ญี่ปุ่นเร่งพัฒนารถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจน เติมเชื้อเพลิงเร็ว มลพิษต่ำ ตอบโจทย์อนาคตโลจิสติกส์

อัปเดตล่าสุด 27 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 1,056 Reads   

รถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจน หรือในอีกชื่อคือ รถบรรทุกเซลล์พลังงานเชื้อเพลิง (Fuel Cell Truck) เป็นเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดมลพิษต่ำเช่นเดียวกับรถบรรทุกไฟฟ้า แต่มีความโดดเด่นในการเติมเชื้อเพลิงที่รวดเร็วกว่าการชาร์จไฟ ทำให้ได้รับความสนใจอย่างมากจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และโลจิสติกส์  หลายค่ายรถบรรทุกฝั่งญี่ปุ่นเร่งพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อให้ทันต่อความต้องการในอนาคตของธุรกิจโลจิสติกส์ซึ่งเป็นลูกค้าหลัก สอดคล้องต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ให้เกิดขึ้นจริงได้

 

Mitsubishi Fuso รถต้นแบบ เติมเชื้อเพลิงไม่เกิน 10 นาที

โดยล่าสุด Mitsubishi Fuso ได้พัฒนารถบรรทุกเซลล์พลังงานเชื้อเพลิง รุ่นต้นแบบ ซึ่งใช้เวลาในการเติมเชื้อเพลิง 5 - 10 นาทีเท่านั้น ในขณะที่ eCanter รถบรรทุกไฟฟ้าจากค่ายเดียวกัน ใช้เวลาชาร์จไฟอย่างต่ำ 1 ชั่วโมงครึ่ง

ส่วนระยะทางการวิ่ง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนารถยรรทุกไฟฟ้านั้น Mr. Aydogan Cakmaz รองประธานบริษัท Mitsubishi Fuso เล่าว่า รถบรรทุกไฟฟ้า จะวิ่งได้เต็มที่ก็ 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้งเท่านั้น ยิ่งต้องการให้รถวิ่งได้ระยะทางไกล ก็ต้องใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ซึ่งมีน้ำหนักมาก ลดความสามารถในการขนส่ง ทำให้รถบรรทุกของได้น้อยลง ดังนั้น รถบรรทุกเซลล์พลังงานเชื้อเพลิงจึงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

 

Hino ตั้งเป้า รถบรรทุก FCV วิ่งไกล 600 กม.

Hino เป็นอีกรายที่เลือกพัฒนารถบรรทุกเซลล์พลังงานเชื้อเพลิง และตั้งเป้าระยะการวิ่งให้ได้ไกลถึง 600 กิโลเมตรต่อการเติมเชื้อเพลิงหนึ่งครั้ง ในขณะที่ Mitsubishi Fuso ตั้งเป้าไว้ที่ 300 กิโลเมตรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในอนาคต เมื่อเทคโนโยลีก้าวหน้ามากขึ้น รถบรรทุก FCV จะวึ่งได้ไกลถึง 1,000 กิโลเมตร

 

ในอนาคต มาตรการสิ่งแวดล้อมจะทวีความเข้มงวดยิ่งขึ้นไปอีก

Mr. Kei Hayase จาก บริษัท EY Advisory & Consulting ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเทศญี่ปุ่น กล่าวแสดงความเห็นว่า “ในอนาคตที่มาตรการสิ่งแวดล้อมมีความเข้มงวดยิ่งขึ้นไปอีก รถบรรทุกเซลล์พลังงานเชื้อเพลิง จะยิ่งมีความต้องการมากขึ้น และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะช่วยให้พลังงานไฮโดรเจนสามารถเข้ามาแทนที่น้ำมันดีเซลได้มากขึ้นอีกด้วย”

แม้ว่าเทคโนโลยีเซลล์พลังงานเชื้อเพลิงจะได้รับความสนใจจากผู้ผลิต แต่อีกอุปสรรคที่น่ากังวล คือโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากการพัฒนาและติดตั้งสถานีไฮโดรเจน มีต้นทุนสูงกว่าสถานีชาร์จไฟเป็นอย่างมาก ทำให้การสร้างสถานีไฮโดรเจนเพื่อรถบรรทุกเพียงอย่างเดียวนับเป็นเรื่องยากหากคำนึงถึงความคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยเฉพาะเมื่อรถยนต์ไฟฟ้าสามารถชาร์จไฟจากบ้านได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การพัฒนายานยนต์พลังงานสะอาดเป็นเทรนด์ที่จะแพร่หลายยิ่งขึ้นตามความเข้มข้นของมาตรการสิ่งแวดล้อม  และหากสามารถเปลี่ยนรถบรรทุกที่เป็นตัวแปรสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากยานพาหนะลงได้ ก็จะช่วยลดมลพิษในอากาศได้อย่างมาก ทำให้ผู้ผลิตรถบรรทุกต่างพัฒนาเทคโนโลยีออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมี Tesla เป็นผู้สร้างกระแสเปิดตัวรถบรรทุกไฟฟ้ารุ่นต้นแบบเมื่อปลายปี 2017 เขย่าให้วงการรถบรรทุกตื่นตัว ค่ายรถญี่ปุ่นค่อนข้างเอียงมาที่รถบรรทุกเซลล์พลังงานเชื้อเพลิง หลายค่ายหาคู่เพื่อจับมือร่วมพัฒนาเทคโนโลยีตามแนวคิด CASE สำหรับการขนส่งโลจิสติกส์  รวมถึง การพัฒนาไบโอดีเซลจากสาหร่ายของ Isuzu