะทำให้เกิดความต้องการเครื่องจักร แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ผลิตเครื่องจักรจะสามารถตอบรับความต้องการได้ในทันที โดยเฉพาะในยุคที่กำลังเกิดปัญหาทั้งวิกฤตชิปขาดตลาด, ปัญหาซัพพลายเชน, และปัญหาวัตถุดิบราคาแพงเช่นนี้

 

ความต้องการเครื่องจักรสำหรับผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะเป็นอย่างไร?

จุดที่แตกต่างจากสหรัฐอเมริกา คือ ความคึกคักของตลาด เนื่องจากประเทศไทยมีสตาร์ทอัพด้านรถยนต์อยู่ไม่มาก เช่น MINE Mobility Research และแพลตฟอร์มการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ ปตท. จับมือ ฟ็อกซ์คอนน์

อย่างไรก็ตาม ในไทยเองมีโรงงานผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์อีกมาก อีกทั้งยังมีแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ความต้องการเครื่องจักรกล อุปกรณ์โรงงาน และระบบอัตโนมัติในไทยก็อาจเพิ่มขึ้นได้เช่นเดียวกัน


#Manufacturing #Electric Vehicles #รถอีวี #Investment #ลงทุนหุ่นยนต์ #ลงทุนเครื่องจักร #โรงงาน รถยนต์ไฟฟ้า #ลงทุน รถยนต์ไฟฟ้า #ชิ้นส่วนยานยนต์ #Automotive #อุตสาหกรรมยานยนต์ #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม #Mreport #M Report #mreportth