‘ท็อปยานยนต์ญี่ปุ่น’ เผยมุมมองปี 2023
เผยมุมมองปี 2023 ของผู้บริหารบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น ซึ่งเข้าร่วมงานสังสรรค์ปีใหม่ครั้งแรกในรอบ 3 ปี
Advertisement | |
เดิมทีแล้วปี 2023 เป็นปีที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าโลกจะฟื้นตัวจากโควิด แต่แนวโน้มปัจจุบันอาจไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อจีนประสบกับการระบาดของโควิดอย่างหนัก ร่วมกับวิกฤตชิปขาดตลาดที่ยืดเยื้อ แต่ในทางกลับกัน ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อลดการปล่อยกีาซคาร์บอนไดออกไซด์
งานสังสรรค์ปีใหม่ของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นได้ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยความร่วมมือจาก 5 หน่วยงานประกอบด้วย สมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JAMA), สมาคมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JAPIA), สมาคมผู้ผลิตตัวถังยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JABIA), สมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JAMTA), และสมาคมผู้ค้ายานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JADA) ซึ่งมีการแสดงความเห็นต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2023 จากเหล่าผู้บริหารระดับสูงของภาคอุตสาหกรรมด้วย
งานสังสรรค์ปีใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุนครั้งแรกในรอบ 3 ปี จัดขึ้นที่กรุงโตเกียว
‘ชิปขาดตลาด’ ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ค่ายรถกังวลในปี 2023
สิ่งที่ทำให้ผู้บริหารระดับสูงของค่ายรถญี่ปุ่นเป็นกังวลที่สุดในปี 2023 คือวิกฤตชิปขาดตลาด ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ
- สถานการณ์ชิปขาดตลาด 2022 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่?
- "ชิปขาดตลาด" ยังระอุ ค่ายรถปรับลดการผลิตต่อเนื่อง [ M Report Podcast EP21 ]
นาย Takeshi Uchiyamada ประธานกรรมการ บริษัทโตโยต้า เผยว่า ปัจจุบันวิกฤตชิปขาดตลาดในอุตสาหกรรมยานยนต์ยังไม่สิ้นสุด แม้ภาพรวมการผลิตชิปจะมีกำลังการผลิตสูงขึ้น แต่ชิปที่ใช้ในยานยนต์ยังคงไม่เพียงพอ อีกทั้งผู้ผลิตชิปยังไม่อาจแก้ไขปัญหานี้ได้ในทันที ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าผู้ผลิตยานยนต์จะขาดชิปอย่างต่อเนื่อง
นาย Toshihiro Suzuki ประธานบริษัท ซูซูกิ เห็นด้วยกับความเห็นข้างต้น และคาดการณ์ว่าในปีนี้จะเป็นอีกปีที่ยากลำบาก
ในขณะที่ นาย Tomomi Nakamura ประธานบริษัท ซูบารุ เผย ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าชิปขาดตลาดจะสิ้นสุดเมื่อไร
ทางด้านนาย Toshihiro Sanbe ประธานบริษัท ฮอนด้า เห็นพ้องว่า ในปีนี้จะเป็นอีกปีที่ค่ายรถได้รับผลกระทบจากชิปขาดตลาด และอยากให้ความสำคัญกับชิปเท่าที่ทำได้
‘ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจ การเมือง และโควิด’ ยังต้องเฝ้าระวัง
ถัดจากวิกฤตชิปขาดตลาด คือความเสี่ยงจากเศรษฐกิจ การเมือง และโควิด ซึ่งจีนและสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดยานยนต์ขนาดใหญ่ล้วนมีความเสี่ยงเหล่านี้
นาย Tomomi Nakamura ประธานบริษัท ซูบารุ เผยว่า ปัจจุบันซูบารุยังไม่มีแผนพิจารณาขยายฐานการผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผ่านการพิจารณาแนวโน้มต่าง ๆ ทั้งค่าแรงและต้นทุนการผลิตแล้ว ส่วนแผนการที่เกี่ยวข้องกับโรงงานแบตเตอรี่อีวีในญี่ปุ่นจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
นาย Toshihiro Sanbe ประธานบริษัทฮอนด้า กล่าวว่า บริษัทจะรับฟังความเห็นจากทั้งในประเทศและนอกประเทศญี่ปุ่น เพื่อหามาตรการรับมือที่เหมาะสม
นาย Makoto Uchida ประธานบริษัทนิสสัน ชี้แจงว่า ในปี 2023 จะเป็นปีที่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีความรุนแรง และคาดการณ์ว่าแม้โควิดจะคลี่คลาย แต่สถานการณ์จะไม่กลับไปเทียบเท่าก่อนการระบาด
นาย Takeshi Uchiyamada ประธานกรรมการ บริษัทโตโยต้า คาดการณ์ตรงกันว่าตลาดยานยนต์ปี 2023 จะหดตัว อีกทั้งค่ายรถยังไม่อาจจัดหาซัพพลายได้เพียงพอต่อความต้องการ และแม้จะใช้กำลังการผลิตเต็มที่ก็ยังไม่สามารถตอบรับความต้องการยานยนต์ได้
นอกจากนี้ สภาพตลาดยังขึ้นกับปัจจัยทางการเมืองและการระบาดของโควิดอีกด้วย แต่หากเป็นไปได้ก็ต้องการให้บริษัทไม่โอนอ่อนไปตามปัจจัยเหล่านี้ ซึ่งนาย Toshihiro Sanbe ประธานบริษัทฮอนด้าเห็นตรงกัน และย้ำว่าจะเดินหน้าธุรกิจตามแผนที่วางไว้
นาย Makoto Uchida ประธานบริษัทนิสสัน เสริมว่า สิ่งที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นในขณะนี้ คือความร่วมมือในภาคอุตสาหกรรมและการสร้างมูลค่า เพื่อก้าวข้ามผลกระทบจากแนวโน้มต่าง ๆ ไปได้ ซึ่งนาย Takeshi Uchiyamada ประธานกรรมการ บริษัทโตโยต้าได้กล่าวเสริมว่า บริษัทญี่ปุ่นจำเป็นต้องพังกำแพงลง ยกระดับความร่วมมือให้มากขึ้น อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นจึงจะเติบโตต่อไป
มุมมองจาก ‘ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
ทางด้านผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีความเห็นที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเฝ้าระวังสถานการณ์ในจีน โดยนาย Masayoshi Shirayanagi ประธานบริษัท Toyota Boshoku เผยว่าความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ในจีนเริ่มไม่แน่ชัด ในขณะที่นาย Moritaka Yoshida ประธานบริษัท Aisin Seiki เผยว่ารู้สึกได้ถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความเห็นเช่นนี้มาจากการกลับมาระบาดอย่างรุนแรงของโควิด ซึ่งในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บริษัทระบบขับเคลื่อนยานยนต์แห่งหนึ่งในจีนมีพนักงานติดโควิดมากกว่า 30% อีกทั้งคู่ค้าเองก็เช่นกัน ส่งผลให้ยอดขายลดลงจากที่ตั้งเป้าไว้ถึง 60% ในขณะที่ปัจจุบันการใช้กำลังการผลิตลดน้อยกว่าปกติถึง 30% ซึ่งผู้บริหารบริษัทเผยว่า หากยังมีการระบาดเช่นนี้ การผลิตก็จะทำได้น้อยกว่าปกติต่อไป
ผู้ผลิตชิ้นส่วนตกแต่งภายในอีกรายเผยว่า ปัจจุบันพนักงานกว่าครึ่งไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้ ในขณะที่พนักงานอีกส่วนต้องนอนค้างคืนที่โรงงานเพื่อให้สามารถเดินสายการผลิตต่อ ทำให้ตัวเลขการผลิตลดต่ำลงเป็นอย่างมากตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งสถานการณ์ตลาดก็ไม่ดีอีกด้วย
ภาวะเงินเฟ้อเป็นอีกปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยนาย Hiromi Ninoyu ประธานบริษัท Tokai Rika เผยว่า ค่าแรงที่สูงขึ้นทำให้บริษัทต้องพิจารณาว่าจะดำเนินธุรกิจต่อได้อีกนานแค่ไหน ในขณะที่นาย Toru Koyama ประธานบริษัท Toyoda Gosei ย้ำว่า การลดจำนวนแรงงานอย่างเข้มข้นเป็นสิ่งจำเป็นในการรับมือกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ในปี 2023 แต่รวมถึงในอนาคตหลังจากนี้ด้วย
สำหรับสถานการณ์ชิ้นส่วนขาดตลาด นาย Koji Arima ประธานสมาคมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น คาดการณ์ว่าการขาดแคบนชิปและชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงสถานการณ์ด้านโลจิสติกส์จะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 แต่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้นขึ้นกับมาตรการรับมือเงินเฟ้อของแต่ละประเทศ ทำให้การคาดการณ์ยอดผลิตยังคงเป็นไปได้ยาก
ในทางกลับกัน ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นมีทิศทางไม่แน่นอน ยกตัวอย่างเช่นผู้ผลิตชิ้นส่วนรายหนึ่งซึ่งแสดงความเห็นว่าราคาวัตถุดิบกลุ่มเคมีภัณฑ์นั้นไม่ปรับตัวตามสภาพตลาดมากนัก ต่างจากวัตถุดิบในกลุ่มเหล็กและโลหะ ในขณะที่ผู้ผลิตขิ้นส่วนอีกรายเผยว่า ราคาพลังงานทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น แต่ก็มีการเจรจาเพื่อขอปรับราคาสำเร็จกับผู้ผลิตยานยนต์ไม่กี่รายเท่านั้น
อีกสิ่งที่เห็นได้ชัดในขณะนี้ คือ ราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ผู้ผลิตขิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่บางส่วนให้การสนับสนุนซัพพลายเออร์ Tier 2 มากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
โดยนาย Hiromi Ninoyu ประธานบริษัท Tokai Rika กล่าวว่า หากให้ซัพพลายเออร์รออีกครึ่งปีหรือหนึ่งปี จากนั้นจึงยอมรับการปรับราคา อาจทำให้กระแสเงินสดของซัพพลายเออร์ไม่เพียงพอ ดังนั้น บริษัทจึงยินยอมให้ซัพพลายเออร์ขึ้นราคาสินค้าได้ แต่ก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมเช่นกัน
นาย Yasuhiro Miyaji ประธานบริษัท Akebono Brake Industry เผยว่า บริษัทไม่มีทางเลือกนอกจากยอมให้ผู้ผลิต Tier 2 ขึ้นราคา แม้ว่าจะส่งผลให้ Tier 1 ซึ่งอยู่ระหว่างกลาง Tier 2 กับผู้ผลิตยานยนต์ต้องลำบากขึ้นก็ตาม
ในอีกด้านหนึ่ง นาย Toru Koyama ประธานบริษัท Toyoda Gosei กล่าวว่า หากต้องการลดการปล่อยคาร์บอนให้สำเร็จ ความร่วมมือระหว่างซัพพลายเออร์ย่อมเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งนาย Tetsuya Kimura ประธานบริษัท Asahi Iron Works เสริมว่า ทางบริษัทเองก็มีความต้องการเปิดตัวโซลูชันใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อสนับสนุน SME เช่นกัน
ทางด้านฮีโน่ซึ่งมีประเด็นด้านการปลอมแปลงข้อมูลการปล่อยมลพิษของเครื่องยนต์บางรุ่นในปี 2022 ที่ผ่านมา ได้ถูกหยิบยกให้การแก้ปัญหานี้เป็นหัวข้อสำคัญในปี 2023 ด้วยการขอรับการประเมินเครื่องยนต์รถบรรทุกใหม่ ซึ่งเครื่องยนต์บางส่วนสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ได้ทำการยื่นขอรับประเมินใหม่แล้ว โดยนาย Satoshi Ogiso ประธานบริษัทฮีโน่ กล่าวว่ามีทั้งเรื่องที่แก้ไขได้ทันที และเรื่องที่ยังแก้ไม่ได้ แต่บริษัทก็จะเดินหน้าแก้ปัญหานี้ต่อไป
ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun
#ยานยนต์ญี่ปุ่น #อุตสาหกรรมยานยนต์ #มุมมองผู้บริหาร #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ ครึ่งปีแรก 2022
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- สถานการณ์ชิปขาดตลาด 2022 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่?
- 12 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงแห่งปี 2022
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH