สังคมยุคใหม่ ดัน Service Robots โตก้าวกระโดด

สังคมยุคใหม่ ดัน Service Robots โตก้าวกระโดด

อัปเดตล่าสุด 19 ต.ค. 2564
  • Share :

จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและภาคธุรกิจ เมื่อมัดรวมกับสังคมสูงอายุ (Aging Society) ยิ่งทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงยิ่งขึ้น จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ตลาดหุ่นยนต์บริการ (Service Robots) มีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดดถึง 2 เท่าในปี 2025

Advertisement

หุ่นยนต์บริการ (Service Robots) คือ หุ่นยนต์ปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ โดยไม่นับรวมการใช้งานระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม หุ่นยนต์บริการถูกจัดประเภทตามการใช้งานส่วนบุคคลหรือมืออาชีพ มีรูปแบบ โครงสร้าง และพื้นที่การใช้งานที่หลากหลาย และจัดอยู่ใน ISO 8373 ตามที่องค์การมาตรฐานสากลกำหนดไว้

สำนักวิเคราะห์ Fuji Keizai ประเทศญี่ปุ่น คาดการณ์ตลาด Service Robots ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดดถึง 2 เท่าในปี 2025 โดยแบ่งข้อมูลออกเป็นหุ่นยนต์บริการ 3 หมวดหมู่ ได้แก่ หุ่นยนต์ในบ้าน หุ่นยนต์บริการในสถานพยาบาลและดูแลผู้สูงอายุ และหุ่นยนต์ในร้านอาหาร/ที่ทำงาน

หุ่นยนต์ในบ้าน ช่วยคลายเหงาในสังคมยุคใหม่

หุ่นยนต์บริการ สำหรับใช้งานในบ้าน เป็นแนวคิดที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่น่าจดจำคือหุ่นยนต์สุนัข “aibo” ของโซนี่เมื่อปี 1999 อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าทางเทคโนโลยีในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลไก, ระบบควบคุม, เซนเซอร์, และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ทำให้ aibo เป็นได้แค่ของเล่น และไม่แพร่หลายในฐานะหุ่นยนต์

หุ่นยนต์ “LOVOT” ที่ PARK+โชว์รูมหุ่นยนต์บริการจากแขวงชิบูยะที่ลูกค้าเข้าไปทดลองใช้หุ่นยนต์จากแบรนด์ต่าง ๆ ได้

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้หลายบริษัทหยิบยกแนวคิดหุ่นยนต์ในบ้านมาปัดฝุ่นใหม่ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อปลายเดือนกันยายน 2021 ที่ผ่านมานี้ อเมซอน (Amazon.com) ประกาศเข้าสู่ตลาดหุ่นยนต์ในบ้าน และหุ่นยนต์บริการอื่นซึ่งกำลังเติบโต และมีหุ่นยนต์หลายชนิดที่ออกแบบให้นำมาใช้ในที่อยู่อาศัยได้

อีกไอเดียที่มีส่วนช่วยในการผลักดันหุ่นยนต์บริการประเภทนี้ คือการให้ลูกค้าทดลองใช้งานจริง โดย “PARK+” โชว์รูมหุ่นยนต์บริการที่ชิบูยะ ประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดโอกาสให้ลูกค้าทดลองใช้หุ่นยนต์จากแบรนด์ต่าง ๆ อาทิเช่น “LOVOT” จาก GROOVE X, “ROBOHON” จาก Sharp, “Charlie” จาก Yamaha, “Romi” จาก mixi, และอื่น ๆ

“ROBOHON” จาก Sharp ซึ่งถูกนำไปใช้ช่วยอำนวยความสะดวกในอาคารกักตัว ณ กรุงโตเกียว

สาเหตุหลักที่ทำให้หลายบริษัทเล็งเห็นศักยภาพของหุ่นยนต์ในบ้าน คือ ปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่รุนแรงขึ้นในทุก ๆ ปี ทำให้ไม่เพียงแค่ผู้ใช้งานทั่วไป แต่ยังมีความต้องการจากแหล่งอื่นอย่างบ้านพักคนชรา และบริการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งในญี่ปุ่นเองก็มีกรณีศึกษาจาก Sompo Care บริษัทด้านการดูแลผู้สูงอายุที่มีการสั่งซื้อหุ่นยนต์ในบ้านจำนวนมากสำหรับใช้ในสำนักงานมากกว่า 10 สาขา เนื่องจากการระบาดของโควิด ทำให้พนักงานไม่อาจใกล้ชิดผู้สูงอายุได้เหมือนที่แล้วมา อีกทั้งยังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ซึ่งมักอาศัยในคอนโดหรืออพาร์ทเมนต์ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ โควิดยังทำให้ผู้สูงอายุหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านมากยิ่งขึ้น พบปะผู้คนน้อยลง จนหลายคนเกิดความเครียดสะสม และนำไปสู่ปัญหาในการใช้ชีวิต หรือทำให้โรคประจำตัวรุนแรงขึ้น ซึ่งทางบริษัทเล็งเห็นว่าหากสามารถใช้หุ่นยนต์แทนเพื่อน เพื่อบรรเทาความเครียดลงได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ mixi กลุ่มธุรกิจ IT จากญี่ปุ่นได้แสดงความเห็นว่า หุ่นยนต์สามารถนำมาใช้ในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยอื่น ๆ เช่น การนำหุ่นยนต์มาช่วยย้ำเตือนเรื่องต่าง ๆ 

หุ่นยนต์ “Petit Qoobo” จากบริษัท Yukai Engineering

Yukai Engineering ผู้ผลิตหุ่นยนต์ Petit Qoobo รายงานว่าเมื่อเดือนกันยายน 2021 ที่ผ่านมา หุ่นยนต์ยัดนุ่น “Petit Qoobo” ประสบความสำเร็จในการทำยอดขาย 30,000 ตัว เพิ่มขึ้นจากก่อนการระบาดของโควิดถึง 2 เท่า โดยจากผลสำรวจพบว่า Social Distancing ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการสัมผัสร่างกายคนอื่นมากขึ้น หุ่นยนต์ยัดนุ่นที่มีรูปร่างเหมือนตุ๊กตาจึงเริ่มได้รับความสนใจจากตลาดเพราะสามารถตอบโจทย์ในส่วนนี้ได้

อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์รุ่นนี้ยังมีปัญหาในการตั้งค่าที่ทำได้ยาก ทำให้ผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญด้าน IT ใช้งานไม่สะดวก ส่งผลให้หุ่นยนต์รุ่นนี้กลายเป็นของตกแต่งบ้านที่ไม่ต่างจากตุ๊กตาธรรมดา และจากที่ Petit Qoobo เป็นหุ่นยนต์ไม่ใช่ตุ๊กตาจึงต้องได้รับการบำรุงรักษาที่เหมาะสม หากจะให้หุ่นยนต์ประเภทนี้แพร่หลายมากขึ้น อาจจะต้องพัฒนาสินค้าให้ใช้งานง่าย หรือมีบริการหลังการขายเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า

หุ่นยนต์บริการ สำหรับร้านอาหาร แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน 

หุ่นยนต์บริการ สำหรับร้านอาหาร ก็เป็นอีกประเภทที่มีความต้องการมากขึ้นจากโควิด โดยที่ผ่านมาการใช้หุ่นยนต์ในธุรกิจร้านอาหารมักเป็นเพียงเพื่อดึงดูดความสนใจเป็นหลัก แต่ในช่วงของการระบาด ร้านอาหารหลายรายเริ่มหันมาติดตั้งหุ่นยนต์เพื่อลดความเสี่ยงจากโรค 

TechMagic ธุรกิจโซลูชันอัตโนมัติสำหรับร้านอาหาร ร่วมกับ CRISP แบรนด์สลัดผักในญี่ปุ่น พัฒนาหุ่นยนต์สำหรับทำสลัดผัก ซึ่งสามารถรับคำสั่งผ่านแอปพลิเคชันจากลูกค้าหรือพนักงานร้าน โดยหุ่นยนต์สามารถปรับเปลี่ยนส่วนผสม เครื่องปรุง และอื่น ๆ ให้รองรับการทำสลัดหลากหลายรูปแบบได้โดยอัตโนมัติ และมีกำหนดเริ่มนำมาใช้งานจริงในปี 2022

Nissin Foods ก็เป็นอีกบริษัทที่เริ่มพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับร้านแฟรนไชส์ และมีกำหนดเริ่มทดลองใช้งานในปี 2021 นี้

หุ่นยนต์ลวกเส้นบะหมี่

Connected Robot เป็นอีกบริษัทที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหุ่นยนต์บริการ โดยนำโคบอทส์ที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงสำหรับใช้งานในร้านอาหารและศูนย์อาหาร

Kohei Nishi กรรมการผู้จัดการ บริษัท Nichiwa Electric Corporation ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว แสดงความเห็นว่า แม้การระบาดของโควิดจะสิ้นสุดลง แต่ธุรกิจร้านอาหารจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากการเว้นระยะห่างในครัวที่ทำได้ยากในหลายธุรกิจ

นอกจากนี้ การทำอาหารหลายชนิดยังจำเป็นต้องใช้เวลาในการฝึกฝน ซึ่งเป็นไปได้ว่าร้านอาหารหลายร้านอาจประสบปัญหาในการหาพนักงานทดแทน จึงมั่นใจว่าในอนาคต ความต้องการหุ่นยนต์ในร้านอาหารจะเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่จำกัดแต่เพียงหุ่นยนต์บริการที่ทำอาหารได้ แต่รวมไปถึง AGV ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นหุ่นยนต์เดลิเวอรี่, หุ่นยนต์จัดเรียงสินค้าสำหรับร้านอาหารขนาดใหญ่, หุ่นยนต์ทำความสะอาด, และอื่น ๆ

หุ่นยนต์ล้างจานจาก Connected Robot 

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าหุ่นยนต์ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งสะท้อนได้จากในช่วงปี 2000 หลายแฟรนไชส์ในญี่ปุ่นทดลองนำทัชสกรีนมาติดตั้งที่โต๊ะให้ลูกค้าสั่งอาหารแทนการใช้พนักงานไปรับออเดอร์ แต่พบว่ามีค่าบำรุงรักษาสูง และยังจำเป็นต้องจ้างพนักงานเท่าเดิม จึงไม่เป็นที่แพร่หลายอย่างที่คาดการณ์ไว้

และปัญหานี้ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับร้านอาหารทั่วไป เนื่องจากต้นทุนอาหารที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หลายร้านไม่สามารถขึ้นราคาอาหารได้ ทำให้มีผลกำไรลดลง หรือกระทั่งการแข่งขันด้านราคาระหว่างร้านอาหารด้วยกันเอง

อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ร้านอาหารแบบ Walk-through และ Drive-through เนื่องจากหลายร้านเล็งเห็นว่า การลดพนักงานลงทั้งพนักงานเสิร์ฟและพนักงานทำความสะอาด ช่วยประหยัดต้นทุนในยุคโควิดได้เป็นอย่างมาก และสามารถนำค่าจ้างพนักงานที่ลดลงนี้ไปลงทุนในส่วนอื่นเพิ่มเติมได้ เช่น การทำแอปพลิเคชัน ซึ่งแม้จะไม่ใช่การลงทุนหุ่นยนต์โดยตรง แต่ก็อาจเป็นอีกโอกาสของธุรกิจด้านดิจิทัลที่จะเข้าไปจับจองลูกค้าเพิ่มได้

 

#หุ่นยนต์บริการ #Service Robot #Robot #Cobots #โควิด-19 #หุ่นยนต์ บริการ #ร้านอาหาร หุ่นยนต์ #หุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วย #หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ #สังคมผู้สูงอายุ #ขาดแคลนแรงงาน #อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ #M Report #mreportth #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH