3 อุตสาหกรรมเด่นอาเซียนในปี 2023

3 อุตสาหกรรมเด่นอาเซียนในปี 2023

อัปเดตล่าสุด 26 ม.ค. 2566
  • Share :
  • 4,221 Reads   

เผย 3 อุตสาหกรรมที่น่าจับตามองในอาเซียนประจำปี 2023 ประกอบด้วยอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2023 ASEAN Briefing เว็บไซต์ด้านข่าวการลงทุนและการค้าในอาเซียนจากบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ Dezan Shira & Associates ได้เผยแพร่บทความในหัวข้อ “อุตสาหกรรมที่น่าจับตามองในอาเซียน ปี 2023” มีประเด็นน่าสนใจดังนี้

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุ ในปี 2022 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจอาเซียนมีการเติบโตที่ 5.5% ในขณะที่ภูมิภาคอื่นถูกคาดการณ์การเติบโตไว้ที่ 4.7% 

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกเติบโต 3.2% ในปี 2022 และ 2.7% ในปี 2023 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจของอาเซียนมีการเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก

 

Advertisement

เทรนด์การเติบโตของอาเซียน

อาเซียนกำลังเดินหน้าสู่การเป็นตลาดเดียว (Single Market) ที่ใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2030 ซึ่งเห็นได้จากเงินลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามาในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนต่างเปิดรับการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น พร้อมกับเดินหน้ามาตรการลดกำแพงการค้าและสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ

สาเหตุที่อาเซียนมีการเติบโตและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ คือ จำนวนประชากร แรงงาน และเศรษฐกิจ โดยอาเซียนมีประชากรรวมกว่า 662 ล้านคน มีคนหนุ่มสาวเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น อีกทั้งยังมีอายุมัธยฐาน (Median Age) ที่ 30.2 ปี น้อยกว่าจีนที่ 38.4 ปี และยุโรปที่ 44.1 ปี และ GDP รวม 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

และอีกปัจจัย คือ ตำแหน่งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้อาเซียนได้ผลประโยชน์จากการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯ ส่งผลให้ทั้งสองชาติต้องการกระชับความสัมพันธ์กับชาติอาเซียนยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น RCEP ซึ่งกระตุ้นการค้าขายระหว่างชาติอาเซียนและจีนให้มากกว่าที่ผ่านมา

สำหรับอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองในอาเซียนประจำปี 2023 มีดังนี้

อุตสาหกรรมการผลิต

ปี 2023 เป็นปีที่อุตสาหกรรมการผลิตมีความท้าทายเป็นอย่างมากจากหลายปัจจัยทั่วโลก ทั้งจากความต้องการในประเทศพัฒนาแล้วที่ลดลงซึ่งจะส่งผลกระทบมาถึงภาคการผลิตในอาเซียน ไปจนถึงอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้การกู้ยืมและการเติบโตจำเป็นต้องใช้ต้นทุนมากขึ้น อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อยังส่งผลกระทบต่อกำไรของผู้ผลิตอีกด้วย

การผลิตเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่นเวียดนามซึ่งพึ่งพาภาคการผลิตเหมือนเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ หรือไทยที่ภาคการผลิตมีสัดส่วนมากถึง 27% ของ GDP ในปี 2021

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในปี 2023 จะยังมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุหลักมาจากการที่ผลิตภัณฑ์ในอาเซียนได้รับการยอมรับว่ามีการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าจีน อีกทั้งปัจจัยด้านค่าแรงยังทำให้การเติบโตของภาคการผลิตในอาเซียนรวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากค่าแรงแล้ว สงครามการค้ายังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้หลายธุรกิจย้ายฐานการผลิตออกจากจีน และอาเซียนก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของธุรกิจเหล่านี้

ซึ่งรัฐบาลในหลายประเทศอาเซียนต่างมีนโยบายดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติที่สอดคล้องไปกับนโยบาย China Plus One หรือนโยบาย China Plus Many เช่น การลดหย่อนภาษี การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ และอื่น ๆ

เวียดนามเป็นหนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจาก China Plus One ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2020 ภาคการผลิตเวียดนามสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) จากจีนได้มากถึง 58% ของ FDI ทั้งหมดในประเทศ

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ตั้งแต่โควิดเริ่มระบาด อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอาเซียนก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก อีกทั้งการท่องเที่ยวยังเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจในหลายประเทศอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทย ซึ่งเป็นปะเทศในอาเซียนที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุด โดยในปี 2019 มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยกว่า 40 ล้านคน และเป็นประเทศแรกที่ประกาศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกครั้งตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2021 ผ่านโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนักท่องเที่ยวก็ยังคงต่ำกว่าก่อนโควิดระบาด และคาดการณ์ว่าในปี 2022 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยรวม 20 ล้านราย 

เวียดนามเองก็เช่นกัน โดยในปี 2022 เวียดนามมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ 3.5 ล้านคน หรือเพียง 18% ของก่อนการระบาดของโควิดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในปี 2023 สถานการณ์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากการเปิดประเทศของจีนที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถเดินทางไปยังต่างประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2023 

อีกปัจจัยคือ ความต้องการท่องเที่ยวของนานาประเทศทั่วโลก เช่นในสหรัฐซึ่งประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกเป็นหนึ่งในเป้าหมายการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และในยุโรปที่สายการบินมีการปรับเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น

อุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล 

เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการนำเทคโนโลยี IT เข้ามาใช้ รายงานจาก Google, Temasek, และ Bain & Company เผยว่า ประเทศกลุ่ม “ASEAN-6” ซึ่งประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลยเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม จะมียอดขายสินค้าออนไลน์ หรือ Gross Merchandize Volume (GMV) รวมเป็นมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อสิ้นสุดปี 2022 และจะแตะ 3.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025

ซึ่งในช่วง 3 ปีมานี้ ภูมิภาคอาเซียนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นถึงร้อยล้านราย ซึ่งการระบาดของโควิดทำให้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการติดต่อสื่อสาร ความบันเทิง และซื้อขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยีจึงกลายเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) รายงานว่า ในช่วงปี 2015 - 2021 มีบริษัทสตาร์ทอัพในอาเซียนที่ระดมทุนได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 1,920 บริษัท และอัตราการเติบโตที่สูงกว่ายุโรป 85% และสูงกว่าสหรัฐฯ 65% 

Digital Transformation ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการลงทุนในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลทำให้เกิดโอกาสด้านบริการทางการเงิน เนื่องจากประชากรจำนวนมากในอาเซียนยังไม่มีบัญชีธนาคาร อีกทั้งแรงงานจำนวนมากยังอยู่นอกระบบ

 

 

#อาเซียน #ASEAN #อุตสาหกรรมการผลิต #ลงทุน #M Report #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH