ตลาดหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สดใส เมื่อ รง. กลับมาเปิดสายการผลิต
สมาคมหุ่นยนต์ญี่ปุ่น (Japan Robot Association: JARA) เปิดเผยตัวเลขสั่งซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในไตรมาสแรกของปี 2020 มีมูลค่ารวม 171,800 ล้านเยน หรือประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 10.1% หลังจากที่ลดลงต่อเนื่องนับแต่ภาวะสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ โดยมีปัจจัยหลักจากยอดสั่งซื้อหุ่นยนต์จากตลาดจีน ซึ่งอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ และมียอดสั่งซื้อสูงถึง 50,600 ล้านเยน เพิ่มขึ้นถึง 40.6% นับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังลดลงต่อเนื่อง 7 ไตรมาส จึงถูกคาดการณ์ว่า เมื่อโรงงานเริ่มกลับมาเปิดสายการผลิตอีกครั้งหลังสถานการณ์ของโรคโควิดในแต่ละประเทศเริ่มคลี่คลายลง ความต้องการหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และระบบอัตโนมัติก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอีก จากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ร่วมด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ถูกพัฒนาและนำเสนอสู่ตลาดแล้ว เทคโนโลยีที่มีอยู่แต่เดิมก็มีส่วนช่วยในการกระตุ้นความต้องการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานเพิ่มยิ่งขึ้น จนอาจต้องปรับแก้ตัวเลขคาดการณ์อีกครั้งหลังจากนี้
ยอดสั่งซื้อหุ่นยนต์จากจีนเป็นแรงขับสำคัญที่หนุนให้ยอดรวมเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ โดยจีนสั่งซื้อหุ่นยนต์ญี่ปุ่น 50,600 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 40.6% เป็นผลจากการลงทุนในอุตสาหกรรม 5G ทำให้หุ่นยนต์สำหรับงานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 10.6% ในขณะที่หุ่นยนต์สำหรับงานเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น 44.0% อย่างไรก็ตาม ยอดสั่งซื้อหุ่นยนต์สำหรับงานเชื่อม ลดลง 6.4%
สะดวกยิ่งขึ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์
หนึ่งในเทรนด์ของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในยุคหลัง คือการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาเป็นส่วนหนึ่งของหุ่นยนต์ เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม SME ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เทคโนโลยี AI ที่ช่วยให้หุ่นยนต์ทำงานได้ดีขึ้น จึงเป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นให้เกิดความต้องการหุ่นยนต์ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านคุณภาพในการผลิต ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเดิมสามารถหันไปทำงานที่ซับซ้อนกว่าแทน
โดยแนวทางที่กำลังได้รับความสนใจ คือการใช้ AI หยิบจับชิ้นส่วนที่วางอย่างไม่เป็นระเบียบมาประกอบชิ้นงานได้ด้วยตัวเองผ่านการติดกล้อง 3 มิติ และใช้ซอฟต์แวร์ AI ประมวลภาพที่ได้ ทดลองประกอบผ่านเทคโนโลยีแบบจำลอง (Simulation Technology) จากนั้นจึงลงมือประกอบชิ้นงานจริงอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้การประกอบชิ้นงานมีความแม่นยำมากขึ้น ในระหว่างที่ AI ทำงานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้การทำงานในสายการผลิตที่มีชิ้นงานหลายชนิด หรือมีการเปลี่ยนชิ้นงานอย่างต่อเนื่องทำได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องตั้งค่าใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง
Yaskawa และ AI Cube ได้ร่วมพัฒนาระบบอัตโนมัติตามแนวทางนี้ ซึ่งฝ่ายบริหารรายงานว่าระบบที่ได้สามารถติดตั้งได้ง่าย และลดต้นทุนลงได้เป็นอย่างมาก และจากการทดสอบ พบว่ามีความแม่นยำราว 90% และหยิบจับได้ทั้งวัตถุแข็ง หรือวัตถุที่อ่อนนุ่ม
ส่วน Mitsubishi Electric ได้เลือกใช้ AI ร่วมกับระบบเซนเซอร์ ช่วยให้หุ่นยนต์สามารถปรับเปลี่ยนการเคลื่อนไหวได้ตามความเหมาะสม ซึ่งออกแบบโดยคำนึงถึงการติดตั้งหุ่นยนต์ในพื้นที่จำกัดเป็นหลัก เพื่อให้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมแพร่หลายมากขึ้นในธุรกิจรายย่อย
ให้โคบอททำงานแทน
นอกจาก AI แล้ว หุ่นยนต์อีกประเภทที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นหลังโควิด-19 คือโคบอท (Cobots) หุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย โดยสำนักวิเคราะห์ Fuji Keizai Management คาดการณ์ว่า จะมีการเติบโตถึง 7 เท่าทั่วโลกในปี 2025 ซึ่งนอกจากจะทำงานร่วมกับมนุษย์ได้แล้ว โคบอทยังสามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรกล (Machine Tools) อื่น ๆ ได้ และด้วยองศาการเคลื่อนไหวของแขนหุ่นยนต์ที่มากกว่ามนุษย์นี้เอง ที่จะประสานการทำงานระหว่างโคบอทและเครื่องจักรกล ทำได้ง่ายและรวดเร็ว
เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Fanuc แสดงความเห็นว่า การนำโคบอทมาใช้ร่วมกับ Machine Tools โดยตรง จะช่วยให้ขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อนและต้องใช้ความเชี่ยวชาญ สามารถทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดระบบเซนเซอร์เพื่อให้โคบอททำงานได้เอง การฝึกให้โคบอทหยิบจับชิ้นงานเข้าออก และติดตั้งลงบนตัวจับยึด (Jig) ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนให้พนักงานไปนั่งควบคุมโคบอทสำหรับชิ้นงานที่มีความซับซ้อนสูงก็สามารถทำได้
ส่วน Kawasaki Heavy Industries เสนอแนวทางการควบคุมหุ่นยนต์ผ่านเทคโนโลยีควบคุมระยะไกล (Remote Controlling Technology) ว่าจะเป็นทางออกสำหรับการทำงานในขั้นตอนที่เป็นภาระต่อพนักงาน เช่น งานเชื่อมโลหะ งานขัด งานกลึง หรือกระทั่งงานพ่นสี งานเหล่านี้ล้วนมีมลภาวะสูงทั้งสะเก็ดไฟ อุณหภูมิ เสียง และอื่น ๆ ซึ่งหากใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนก็จะช่วยลดภาระแก่พนักงานได้เป็นอย่างดี โดยฝ่ายบริหารของบริษัท แสดงความเห็นว่า “นอกจากจะลดภาระแล้ว หุ่นยนต์ยังทนต่อแรงสั่นสะเทือนได้มากกว่า ทำให้ทำงานได้แม่นยำกว่าอีกด้วย”
อ่านต่อ
- โควิด ปั้น 2 เทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ ใช้ร่วมหุ่นยนต์โรงงาน
- Cognex ViDi ™ เทคโนโลยี Deep Learning ที่พร้อมใช้งาน สำหรับวิเคราะห์ภาพแบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน
- MZ10 หุ่นยนต์อุตสาหกรรมขนาดกะทัดรัด สำหรับงานหนัก 10 กก. จาก Nachi
- Universal Robot หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน ในตระกูลโคบอท