สวนความเชื่อ ยอดขายรถอีวี ‘พุ่ง’ ไม่รอ ราคารถถูกลง
ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกยังคงเติบโตมั่นคงในไตรมาสแรกนี้ สวนทางความเชื่อที่ว่า “รถอีวีจะได้รับความนิยมเมื่อราคารถถูกลง” ท่ามกลางวิกฤตซัพพลายเชนและสงครามรัสเซียยูเครน ทำให้ราคาแบตเตอรี่ลิเธียมไออนซึ่งเป็นต้นทุนหลักของรถอีวีเพิ่มขึ้น
Advertisement | |
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2022 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ราคาแบตเตอรี่ลิเธียมกำลังพุ่งสูงจากวิกฤตต่าง ๆ แต่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกก็ยังคงเติบโตอย่างมั่นคง โดยราคาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในไตรมาสแรกของปีนี้พุ่งขึ้นไปแตะราว 160 ดอลลาร์ต่อ 1 kWh เพิ่มขึ้น 55 ดอลลาร์เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากวิกฤตซัพพลายเชนและการแซงชั่นโลหะรัสเซีย
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กอย่าง Hongguang Mini ซึ่งเป็นรถอีวีที่ขายดีที่สุดในจีนแล้ว ต้องรับภาระต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นคันละ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐจากการปรับราคาแบตเตอรี่ หรือราว 30% ของราคาขาย และไม่ใช่อีวีเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลพุ่งสูงเช่นกัน
ในช่วงที่ผ่านมา หลายค่ายรถได้ปรับขึ้นราคารถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงผู้นำตลาดอย่างเทสล่าที่ประกาศปรับราคาขึ้นเช่นกัน
นาย Markus Schaefer หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีจาก Mercedes-Benz ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า หากราคาวัตถุดิบยังพุ่งสูงเช่นนี้ มีความเป็นไปได้ว่าที่บริษัทจะต้องขึ้นราคาเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้รถอีวีจะมีราคาแพงขึ้น แต่ยอดขายอีวีทั่วโลกในไตรมาสที่ 1 ยังคงพุ่งสู่ง โดย EV-volumes.com ประเมินว่ายอดขายรวมเพิ่มขึ้นถึง 120% ซึ่งในเดือนมีนาคม Nio, Xpeng, และ Li Auto ต่างทำยอดขายทำลายสถิติ ส่วนเทสล่าก็ทำยอดขายในไตรมาสแรกมากถึง 310,000 คัน
ตลาดรถอีวีกำลังถึงจุดเปลี่ยน
นาย Venkat Srinivasan ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การจัดเก็บพลังงาน หน่วยงานภายใต้ห้องปฏิบัติการแห่งสหรัฐอเมริกา แสดงความเห็นว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ ผู้บริโภคซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นโดยไม่คำนึงถึงราคารถอีวีและราคาแบตเตอรี่
โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ราคาแบตเตอรี่จะยังคงแพงไปจนถึงปีหน้า หรืออาจยาวนานกว่านี้ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าแบตเตอรี่จะถูกลง เนื่องจากหลายบริษัททั้งค่ายรถและซัพพลายเออร์ต่างเร่งลงทุนผลิตแบตเตอรี่ ไปจนถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้อง มีการจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม ซึ่งช่วยลลดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบให้เบาลง
นาย Prabhakar Patil อดีตผู้บริหาร LG Chem คาดการณ์ว่า ราคาแบตเตอรี่จะพุ่งสูงต่อเนื่องไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2023 ในขณะที่นาง Isobel Sheldon หัวหน้าฝายกลยุทธ์จาก Britishvolt แสดงความเห็นว่า 12 เดือนหลังจากนี้สถานการณ์จะดีขึ้น และผ่านพ้นช่วงที่หลายบริษัทแก่งแย่งวัตถุดิบกันไปได้
อย่างไรก็ดี ราคาแบตเตอรี่ที่พุ่งสูงนี้อาจเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวหากพิจารณาจากแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีในระยะยาว เนื่องจากตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้แบตเตอรี่ลิเธียมมีราคาถูกลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ 7,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 kWh ในปี 1991 เหลือเพียง 105 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 kWh ในปี 2021
ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมกำลังรอคอยวันที่ราคาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะลดลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 kWh ซึ่งราคานี้จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า รถอีวีมีราคาเทียบเท่ากับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันแล้ว อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าเรื่องนี้อาจจะไม่สำคัญมากนัก เนื่องจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงกำลังทำให้แนวคิดของผู้บริโภคเปลี่ยนไป
นอกจากนี้ ตลาดรถอีวีในจีนยังมีการเติบโตรวดเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ โดยนาย Stan Whittingham ผู้ร่วมคิดค้นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และเจ้าของรางวัลโนเบลปี 2019 แสดงความเห็นว่า “ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปริมาณซัพพลายของแบตเตอรี่”
นาย Chris Burns หัวหน้าฝ่ายบริหารบริษัท Novonix ผู้ซัพพลายวัตถุดิบสำหรับผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แสดงความเห็นว่า ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้กลุ่มผู้บริโภคอายุน้อยให้ความสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และหลายคนตัดสินใจเลือกรถอีวีเพราะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แม้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปจะยังมีราคาถูกกว่าก็ตาม จึงมีความเป็นไปได้ว่าแม้ในอนาคตราคาแบตเตอรี่อาจจะไม่ถูกลงตามเป้าที่ตั้งไว้ แต่ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าก็จะยังเพิ่มขึ้น
#รถยนต์ไฟฟ้า #อีวี #Electric Vehicles #EV #batteries #แบตลิเธียม #แบตเตอรี่ยานยนต์ #เทคโนโลยีแบตเตอรี่ #Solid-state Battery #แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า #อุตสาหกรรมยานยนต์ #M Report #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH