ปัจจัยเฝ้าระวังยุคหลังโควิด

“ภัยเงียบ” ที่มาพร้อมกับ “เศรษฐกิจฟื้นตัว”

อัปเดตล่าสุด 23 พ.ย. 2564
  • Share :
  • 850 Reads   

เมื่อความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นซึ่งสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่นานาวิกฤตก็ยังรุนแรงต่อเนื่องไปพร้อมกันดังภัยเงียบที่ผู้ผลิตต้องระวัง

Advertisement

ทุกวันนี้ การระบาดของโควิดยังเกิดระลอกใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่โลกที่ปรับตัวได้ก็เริ่มเข้าสู่การฟื้นตัวอย่างไม่หยุดยั้ง ความต้องการสินค้าต่าง ๆ พุ่งสูงแม้จะมีวิกฤตต่าง ๆ มากมาย ทำให้หลายบริษัทที่สามารถคว้าโอกาสเหล่านี้ได้ประสบความสำเร็จใจการสร้างรายได้ที่มากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ในโลกยุคหลังโควิดนี้ หลายวิกฤตอาจไม่ใช่แค่เรื่องระยะสั้น ผู้ผลิตจึงควรเฝ้าระวังปัจจัยเหล่านี้ให้ดี เพื่อที่จะประกอบธุรกิจในยุคฟื้นฟูทางเศรษฐกิจนี้ต่อไปได้

แม้มีวิกฤต แต่รายได้ก็เพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2021 สำนักวิเคราะห์ SMBC NIKKO SECURITIES เปิดเผยผลสำรวจบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (TSE) จำนวน 1,452 บริษัทซึ่งคิดเป็นอัตราส่วน 99.7% ของกระดานแรก พบว่ามีรายได้ในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2021 (เมษายน - กันยายน) รวมแล้วเพิ่มขึ้น 2 เท่า และมีกำไรเพิ่มขึ้น 2.4 เท่าเมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2020 

โดยสาเหตุที่รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นเช่นนี้ สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตแล้วเป็นผลจากอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นหลัก ส่วนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ มาจากการขนส่งทางเรือและการค้าปลีก

แต่ทว่า ปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อีกมาก ทั้งราคาวัตถุดิบ ปัญหาโลจิสติกส์ และชิปขาดตลาด ทำให้บริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตจำนวน 107 บริษัทจากทั้งหมด 692 บริษัทได้มการปรับตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการในปีงบประมาณนี้ให้ลดลงจากเดิม

ขณะที่อีก 230 บริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการสูงขึ้น โดยให้เหตุผลว่า หากแก้ปัญหาซัพพลายเชนได้แล้ว ความต้องการที่พุ่งสูงในหลายภาคส่วนจะช่วยให้ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

เมื่อ “ความต้องการสินค้า” มาพร้อมกับ “นานาวิกฤต” 

ราคาวัตถุดิบ และชิปขาดตลาด คือความเสี่ยงของอุตสาหกรรมการผลิตในขณะนี้ (ภาพจากโรงงานโตโยต้า)

ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิต ความต้องการที่พุ่งสูงในตลาดเป็นสัญญาณอันดีต่อหลายบริษัทมาก แต่ในทางกลับกัน ปัญหาราคาวัตถุดิบที่มีแต่จะรุนแรงขึ้นก็กลายเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะวัตถุดิบในกลุ่มเหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม 

Kenta Kon เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโตโยต้า แสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาวัตถุดิบเป็นอย่างมาก เนื่องจากยานยนต์แต่ละคันผลิตจากวัสดุหลายชนิด และคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณ 2021 วิกฤตเหล่านี้จะรุนแรงยิ่งขึ้น

Kohei Takeuchi เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัทฮอนด้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันราคาโลหะมีค่าเริ่มคงที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เหล็กและอลูมิเนียมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนชิ้นส่วนพลาสติกก็มีราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามราคาน้ำมันเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทกำลังพิจารณาหาวัสดุทดแทนพลาสติก ไปจนถึงการเปลี่ยนสีทารถเพื่อลดต้นทุนอยู่

ทางด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เองก็ตกอยู่ในสภาวะยากลำบากแม้จะมีความต้องการสินค้าสูงก็ตาม 

Yoshihiko Kawamura เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัทฮิตาชิ รายงานว่าราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงส่งผลต่อต้นทุนการผลิตต่างไปตามชนิดสินค้า โดยผลิตภัณฑ์ที่มีเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบก็จะมีต้นทุนสูงขึ้นเป็นอย่างมาก และคาดการณ์ว่าหลังจากนี้ต้นทุนการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากความต้องการทองแดงที่พุ่งสูงกระทันหันจากค่ายรถที่ต้องเร่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมา

Hirokazu Umeda ผู้อำนวยการ บริษัทพานาโซนิค คาดการณ์ว่าราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงจะส่งผลกระทบต่อรายได้บริษัทมากกว่า 1 แสนล้านเยน หรือราว 877 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Katsuaki Nomura ประธานบริษัทชาร์ป คาดการณ์ตรงกันว่าในช่วงปลายปี 2021 ถึงต้นปี 2022 และแน่นอนว่าเมื่อต้นทุนสูงขึ้นถึงจุดหนึ่ง ผู้ผลิตจะต้องตัดสินใจว่าแบกต้นทุนไว้เอง หรือขึ้นราคาสินค้า

Koji Kakigi ประธานบริษัท JFE Holdings แสดงความเห็นว่าราคาโลหะหลายชนิดที่สูงขึ้น เป็นประเด็นในหมู่ผู้ผลิตโลหะเป็นอย่างมาก และเป็นปัญหาใหญ่อย่างยิ่ง เนื่องจากการขึ้นราคาไม่อาจทำได้โดยง่าย แต่การขึ้นราคาก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้เห็นสภาวะที่แท้จริงของราคาวัตถุดิบ

แม้แต่วัตถุดิบนอกกลุ่มโลหะก็มีราคาสูงขึ้นเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นกระดาษ ซึ่ง Nippon Paper Industries, Daio Paper, และ Mitsubishi Paper Mills รายงานตรงกันว่าบริษัทจำเป็นต้องขึ้นราคากระดาษ 15% ตั้งแต่เดือนมกราคม 2022 ซึ่งเป็นการขึ้นราคาครั้งแรกในรอบ 3 ปี เนื่องจากไม่อาจแบกรับต้นทุนไว้ฝ่ายเดียวอีกต่อไป

Osamu Fujikawa กรรมการผู้จัดการ บริษัท NEC เปิดเผยว่า ทางบริษัทเริ่มทยอยขึ้นราคาสินค้าบางส่วนในกลุ่มเน็ตเวิร์คแล้ว

SHIZUKI ELECTRIC เป็นอีกบริษัทที่ขึ้นราคาสินค้า โดยทยอยปรับขึ้นราคาทีละส่วนไม่ให้เกิดขึ้นในคราวเดียว และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ในปีงบประมาณ 2022 เพียงเล็กน้อย

ในท้ายสุดแล้ว ผู้ผลิตย่อมไม่อาจแบกรับต้นทุนได้ทั้งหมด แต่หากราคาสินค้าเพิ่มขึ้นสูงเกินไป ผู้บริโภคก็ย่อมไม่อาจซื้อสินค้าได้ และในกรณีที่เลวร้าย อาจนำไปสู่สภาวะ “Stagflation” หรือภาวะเงินเฟ้อสูง แต่เศรษฐกิจถดถอยได้ในที่สุด

ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น แต่หากผลิตไม่ได้ก็เสียโอกาส

Akira Marumoto ประธานบริษัทมาสด้า แสดงความเห็นว่า วิกฤตชิปขาดตลาดรุนแรงกว่าที่คิดมาก โดยเดิมทีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 บริษัทคาดการณ์ว่าจะกระทบยอดผลิต 1 แสนคัน และยอดขาย 7 หมื่นคัน แต่ปัจจุบันขาดแคลนชิปรุนแรงจนอาจกระทบยอดขายถึง 170,000 คัน 

Yoshihiko Kawamura เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัทฮิตาชิ เสริมว่า ในไตรมาสที่ 4 ปี 2021 วิกฤตชิปขาดตลาดรุนแรงกว่าไตรมาสที่ผ่าน ๆ มาเป็นอย่างมาก

Kenji Yamaguchi ประธานบริษัท Fanuc แสดงความเห็นว่า การจัดหาชิ้นส่วนในขณะนี้ไม่ได้ประสบปัญหาแค่ชิปเซมิคอนดักเตอร์เท่านั้น แต่ชิ้นส่วนจากเหล็กและพลาสติกเองก็เริ่มจัดหาได้ยากขึ้น และเป็นไปได้มากว่าหลายบริษัทจะเสียโอกาสเพราะไม่อาจผลิตได้ทันความต้องการที่ไม่มีท่าทีจะชะลอตัวลงในเร็ววัน

Hiroshi Ogasawara ประธานบริษัท Yaskawa แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันการเพิ่มกำลังการผลิตก็ยากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากต่อให้มีสายการผลิตใหม่ แต่หากไม่มีวัตถุดิบและชิ้นส่วนก็ไม่สามารถผลิตสินค้าออกมาตามออเดอร์ได้

Katsuyuki Sakamoto ผู้อำนวยการ บริษัท Sinfonia Technology แสดงความเห็นตรงกัน โดยเปิดเผยว่าวิกฤตซัพพลายเชนทำให้บริษัทเสียโอกาสเป็นอย่างมาก เนื่องจากมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่อาจผลิตได้ทันความต้องการ ทำให้อาจนำไปสู่การยกเลิกการสั่งซื้อได้ในอนาคต

แม้กระทั่งสินค้าสำหรับผู้บริโภคทั่วไปยังได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่างเช่น Nintendo ต้องลดกำลังการผลิตเครื่องเกมลงถึง 1 ล้านเครื่องเนื่องจากมีชิปไม่เพียงพอ

ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทที่มีสถานการณ์ต่างไปก็มีอยู่ เช่น Fujitsu ซึ่งแสดงความเห็นว่าแม้ในปัจจุบันกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านเครือข่ายเน็ตเวิร์คจะได้รับผลกระทบมาก แต่ก็มีความต้องการสินค้าชนิดอื่นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และจะทำให้ผลกระทบต่อรายได้รุนแรงน้อยลงหลังจากนี้

NEC เป็นอีกบริษัทที่มีความเห็นในแนวทางใกล้เคียงกัน โดยแสดงความเห็นว่าในช่วงเวลาเช่นนี้เอง ที่ผลิตภัณฑ์หลายชนิดสามารถดึงดูดลูกค้าได้ ด้วยการเสนอว่าสามารถนำมาใช้แทนที่ชิ้นส่วนที่กำลังขาดตลาดในขณะนี้

นอกจากนี้ผลสำรวจยังเปิดเผยว่า หลายบริษัทญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าวิกฤตเหล่านี้จะไม่สิ้นสุดลงง่าย ๆ เช่น แม้วิกฤตชิปขาดตลาดอาจจะสิ้นสุดในช่วงกลางปีหน้า แต่ความต้องการในตลาดที่พุ่งสูง และสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ก็เป็นเรื่องที่น่าจะกระทบแวดวงอุตสาหกรรมไปอีกยาวนานหลายปี การเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์การจัดหาชิ้นส่วนที่ยากลำบากขึ้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องชั่วคราว แต่ต้องคิดเผื่อไปถึงอนาคตถัด ๆ ไปหลังจากนี้

 

#อุตสาหกรรมการผลิต #ผลิตชิ้นส่วน #อุตสาหกรรมยานยนต์ #อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ #โควิด ผลกระทบ #สินค้าแพง #ขึ้นราคา #วัตถุดิบ แพง #วิกฤตชิปขาดตลาด #วิกฤตซัพพัลายเชน #ต้นทุนการผลิต #M Report #mreportth #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH