Semiconductor สำคัญไฉน ‘อียู’ ยกระดับลงทุน ตั้งเป้าเทียบขั้นผู้นำตลาด
♦ สหภาพยุโรปร่างแผนผลักดันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Industry) ให้เทียบเท่าจีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ประสานความร่วมมือกับบรรดาบริษัทชั้นนำของยุโรป
♦ ตั้งเป้าหมายยกระดับกำลังการผลิตชิปคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2 เท่า ซึ่งจะทำให้มีส่วนแบ่งในตลาดโลกรวม 20% และมีแผนผลิตชิป 2 นาโนเมตร (nm) ที่ก้าวหน้าที่สุดในปี 2030
Advertisement | |
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2021 Mr. Thierry Breton เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดภายใน (Commissioner for internal markets) จากสหภาพยุโรป หรืออียู (EU) เปิดเผยว่า สหภาพยุโรปพร้อมลงทุนครั้งใหญ่ใน Semiconductor Industry เพื่อสนับสนุนการผลิต และซัพพลายเชนสำหรับชิปคอมพิวเตอร์
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า Mr. Thierry Breton ได้เผยแผนลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หลังจากการประชุมกับบริษัท ASML ซึ่งเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์รายใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ โดยสหภาพยุโรปได้ตั้งเป้ายกระดับขีดกำลังการผลิตชิปเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกเป็น 20% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันถึง 2 เท่า และมีแผนผลิตชิป 2 นาโนเมตร (nm) ที่ก้าวหน้าที่สุดในปี 2030 อีกด้วย
โดยอียูได้ร่วมกับผู้ผลิต Semiconductor สัญชาติยุโรปหลายราย เช่น ASML, Infineon, STM, และ NXP เพื่อร่างแผนผลักดันอุตสาหกรรมในภูมิภาคให้มีศักยภาพเทียบเท่าจีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา และตั้งเป้าว่าการลงทุนครั้งนี้ให้ดึงดูดผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอย่างซัมซุง, อินเทล, และ TSMC ให้เข้ามาสร้างโรงงานแห่งใหม่ในยุโรปอีกด้วย
Advertisement | |
Mr. Thierry Breton เสริมว่า งบประมาณส่วนหนึ่งของการลงทุนจะดึงมาจากวงเงินสำหรับฟื้นฟูอียูจากโควิด เนื่องจากกำหนดไว้ว่า 20% ของวงเงินจะถูกนำไปใช้กับการพายุโรปเข้าสู่ยุคดิจิทัลอยู่แล้ว และแสดงความต้องการว่าอยากให้การลงทุนเกิดขึ้นภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศวงเงินลงทุน และกำหนดการชัดเจนออกมาแต่อย่างใด
Mr. Peter Wennink ประธานบริษัท ASML เสริมว่า นอกจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แล้ว อียูควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมที่จะมีความสำคัญใน 5 ปีข้างหน้านี้ ไปจนถึงอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งแต่เดิมด้วย เช่น อุตสาหกรรมชิปยานยนต์ และ Edge computing
ไม่เพียงแต่ อียู เท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับ Semiconductor ฝั่งสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ก็มีแนวคิดเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2021 นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้พบกันเป็นครั้งแรกที่กรุงวอชิงตัน โดยร่วมพูดคุยถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา-จีน สิทธิมนุษยชน โควิด และอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงประเด็นวิกฤตชิปเซมิคอนดักเตอร์ขาดตลาดด้วย
ในยุค Digital เช่นนี้ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Industry) ได้ถูกยกระดับความสำคัญขึ้นมาอย่างชัดเจน ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ถูกติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้ภายในแทบทั้งสินค้า ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤต Semiconductor ขาดตลาดนับตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าการแก้วิกฤตครั้งนี้ต้องใช้เวลายาวนานไปอีก 1-2 ปี สิ่งที่จะกระทบแน่นอนคือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ชิปเซมิคอนดักเตอร์ย่อมมีระยะเวลาผลิตและจัดส่งยาวนานขึ้น สุดท้ายราคาของสินค้าต่าง ๆ เมื่อถึงมือผู้บริโภคจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
สถานการณ์ปัจจุบันภาคการผลิตแทบทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก ทั้งเครื่องจักร รถยนต์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว สิ่งที่โรงงานทำนอกจากการจัดหาซัพพลาย Semiconductor เพิ่มเติมแล้ว ก็มีการเจรจากับลูกค้าเพื่อเลื่อนกำหนดจัดส่งสินค้าออกไป รวมไปถึงการชะลอการผลิต หรือบางโรงงานอาจต้องหยุดการผลิตไป และสินค้าบางชนิดเริ่มมีการขยับราคาขึ้นหรือมีส่วนลดน้อยลง หรือหยุดรับออร์เดอร์ชั่วคราว เช่น สมาร์ทโฟนบางรุ่น
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่
Facebook / Twitter : MreportTH
Youtube official : MReport
Line : @mreportth
Website : www.mreport.co.th