รถยนต์ไฟฟ้า โซนี่ บทวิเคราะห์ อุปสรรค

บทวิเคราะห์ “โซนี่” กระโดดร่วมวง “รถอีวี” งานนี้เจออุปสรรคอะไรบ้าง

อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2565
  • Share :
  • 1,782 Reads   

แม้การเปิดตัว Sony Mobility Inc. และรถต้นแบบ VISION-S 02 ในงาน CES 2022 ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก แต่หุ้นของโซนี่กลับลดลงถึง 7% 

Advertisement

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2022 รอยเตอร์เผย หุ้นโซนี่ได้ลดลง 7% ตอบรับเชิงลบต่อการเปิดตัว Sony Mobility Inc. สะท้อนความไม่มั่นใจของนักลงทุน โดยมองว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เต็มไปด้วยเซนเซอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ด้านความบันเทิงเป็นเรื่องยาก

ฝั่งความเห็นของนักวิเคราะห์นั้นมีทั้งสองด้าน โดยความเห็นสนับสนับมองว่า เป้าหมายหลักของ Sony Mobility Inc. คือการพัฒนายานยนต์อัตโนมัติที่สามารถนำไปใช้ในการบริการด้านคมนาคมไม่ว่าจะเป็น Car Sharing หรือ Ride-hailing ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตจนแซงหน้ายอดขายยานยนต์ได้ในอนาคต

ส่วนสำนักวิเคราะห์ MarketsandMarkets คาดการณ์ว่า ในปี 2030 ตลาด Mobility as a Service (MaaS) จะมีมูลค่าอยู่ที่ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ที่มีความเห็นต่างมองว่าการเข้าสู่ตลาดรถอีวีของโซนี่ต้องมีการลงทุนมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะในด้านฐานการผลิต จึงจะสามารถผลิต VISION-S ในจำนวนมากเพียงพอที่จะเข้าสู่ตลาดได้

นาย Takaki Nakanishi นักวิเคราะห์ด้านยานยนต์จาก Nakanishi Research Institute แสดงความเห็นว่า การเข้าสู่ตลาดยานยนต์ของโซนี่จะเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก โดยได้ยกกรณีของเทสล่า (Tesla) มาเป็นตัวอย่าง ซึ่งนับตั้งแต่ที่รถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของเทสล่าออกสู่ตลาดในปี 2008 เทสล่าก็ประสบปัญหาขาดทุนหลักพันล้านต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีกว่าจะสามารถทำกำไรได้

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันคลื่นของ EV มาแรงกว่าเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้อาจเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้โซนี่รวมถึงบริษัทด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้าสู่ตลาดง่ายขึ้น ประกอบกับการขับเคลื่อนของรถยนต์ไฟฟ้าอาศัยมอเตอร์เป็นหลักซึ่งมีความซับซ้อนน้อยกว่าเครื่องยนต์สันดาป

และไม่ใช่แค่โซนี่เท่านั้นที่กระโดดเข้าสู่ตลาดรถอีวี แต่ยังมีอีกหลายบริษัทที่มีแนวโน้มจะเข้ามาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิลที่มีข่าวลือออกมาเป็นระยะ ไปจนถึงฟ็อกซ์คอนน์ที่เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าไปไม่นานมานี้

 

นอกจากนี้ การที่รถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถวิ่งบนถนนได้จริงนั้นยังเป็นไปตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดกว่าที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนมาก อีกทั้งส่วนประกอบต่าง ๆ ก็ต้องทนต่อสภาพถนน และสภาพภายแวดล้อมภายนอกที่มีความรุนแรงกว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

นาย Takaki Nakanishi แสดงความเห็นต่อว่า “เป็นไปไม่ได้ที่โซนี่จะทำได้อย่างเทสล่า” โดยอธิบายเหตุผลว่า สำหรับบริษัทญี่ปุ่นแล้ว การหาพันธมิัตรมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้อย่างเช่น Foxconn นั้นมีความเป็นไปได้มากกว่า

ภายในงาน CES 2022 โซนี่ยังไม่เปิดเผยแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยรถยนต์รุ่นต้นแบบอย่าง VISION-S นั้นก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตยานยนต์ เช่น  Magna International ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากแคนาดา ซึ่งมีประสบการณ์การผลิตยานยนต์ให้กับ BMW, Mercedes Benz และ Toyota นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอื่น ๆ อย่าง Bosch, Valeo SE, และ AImotive อีกด้วย

สำหรับความเคลื่อนไหวของบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เคยเผยความสนใจในการเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้านั้นยังไม่มีความคืบหน้านัก เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีความเสี่ยงมากเกินไป

ยกตัวอย่างเช่น James Dyson ผู้ก่อตั้ง Dyson Ltd. เดิมทีมีแผนจะเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า แต่ได้ยกเลิกไปในปี 2018 เนื่องจากพบว่าเป็นเรื่องซับซ้อนเกินไปที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้งานจริงได้

 

ส่วน Panasonic ซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหญ่ของ Sony ในญี่ปุ่น แม้จะมีธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ไปจนถึงเป็นพาร์ทเนอร์ในการผลิตแบตเตอรี่ให้กับเทสล่า แต่ก็ยังไม่มีแผนเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ยังมีค่ายรถอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Toyota, General Motors, Volkswagen, และ Stellantis ที่กำลังเร่งลงทุนรถอีวีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของโซนี่มีความยากลำบากขึ้นแน่นอน

 

 

#VISION-S #Sony #Electric Vehicles #รถยนต์ไฟฟ้า #ยานยนต์ #อุตสาหกรรมยานยนต์ #โซนี่ #CES 2022 #Sony Mobility #M Report #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH