ผลกระทบ จีน ล็อคดาวน์

จีนล็อกดาวน์รอบใหม่ โรงงานในเซินเจิ้นหยุดผลิต กระทบสินค้าไฮเทค

อัปเดตล่าสุด 18 มี.ค. 2565
  • Share :

มาตรการล็อกดาวน์ระลอกใหม่ในจีน โดยเฉพาะเมืองเซินเจิ้น ทำให้การผลิตสินค้าไฮเทคหลายชนิดได้รับผลกระทบ เช่น สมาร์ทโฟน ยานยนต์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านไอทีอื่น ๆ  

Advertisement

การระบาดของโควิดยังคงไม่สิ้นสุด ซึ่งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2022 จีนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ทำให้มีการประกาศล็อกดาวน์หลายพื้นที่ รวมถึงเมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีที่ถูกเรียกขานว่าซิลิคอนวัลเลย์ของจีน อีกทั้งยังเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่ง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้ติดเชื้อโควิดของจีนในครั้งนี้เกิดจากการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน และมียอดสูงจนนำมาซึ่งการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากนักหากเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่เนื่องจากจีนมีนโยบายการป้องกันโรคที่เข้มงวด เบื้องต้นรัฐบาลจีนได้ประกาศล็อกดาวน์เป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การล็อกดาวน์ในครั้งนี้ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก โดยนาย Jen Psaki โฆษกทำเนียบขาวสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับการล็อกดาวน์ในเมืองเซินเจิ้นครั้งนี้กระทบโรงงานจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงบริษัทชั้นนำของโลกอย่าง Foxconn และ Unimicron Technology ในขณะที่การล็อกดาวน์เมืองฉางชุนก็กระทบกับโตโยต้าเช่นกัน

ทางด้าน Foxconn ซัพพลายเออร์รายใหญ่ของแอปเปิล เปิดเผยว่าทางบริษัทจะปิดโรงงานจนกว่าจะมีประกาศอื่นเพิ่มเติม และจะใช้แผนสำรองในการแก้ไขปัญหาวิกฤตชิปขาดตลาดแทน ซึ่งสำหรับ Foxconn แล้ว เมืองเซินเจิ้นเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของบริษัท อีกทั้งเป็นแหล่งผลิตสินค้ารุ่นต้นแบบ ไปจนถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกด้วย ซึ่ง General Interface Solution (GIS) บริษัทในเครือฟ็อกซ์คอนน์ ผู้ผลิตจอภาพให้กับแอปเปิลและซัมซุงก็จำเป็นต้องปิดโรงงานเช่นเดียวกัน

ทางด้าน Unimicron ซัพพลายเออร์รายใหญ่อีกรายของแอปเปิลและอินเทล แม้จะไม่ได้แสดงความเห็นให้กับรอยเตอร์ แต่ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Nikkei ว่า การล็อกดาวน์ในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิต ajinomoto build-film (ABF) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของ CPU คุณภาพสูงที่กำลังขาดตลาด เนื่องจากโรงงานในเซินเจิ้นไม่ได้รับผิดชอบการผลิตสินค้าชนิดนี้ 

นาย Paul Weedman ผู้อำนวยการ Victure Industrial บริษัทที่ปรึกษาอุตสาหกรรมการผลิตจากเมืองเซินเจิ้น แสดงความเห็นว่า การล็อกดาวน์ครั้งนี้ไม่ได้มีผลแค่ต่อเมืองเซินเจิ้นและเมืองข้างเคียงเท่านั้น เนื่องจากเป็นการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และไม่สามารถให้พนักงานเข้าทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ผลกระทบนี้อาจไม่สิ้นสุดใน 2-3 สัปดาห์ แต่อาจกลายเป็นยาวนานมากถึง 3 - 6 เดือน

ในส่วนของค่ายรถนั้น โตโยต้าจำเป็นต้องปิดโรงงานในเมืองฉางชุน ส่วนทางด้าน Volkswagen เองก็จำเป็นต้องปิดโรงงานเป็นเวลาครึ่งสัปดาห์ 

 

#จีนล็อกดาวน์  #เซินเจิ้นล็อกดาวน์ #ปิดโรงงาน #โอมิครอน #โควิด #จีน #Foxconn #Totoya #Supply Chain #ซัพพลายเชน #โลจิสติกส์ #ผลกระทบ โควิด #อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ #อุตสาหกรรมยานยนต์ #อุตสาหกรรมการผลิต #M Report #mreportth #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH