215-Nissan-ลดรุ่นยานยนต์-กระทบซัพพลายเออร์

ประเด็นร้อน แผนลดรุ่นยานยนต์ Nissan กระทบซัพพลายเออร์

อัปเดตล่าสุด 18 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 611 Reads   

แผนลดรุ่นยานยนต์ของนิสสันยังเป็นประเด็นร้อนในหมู่ซัพพลายเออร์ หลังจาก นิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) ได้เผยแผนยุทธศาสตร์ 4 ปี (FY 2020-2023) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2020 ที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนและเสริมประสิทธิภาพ ด้วยการลดจำนวนรุ่นยานยนต์ และลดกำลังผลิตทั่วโลกลงจากเดิม 20% ทำให้มีการแสดงทัศนะที่แตกต่างกันออกไป แต่แน่นอนว่า จะส่งผลกระทบต่อซัพพลายเออร์ที่จะต้องพิจารณาปรับแนวทางกันต่อไป

l ผลกระทบต่อซัพพลายเออร์ เมื่อรุ่นยานยนต์ของ Nissan ลดลง 

ซัพพลายเออร์รายใหญ่ของ Nissan แสดงความเห็นต่อแผนยุทธศาสตร์นี้ว่า ทำให้เข้าใจทิศทางในอนาคตมากขึ้น แต่ยังมีความแคลงใจว่า จะสามารถประสบความสำเร็จได้จริงหรือไม่ อีกทั้งการลดจำนวนรุ่นยานยนต์ลงหมายถึงจำนวนชิ้นส่วนที่น้อยลงไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการใช้ชิ้นส่วนร่วมกันในรถต่างโมเดล นอกจากนี้ หากยุติการผลิตยานยนต์รุ่นที่ขายไม่ดีก็จะนำมาซึ่งกำไรของผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีชิ้นส่วนคงค้างสต็อกน้อยลง อย่างไรก็ตาม นั่นหมายถึงยอดสั่งซื้อที่ซัพพลายเออร์ได้รับก็จะลดลงตามไปด้วย

ฝ่ายบริหารของซัพพลายเออร์รายนี้ได้เพิ่มเติมความเห็นว่า เมื่อจำนวนชิ้นส่วนน้อยลง อาจปรับแนวทางของบริษัทฯ ด้วยการดึงตัวเองไปอยู่ในจุดที่สามารถผลิตชิ้นส่วนหลายชนิดมากขึ้น เพื่อให้มีส่วนแบ่งชิ้นส่วนต่อคันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้รับออเดอร์เพียงพอจากโมเดลยอดนิยมเพียงอย่างเดียวเมื่อมีการลดรุ่นยานยนต์

นอกจากนี้ ซัพพลายเออร์อีกรายยังแสดงความเห็นว่า ต้องติดตามการลดจำนวนรุ่นยานยนต์ต่อไปว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากความเป็นไปได้ว่า หากมุ่งเน้นที่จะยุติการผลิตยานยนต์ในรุ่นที่ขายไม่ดี หรือเน้นยานยนต์ประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป อาจส่งผลให้ไลน์อัพสินค้าไม่มีความสมดุล พร้อมตั้งประเด็นกลับให้ Nissan มีความชัดเจนต่อแผนดังกล่าว เพื่อให้ซัพพลายเออร์สามารถเตรียมการผลิตชิ้นส่วนได้อย่างเหมาะสม

l ผลกระทบต่อพันธมิตร Renault และ Mitsubishi Motor

และแน่นอนว่า การปรับยุทธศาสตร์ครั้งนี้ จะมีผลกระทบต่อ Renault และ Mitsubishi Motor ด้วย ซึ่งกลุ่มซัพพลายเออร์รายงานว่า Renault จะรับผิดชอบการพัฒนายานยนต์ขนาดเล็ก ส่วน Nissan จะรับผิดชอบรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EV) และยานยนต์ขนาดกลางเป็นหลัก ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนเชื่อว่า ทั้งสองบริษัทจะสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น และเมื่อโมเดลรถที่น้อยลง ทำให้มีความเป็นไปได้ในการใช้ชิ้นส่วนร่วมกันระหว่าง Nissan และ Renault เพิ่มมากขึ้น และอาจนำมาซึ่งการได้รับออเดอร์จาก Renault หากซัพพลายเออร์ใดสนใจและติดต่อเข้าหา อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลถึงความแตกต่างระหว่างยานยนต์ค่ายญี่ปุ่นและค่ายยุโรป ทั้งเทคโนโลยีและวัสดุที่ใช้ ทำให้แม้จะเป็นชิ้นส่วนชนิดเดียวกันก็ไม่สามารถนำมาทดแทนกันได้โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนตกแต่งภายใน

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดที่ซัพพลายเออร์ต้องการในขณะนี้ คือ ความเชื่อมั่นในตัวบริษัท ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า Mr. Makoto Uchida CEO บริษัท Nissan จะสามารถบริหารบริษัทให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้หรือไม่

 

อ่านต่อ