อีซูซุ  ปรับแนวทางบริหารใหม่ มีผู้บริหารสูงสุดสองคน รับศึกยุคอีวี

Isuzu ปรับทัพตั้ง Top 2 รับศึกอีวี

อัปเดตล่าสุด 20 มี.ค. 2566
  • Share :
  • 2,177 Reads   

‘อีซูซุ’ ปรับแนวทางบริหารใหม่สู่ Top 2 หรือการมีผู้บริหารสูงสุดสองคนบริหารงานควบคู่กัน เพื่อรับมือกับการก้าวสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า เร่งสร้างพันธมิตร พัฒนาอีวีและเซลล์พลังงานเชื้อเพลิง ส่งเสริมบริการหลังการขาย

อีซุซุ (Isuzu) ปรับทัพทีมบริหารแบบ “Top 2” โดยมีนายมาซาโนริ ทาคายามะ ดำรงตำแหน่งประธานและ CEO และแต่งตั้งนายชินสุเกะ มินามิ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหารขึ้นเป็น COO ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2023 เป็นต้นไป เพื่อตอบรับต่อสภาพแวดล้อมในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

Advertisement

นายมาซาโนริ ทาคายามะ กล่าวว่า สถานการณ์ทางธุรกิจในปัจจุบันทำให้การมีผู้บริหารสูงสุดเพียงคนเดียวเป็นเรื่องยากและมีภาระเป็นอย่างมาก จึงเป็นการดีกว่าที่จะเปลี่ยนไปมีผู้บริหารสูงสุดสองคนเพื่อให้บริษัทก้าวไปข้างหน้าต่อได้ 

Isuzu คาดการณ์ว่า ปีงบประมาณปัจจุบันซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2023 ที่จะถึงนี้ อีซูซุจะมียอดขายปิดที่ 3.1 ล้านล้านเยน (23,115 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งจะเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท และจะมีรายได้จากการดำเนินงาน 2.3 แสนล้านเยน (1,715 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2016 หรือ 7 ปีที่แล้วซึ่งเป็นปีแรกที่นายทาคายามะก้าวขึ้นมาบริหารราว 60%

อีซูซุ  ปรับแนวทางบริหารใหม่ มีผู้บริหารสูงสุดสองคน รับศึกยุคอีวี

นายมาซาโนริ ทาคายามะ เผยว่า อันที่จริงตนมีแผนเกษียณอายุแล้ว แต่สภาพแวดล้อมในอุตสาหกรรมอีวีทำให้ยังจำเป็นต้องทำงานในฐานะ CEO อยู่ และกล่าวว่าการหาคนขึ้นมาทำหน้าที่นี้แทนเป็นเรื่องยากเป็นอย่างยิ่ง

ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่อีซูซุแต่งตั้งให้รองประธานขึ้นมาเป็นประธานบริษัท ซึ่งนายทาคายามะ กล่าวถึงนายชินสุเกะ มินามิ ที่เคยร่วมงานกันมาหลายปีว่าเป็นคนที่มีทักษะโดดเด่น โดยเฉพาะการเดินตามเป้าหมายเชิงตัวเลขให้สำเร็จลุล่วง เป็นผู้นำพาอีซูซุให้มีจุดยืนทัดเทียมกับวอลโว่ที่เป็นคู่แข่ง อีกทั้งเป็นผู้ที่ทำให้การเจรจาซื้อกิจการ UD Trucks สำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทยาวนานหลายปีในฐานะการบริหารจัดการฝ่ายขายในต่างประเทศอีกด้วย

นายทาคายามะย้ำว่า สาเหตุที่ตัดสินใจเลือกนายมินามิขึ้นมาร่วมบริหาร คือ การมีประวัติด้านการขายที่ดี อีกทั้งมีความสามารถในการการวางแผนและการตัดสินใจอย่างใจเย็น ต่างกับตนที่มีพื้นฐานจากทางวิศวกรรมซึ่งให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ในระยะกลางถึงระยะยาวเป็นหลัก โดยนายทาคายามะจะหันไปรับผิดชอบด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยีในระยะยาวมากขึ้น ในขณะที่นายมินามิจะรับผิดชอบการบริหารจัดการเป็นหลัก

ซัพพลายเออร์รายหนึ่งของอีซูซุ แสดงความเห็นว่า การประกาศร่วมบริหารของทั้งสองคนไม่ใช่เรื่องน่าตกใจนักเมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์อันดีอย่างยาวนานของทั้งคู่ พร้อมแสดงความเห็นว่านายมินามิเป็นคนหัวไวที่แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะมีแต่ผู้เห็นด้วยกับการตัดสินใจในครั้งนี้ เนื่องจากในปี 2015 นายซูซูมุ โฮโซอิ อดีตประธานอีซูซุ ได้แต่งตั้งนายทาคายามะเป็นประธานเนื่องจากต้องการให้วิศวกรเป็นผู้บริหารบริษัท อีกทั้งนายทาคายามะยังเคยแสดงความต้องการให้วิศวกรมารับช่วงต่อจากตน และยอมรับว่าที่ผ่านมาเคยมีความคิดว่าต้องการพัฒนาอีซูซุให้มีความโดดเด่นในด้านการผลิตมากขึ้น

โดยในช่วงทศวรรษ 1990 อีซูซุเคยตกอยู่ในภาวะตกต่ำทางการเงิน จึงเลือกประธานในยุคนั้นจากฝ่ายการวางแผนและการเงินขึ้นมารับหน้าที่บริหารจัดการอีซูซุและประสานงานกับ General Motors (GM) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในขณะนั้น

ถัดมาในช่วงทศวรรษ 2000 นายโยชิโนริ อิดะได้รับตำแหน่งประธานบริษัท ตามด้วยนายซูซูมุ โฮโซอิ ที่ขึ้นมารับผิดชอบการนำอีซูซุถอนตัวจากตลาด SUV ในอเมริกาเหนือและปรับแนวทางการบริหารนอกญี่ปุ่นใหม่ ไปจนถึงการยกระดับบริการหลังการขาย ก่อนแต่งตั้งนายทาคายามะขึ้นมาต่อ

ผู้เกี่ยวข้องจากบริษัทอีซูซุ แสดงความเห็นว่า การแต่งตั้งพนักงานจากฝ่ายวิศวกรเป็นประธาน เป็นสิ่งสะท้อนว่าอีซูซุกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่มั่นคงหลังผ่านประธานที่มาจากฝ่ายการเงินและฝ่ายบริหารมายาวนานหลายปี

อย่างไรก็ตาม หลังจากพิจารณาอย่างยาวนาน นายทาคายามะมีความคิดว่าคนที่เหมาะสมจะขึ้นมาบริหารอีซูซุ ต้องเป็นคนที่สามารถจัดระเบียบให้องค์กรที่มียอดขายรวม 3 ล้านล้านเยน และต้องมีศักยภาพในการพัฒนาองค์กรนี้ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น จึงได้ติดต่อนายมินามิตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2023 ซึ่งนายมินามิได้ตกลงรับปากในทันที

เข้าสู่ยุคอีวี ต้องเร่งร่วมมือภาครัฐและบริษัทอื่น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีซูซุมีความพยายามร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทต่าง ๆ ทั้ง GM, โตโยต้า, มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น, ITOCHU, และอื่น ๆ ซึ่งนายทาคายามะ กล่าวว่าหลังจากนี้ ความร่วมมือระหว่างบริษัทจะกลายเป็นหัวข้อสำคัญในการพัฒนาและทดสอบรถอีวี ซึ่งไม่เพียงแต่บริษัทอื่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความร่วมมือกับภาครัฐด้วย

โดยอีซูซุมีแผนเดินหน้าพัฒนาอีวีทั้งรถกระบะ รถปิกอัพ รถบรรทุกเล็ก และรถบรรทุกใหญ่ นอกจากนี้ยังจะพัฒนายานยนต์ที่ใช้แหล่งพลังงานอื่น ๆ เช่นเซลล์พลังงานเชื้อเพลิงอีกด้วย เพื่อให้แนวทางของบริษัทมีความ “รอบด้าน” มากยิ่งขึ้น

อีกสิ่งที่ได้รับความสนใจ คือ การพัฒนาบริการหลังการขายให้เป็นส่วนหนึ่งของโมเดลธุรกิจในยุคอีวี โดยในวันที่ 7 มีนาคม อีซูซุได้เปิดตัวรถบรรทุกไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ปัญหาของรถบรรทุกไฟฟ้า คือ การชาร์จไฟหนึ่งครั้งสามารถวิ่งได้ในระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก ซึ่งนายทาคายามะกล่าวว่า สิ่งนี้เองที่จะทำให้บริการหลังการขายเพื่อสร้างความไว้วางใจให้ลูกค้ามีความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา

นายเซย์จิ สุกิอุระ นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Tokai Tokyo Research Center วิเคราะห์ว่า สิ่งที่จะสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตรถบรรทุกไม่ใช่ตัวรถบรรทุกไฟฟ้า แต่เป็นบริการที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากในปัจจุบันรถบรรทุกไฟฟ้ายังมีราคาแพง ทำให้ตัดสินใจซื้อได้ยาก และสิ่งที่ค่ายรถต้องทำ คือการพัฒนาให้รถบรรทุกไฟฟ้ามีราคาถูกลงควบคู่ไปกับการขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น

ซึ่งแนวทางของอีซูซุ คือ การนำเสนอบริการระบบบริหารจัดการที่จัดการสถานะการทำงานของรถบรรทุกจากส่วนกลาง เพื่อเสนอเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด และวางแผนที่จะเปิดตัวบริการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในอนาคต

นายชินสุเกะ มินามิ แสดงความเห็นต่อกลยุทธในยุคอีวีของอีซุซุว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รถอีวีจะแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งอีซูซุเองก็ต้องการเตรียมความพร้อมในการลงทุนและแนวทางธุรกิจให้ชัดเจนก่อนวันนั้นจะมาถึง 

อีซูซุ  ปรับแนวทางบริหารใหม่ มีผู้บริหารสูงสุดสองคน รับศึกยุคอีวี

รถบรรทุกไฟฟ้าจากอีซูซุ

 

#Isuzu #อีซูซุ #รถกระบะ #รถบรรทุก #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม

 

ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH