หลังมรสุมโควิด รีแคปธุรกิจอุตสาหกรรม ฟื้นเร็วเกินคาด!
♦ SMBC Nikko Securities เปิดเผยการฟื้นตัวของหลายธุรกิจที่ดีกว่าการคาดการณ์
♦ 894 บริษัทลำดับแรกในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว มีรายได้เฉลี่ย 3 ไตรมาสหลังของปี 2020 ลดลงเพียง 19.9% ขณะที่ช่วงวิกฤตโควิดในไตรมาสที่ 2 ตัวเลขรายได้เฉลี่ยลดลงแตะระดับ 70%
♦ ยานยนต์ฟื้น ไอทีพุ่งกระตุ้นอิเล็กทรอนิกส์ ไลฟ์สไตล์ใหม่อุ้มสื่อบันเทิงและเครื่องใช้ไฟฟ้าโต
SMBC Nikko Securities บริษัทหลักทรัพย์และการลงทุนจากญี่ปุ่น เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาถึงการฟื้นตัวของหลายธุรกิจที่ดีกว่าการคาดการณ์ โดย 894 บริษัทลำดับแรกในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (TSE) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 60.9% จากจำนวนบริษัททั้งหมดในกระดานแรก มีรายได้เฉลี่ยในช่วงไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 ลดลง 19.9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ช่วงวิกฤตของสถานการณ์โรคโควิดในไตรมาสที่ 2 ตัวเลขรายได้เฉลี่ยลดลงแตะระดับ 70%
โดยรายงานเปิดเผยว่า ธุรกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 โดยมีอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ฟื้นตัวอย่างโดดเด่นจากความต้องการในตลาดจีน ตามด้วยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ในขณะที่ต้องการอาหารและยา ไปจนถึงเฟอนิเจอร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการ Work From Home ส่งผลให้มี 276 บริษัทจากกระดานแรกของตลาดหลักทรัพย์โตเกียวปรับแก้ตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการของปีงบประมาณ 2020 (1 เมษายน 2020 - 31 มีนาคม 2021) เพิ่มขึ้น และมีเพียง 40 บริษัทเท่านั้นที่ปรับแก้ผลการคาดการณ์ให้ลดลง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จาก SMBC แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า หลายธุรกิจยังคงประสบปัญหากำลังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการที่ฟื้นตัวเร็วกว่าการคาดการณ์ ทำให้บริษัทเหล่านี้ยังสงวนท่าทีต่อไปว่าจะปรับแก้ยอดตัวเลขคาดการณ์ใหม่หรือไม่
ยานยนต์ฟื้นตัว อุตสาหกรรมใดได้ประโยชน์
ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในเครือโตโยต้า เช่น TOKAI RIKA, FUTABA INDUSTRIAL, AISAN INDUSTRY และอื่น ๆ รวม 6 บริษัท คาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถพลิกมาทำกำไรได้ในสิ้นปีงบประมาณ 2020 หรือภายใน 31 มีนาคม 2021 ซึ่งเป็นผลจากความพยายามลดต้นทุน และยอดขายยานยนต์ของโตโยต้าที่มีการฟื้นตัวอย่างโดดเด่น
Sumitomo Electric Industries เปิดเผยว่า การเร่งผลิตยานยนต์ในช่วงครึ่งปีหลังทำให้ยอดขายสายไฟในปี 2020 สูงกว่าการคาดการณ์อย่างมาก และในไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 ก็เป็นไตรมาสที่บริษัทมีกำไรสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ
นอกจากผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แล้ว ธุรกิจเคมีภัณฑ์ก็ได้รับผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมยานยนต์เช่นเดียวกัน โดย Mitsubishi Chemical, Tosoh, และ Mitsubishi Gas Chemical รายงานตรงกันว่าได้ปรับแก้ตัวเลขคาดการณ์ให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากความต้องการในกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ และราคา Methyl Methacrylate ที่สูงขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
Mr. Kenji Yamaguchi ประธานบริษัท Fanuc แสดงความเห็นว่า มีความเป็นไปได้มากที่ความต้องการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามียอดสั่งซื้อจากผู้ผลิตในจีนและสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ่นยนต์สำหรับงานเชื่อม งานประกอบเครื่องยนต์ งานพ่นสี และงานประกอบแบตเตอรี่
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ยังส่งผลต่อธุรกิจโลจิสติกส์อีกด้วย โดย Nippon Express รายงานว่า การระงับเที่ยวบินโดยสารในหลายประเทศทำให้ค่าขนส่งสินค้าทางอากาศเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งทางบริษัทเองก็ได้รับคำร้องให้นำเครื่องบินมาใช้ขนส่งชิ้นส่วนยานยนต์ และปรับแก้ตัวเลขคาดการณ์ว่าในปีงบประมาณนี้จะมีผลประกอบการดีขึ้น
IT พุ่ง กระตุ้นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
อีกเทรนด์มาแรงคือ 5G ซึ่งถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ที่เติบโตขึ้นจากเดิม โดยธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์เช่น Tokyo Electron, SCREEN Holdings, Advantest โดย Mr. Ken Sasagawa ผู้จัดการทั่วไป บริษัท Tokyo Electron วิเคราะห์ว่า ความต้องการใช้ข้อมูลที่มากขึ้นในสังคมจะเป็นตัวกระตุ้นตลาด Semiconductor Manufacturing Equipment ที่ดี และคาดว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2021 บริษัทจะทำยอดขายได้สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้ง
ทางด้าน Fujitsu รายงานว่า บริษัทมียอดขายทั่วโลกเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการสถานีฐาน (Base Station) สำหรับอุปกรณ์ 5G และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วน Murata Manufacturing เสริมว่าความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอกนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมากจากยอดขายคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน, และผลิตภัณฑ์ 5G อื่น ๆ
- คอมพิวเตอร์-โน้ตบุ๊คปี 2020 รับโชคโควิด ยอดขายทั่วโลกโตสุดรอบ 10 ปี
- ยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลก 2020 ได้ 5G อุ้มไว้ มาดูใครเบอร์หนึ่ง
Hitachi รายงานว่า อีกปัจจัยนอกจาก 5G คือ Digital Transformation ซึ่งหลายบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นในช่วงล็อคดาวน์ และเร่งปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้เป็นดิจิทัลเร็วกว่าที่ผ่านมา
ไลฟ์สไตล์ใหม่อุ้ม ยอดขายสื่อบันเทิงและเครื่องใช้ไฟฟ้าโต
นอกจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้หลายบริษัทกลับมาทำกำไรเพิ่มขึ้น โดยโซนี่ (Sony) คาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2020 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคมนี้ บริษัทจะมีรายได้สุทธิเกิน 1 ล้านล้านเยน หรือราว 9,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก โดยมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากสื่อบันเทิงเช่นภาพยนตร์ เกมและดนตรี รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง Mr. Hiroki Totoki รองประธานบริษัทแสดงความเห็นว่าในปีงบประมาณนี้โซนี่มีการเติบโตอย่างมาก และคาดว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกพักใหญ่
ส่วนพานาโซนิค (Panasonic) รายงานว่า ในปีที่ผ่านมา ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะยอดขายเครื่องซักผ้า และตู้เย็น ซึ่งมีการเติบโตอย่างโดดเด่นในจีนและญี่ปุ่น ซึ่ง YAMATO HOLDINGS ผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายใหญ่ได้ยืนยันว่ามีการจัดส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากให้กับผู้สั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในปีที่ผ่านมา
Nippon Yusen ผู้ให้บริการโลจิสติกส์อีกรายจากญี่ปุ่น เสริมว่าการระบาดของโควิด ทำให้บริษัทได้รับออเดอร์ขนส่งสินค้าเฟอนิเจอร์จำนวนมากไปยังจีนและสหรัฐอเมริกา และยังมีสินค้ารอจัดส่งอีกมาก นอกจากนี้ ผู้ผลิตตู้คอนเทนเนอร์หลายรายยังรายงานว่าปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในช่วงที่ผ่านมาช่วยให้บริษัทมีผลประกอบการดียิ่งขึ้น
ในทางกลับกันก็มีผู้เห็นต่าง โดย Mr. Shigenobu Nagamori ประธานบริษัท Nidec แสดงความเห็นว่าความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไลฟ์สไตล์ช่วงล็อคดาวน์เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว และสาเหตุที่มีบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นผลจากการพัฒนาสินค้าที่ช่วยในการประหยัดพลังงาน และตอบโจทย์ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปมากกว่า