โตโยต้า ยอดขาย กำไร 2021

ทุบทุกสถิติ TOYOTA ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์

อัปเดตล่าสุด 18 พ.ค. 2565
  • Share :
  • 4,019 Reads   

โตโยต้า (Toyota) ประกาศความสำเร็จของปีงบประมาณที่เพิ่งสิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2022 โดยสามารถทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ท่ามกลางปัญหาหลายอย่าง เช่น การปิดโรงงาน นอกจากยอดขายและปริมาณการผลิตรถที่แข็งแกร่งแล้ว ความพยายามในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และลดต้นทุนมายาวนานเป็นส่วนสนับสนุนความสำเร็จในครั้งนี้ 

Advertisement

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2022 สำนักข่าว Nikkan Kogyo Shimbun รายงานผลการดำเนินงานของโตโยต้าในปีงบประมาณที่เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รายละเอียดดังนี้

ในปีงบประมาณที่เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อเดือนมีนาคม 2022 โตโยต้ามีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 2,995,697 ล้านเยน หรือราว 23,268 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยหลักจากยอดขายที่พุ่งทะยานทุกภูมิภาคยกเว้นญี่ปุ่นในช่วงการฟื้นตัวจากโควิด รายละเอียดดังนี้

  • อเมริกาเหนือ กำไรปิดที่ 565,784 แสนล้านเยน หรือราว 4,394 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 46.8%จากปีงบประมาณ 2021
  • ยุโรป กำไรปิดที่ 162,973 แสนล้านเยน หรือราว 1,265 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 50.1%
  • เอเชีย กำไรปิดที่ 672,350 ล้านเยน หรือราว 5,222 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 50.6% 
  • อื่น ๆ กำไรปิดที่ 238,169 ล้านเยน หรือราว 1,849 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นมากถึง 3.5 เท่า

โตโยต้า ยอดขาย กำไร 2021

โดยภาพรวมแล้วพบว่า กำไรจากยอดขายนอกประเทศญี่ปุ่นปิดที่ 1,572,242 ล้านเยน หรือราว 12,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.9%

ทางบริษัทเปิดเผยว่า จากการอ่อนค่าของเงินเยนทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น 6.1 แสนล้านเยน หรือราว 4,738 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสูญเสียกำไรจากวิฤตวัตถุดิบราคาแพงถึง 5.4 แสนล้านเยน หรือราว 4,971 ล้านดอลลาร์  อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงต้นทุนช่วยให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นอีก 2.8 แสนล้านเยน หรือราว 2,174 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วสามารถชดเชยกับกำไรที่สูญเสียไปได้

นาย Kenta Kon รองประธานโตโยต้า กล่าวในงานแถลงข่าวออนไลน์ว่า กำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการพัฒนาเป็นเวลาหลายปี การดำเนินการด้านการจัดซื้อ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละภูมิภาค และการเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ โดยยกตัวอย่างจำนวนยานยนต์ที่ต้องขายได้เพื่อให้คุ้มทุนในปีงบประมาณ 2022 ลดลงจากปีงบประมาณ 2009 ราว 30 - 40% อีกทั้งมีส่วนแบ่งมากขึ้นในตลาดหลักรวม 11 ประเทศอีกด้วย

โตโยต้า ยอดขาย กำไร 2021

สำหรับปีงบประมาณ 2023 ทางบริษัทคาดการณ์ว่า ราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบมากกว่าปีก่อนหน้าเป็นเท่าตัว โดยนาย Masahiro Yamamoto ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบัญชีโตโยต้า แสดงความเห็นว่า แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่บริษัทก็จะพยายามปรับปรุงต้นทุนอย่างต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมายลดต้นทุนให้ได้ที่ 3 แสนล้านเยนต่อปี และพิจารณาลดการใช้วัตถุดิบลง

ในด้านผลกระทบจากราคาวัตถุดิบต่อซัพพลายเออร์นั้น นาย Kenta Kon รองประธานโตโยต้า กล่าวว่าบริษัทจำเป็นต้องร่วมแก้ปัญหากับซัพพลายเออร์ ซึ่งเป็นกฎที่โตโยต้าตั้งเอาไว้

นอกจากนี้ แม้ในปีงบประมาณ 2023 จะยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนอีกมาก แต่โตโยต้าคาดการณ์ว่า แบรนด์โตโยต้า และแบรนด์ Lexus จะสามารถทำยอดผลิตได้รวม 9.7 ล้านคันในปีงบประมาณนี้ และทำลายสถิติยอดผลิตสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์นี้ขึ้นมา โดยนาย Masahiro Yamamoto ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบัญชีโตโยต้า อธิบายว่า เป็นการคาดการณ์ที่พิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ในปัจจุบันอย่างการระบาดของโควิด และวิกฤตชิปขาดตลาดเอาไว้แล้ว

ตั้งเป้ายอดขายรวม 9.9 ล้านคัน 

ในด้านยอดขาย โตโยต้าคาดการณ์ว่าในปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2023 จะสามารถทำยอดขายยานยนต์ภายใต้แบรนด์โตโยต้า และแบรนด์ Lexus รวม 9.9 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 4.1% จากปีงบประมาณก่อนหน้า และคาดว่าจะเป็นยอดขายสูงสุดตั้งแต่เปิดตัวแบรนด์เช่นเดียวกัน โดยตัวเลขดังกล่าวนี้ได้พิจารณาปัจจัยจากการขาดแคลนวัตถุดิบ และสงครามรัสเซีย-ยูเครนไว้แล้ว

นาย Jun Nagata เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร แสดงความเห็นว่า การคาดการณ์สภาพตลาดในปัจจุบันเป็นเรื่องยาก แม้จะมีปัจจัยบวกที่ทั่วโลกกำลังฟื้นตัวจากโควิด ส่วนปัจจัยลบ คือ ราคาวัตถุดิบ ปัญหาเงินเฟ้อ และวิกฤตชิปขาดตลาด

โดยคาดการณ์ว่า จีนและอเมริกาเหนือจะเป็นภูมิภาคที่จะสามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นได้หากเทียบกับปีงบประมาณที่แล้ว ส่วนญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียคาดว่าจะไม่แตกต่างกับปีที่แล้วมากนัก ฝั่งยุโรปนั้น นาย Jun Nagata กล่าวว่าเป็นภูมิภาคที่คาดการณ์ได้ยากที่สุด เนื่องจากมีผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งสงครามรัสเซีย - ยูเครน, วิกฤตพลังงาน, ราคาวัตถุดิบ, และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอื่น ๆ และมีความเป็นไปได้มากว่ายอดขายจะหดตัวลง ซึ่งในสถานการณที่มีความเสี่ยงเช่นนี้เอง นาย Jun Nagata กล่าวว่า บริษัทจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานการทำงานให้สอดคล้องตามไปด้วย

โตโยต้าคาด รถอีวีโตอย่างรวดเร็ว

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่จะออกสู่ตลาดในปีนี้จะถูกยกระดับไปอีกขั้น ทั้งการเปิดตัว bZ4X โมเดลอีวีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา และ Lexus RZ โมเดลรถยนต์ไฟฟ้าที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูหนาวของญี่ปุ่น

โดยคาดว่าโมเดลไฟฟ้าทุกประเภทจะมียอดขายรวม 3.07 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 13.6% และรถอีวีแบตเตอรี่ที่ 95,000 คัน เพิ่มขึ้น 6 เท่า ซึ่งนาย Masahiko Maeda รองประธานบริษัทโตโยต้า กล่าวแสดงความเห็นอย่างมั่นใจว่า ยอดขายรถอีวีจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศตะวันตก ซึ่งในอนาคตมาตรการเหล่านี้จะเข้มข้นกว่าที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญคือแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตจากแร่โลหะหายากจำนวนมาก ทำให้ส่งผลต่อราคาขายเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งความต้องการรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ขึ้นกับนโยบาบของรัฐบาลในประเทศนั้น ๆ อีกด้วย

ยกระดับความร่วมมือ ร่วมแบ่งเบาปัญหาราคาวัตถุดิบ

โตโยต้า ยอดขาย กำไร 2021

เร่งยกระดับความร่วมมือกับซัพพลายเออร์ให้ทำงานใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

นับตั้งแต่ปี 2012 โตโยต้าได้นำสถาปัตยกรรม TNGA มาใช้งาน มุ่งมั่นพัฒนาในด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มผลกำไรให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์ม ตัวถัง และชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้สามารถใช้ร่วมกันได้มากขึ้น ปรับปรุงกระบวนการผลิต และอื่น ๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับบริษัทเครือเดียวกันอย่าง Daihatsu และ Hino แล้วพบว่า โดยภาพรวมโตโยต้าสามารถเพิ่มกำไรยานยนต์จากคันละ 136,000 เยน หรือราว 1,060 ดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2012 เป็นคันละ 220,000 เยน หรือราว 1,731 ดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2021 อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ขายดี และผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละภูมิภาคอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกำลังกลายเป็นภาระอย่างยิ่ง และผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าโตโยต้า คือซัพพลายเออร์ขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะซัพพลายเออร์ใน Tier 2 ลงไป ซึ่งต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนโลหะหล่อรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นสูงจนบริษัทอาจจะขาดทุนได้

ด้วยเหตุนี้เอง โตโยต้าจึงจำเป็นร่วมแบ่งเบาภาระนี้กับซัพพลายเออร์ด้วย ซึ่งปัจจุบันทางบริษัทได้เริ่มเข้าหาซัพพลายเออร์ Tier 2 และ Tier 3 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน ร่วมหาแนวทางการลดของเสียจากการผลิต ไปจนถึงการหยุดลดราคาชิ้นส่วนอีกด้วย

โดยทั่วไปแล้ว ยานยนต์คันหนึ่งมีชิ้นส่วนราว 30,000 ชิ้น ทำให้การร่วมมือกับซัพพลายเออร์เป็นสิ่งที่ค่ายรถไม่อาจละเลยได้ ซึ่งการร่วมงานกับซัพพลายเออร์อย่างใกล้ชิดจะเป็นกุญแจสำคัญไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 

 

#Toyota ประกาศความสำเร็จของปีงบประมาณที่เพิ่งสิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2022 มีกำไรจากการดำเนินงาน 23,268 ล้านเหรียญ #สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ผลจาก #ยอดขายรถ ที่พุ่งทะยานทุกภูมิภาค ยกเว้น #ญี่ปุ่น ในช่วงการ #ฟื้นตัวจากโควิด #โตโยต้า #COVID19 #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH