ปรับอัตราค่าจ้างอาชีพสายช่าง อุตสาหการ-ไฟฟ้า-เครื่องกล มีเฮ!
♦ ครม. เห็นชอบ กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 3 กลุ่มสาขาอาชีพ ได้แก่ 1.ช่างอุตสาหการ 2.ช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ 3.ช่างเครื่องกล
♦ มีผลบังคับใช้ 90 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติมติรับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 5 มกราคม 2564 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอใน 3 กลุ่มสาขาอาชีพ ส่วนสาขาอาชีพพนักงานขับรถบรรทุกให้ชะลอการออกประกาศฯ และเตรียมความพร้อมโดยจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพพนักงานขับรถบรรทุกให้ครอบคลุมรถบรรทุกทุกประเภท
ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานมีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือไปแล้ว รวม 83 สาขาอาชีพ เพื่อให้ลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบต่อร่างอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือฉบับใหม่ (ฉบับที่ 10) ใน 3 กลุ่มสาขาอาชีพ ซึ่งมีทั้งหมด 13 สาขาอาชีพ ดังนี้
1. กลุ่มสาขาอาชีพช่างอุตสาหการ
1. ช่างกลึง
2. ช่างควบคุมเครื่องกลึง CNC
3. ช่างควบคุมเครื่อง Wire Cut
4. ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ
2. กลุ่มสาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
1. ช่างไฟฟ้าภายนอกอาคาร
2. ช่างโทรคมนาคม (ไมโครเวฟและการสื่อสารดาวเทียม)
3. ช่างควบคุมด้วยระบบโปรแกรมเมเบิ้ลลอจิกคอนโทรลเลอร์ (Programmable Logic Controller: PLC)
4. ช่างไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมการจัดประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการแสดงสินค้า (MICE : Meetings Incentives Conventions Exhibitions)
5. ช่างติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์
3. กลุ่มสาขาอาชีพช่างเครื่องกล
1. พนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยกไฟฟ้า
2. พนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยกใช้เครื่องยนต์
3. ช่างตั้งศูนย์และถ่วงล้อรถยนต์
4. ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์
โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อวันที่ประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป