Machine Tools 2021 - ชี้ช่องทำเงิน “เครื่องจักรกล ปี 2021” ตลาดอยู่ที่ไหน ทำอย่างไร

ชี้ช่องทำเงิน “เครื่องจักรกล ปี 2021” ตลาดอยู่ที่ไหน ทำอย่างไร

อัปเดตล่าสุด 19 ม.ค. 2564
  • Share :
  • 1,848 Reads   

♦ สมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรกลญี่ปุ่น (JMTBA) คาดว่ายอดสั่งซื้อเครื่องจักรกลในปี 2021 จะมีมูลค่าราว 11,560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด 

♦ เป็นที่คาดการณ์ว่า ในยุคของนายกฯ โยชิฮิเดะ ซูกะ ญี่ปุ่นจะสามารถฟื้นตัวเพิ่มขึ้นในภูมิภาคอื่นอย่างยุโรปและอินเดียได้

♦ ช่องทางออนไลน์ถูกยกระดับเป็นเครื่องมือการทำตลาดที่สำคัญของผู้ผลิตส่วนใหญ่

หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ในปี 2021 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลจะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้บรรดาผู้ผลิตรายใหญ่มีความเคลื่อนไหวเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่กำลังกลับเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาเสริมในตัวเครื่องจักร การส่งเสริมการขายทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ไปจนถึงการให้ความสำคัญกับตลาดที่มีศักยภาพ

สมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรกลญี่ปุ่น (Japan Machine Tool Builders’ Association หรือ JMTBA) ได้ประเมินยอดสั่งซื้อเครื่องจักรกลในปี 2020 ที่ผ่านพ้นไป คาดว่าจะปิดที่มูลค่าต่ำกว่า 1 ล้านล้านเยน หรือต่ำกว่า 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2021คาดว่ายอดสั่งซื้อเครื่องจักรกลจะกระเตื้องขึ้นใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดในปี 2019 โดยมีมูลค่ารวม 1.2 ล้านล้านเยน หรือราว 11,560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วงปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ยอดสั่งซื้อจากจีนที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องทำให้เครื่องจักรกลของญี่ปุ่นมีโอกาสพลิกฟื้นขึ้นมาได้บ้าง และได้มีการคาดการณ์ว่า ในยุคของรัฐบาลใหม่ภายใต้นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะ ญี่ปุ่นจะสามารถฟื้นตัวเพิ่มขึ้นในภูมิภาคอื่นอย่างยุโรปและอินเดียได้ โดยมีกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพคือกลุ่มผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และกลุ่มผู้ที่ต้องการเปลี่ยนมาทำงานทางไกล ในขณะที่การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ยังขึ้นกับปัจจัยภายนอกอีกมาก 

Mr. Masahiko Mori ประธานบริษัท DMG Mori Seiki กล่าวว่า กุญแจสำคัญที่จะกระตุ้นความต้องการเครื่องจักรกลหลังจากนี้คือ “กระบวนการผลิตที่เชื่อถือได้ ทำงานแบบอัตโนมัติ รองรับการผลิตที่หลากหลาย และมีความแม่นยำสูง”

แอปพลิเคชันของ JTEKT

Mr. Yukio Iimura ประธานสมาคม JMTBA และประธานบริษัท Shibaura Machine เปิดเผยว่า หลังจากนี้อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล และการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตจะเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากลูกค้าจะให้ความสำคัญกับการผลิตทั้งระบบมากขึ้น มากกว่าการพิจารณาเพียงแค่ตัวผลิตภัณฑ์ว่า เครื่องไหนแม่นกว่า เครื่องไหนเร็วกว่า ทำให้การขายผลิตภัณฑ์จะเปลี่ยนเป็นการนำเสนอระบบการผลิตแทน ดังนั้น กุญแจดอกนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ร่วมต่าง ๆ ทั้งเครื่องจักรกล (Machine Tools), หุ่นยนต์อุตสาหกรรม, และเครื่องมือวัด และแสดงความเห็นว่า 

Mr. Yukihisa Takayama เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท Makino เผยถึงพฤติกรรมของผู้ซื้อเครื่องจักรเปลี่ยนไปจากเดิมในช่วงการระบาดของโควิด โดยมีการค้นหาข้อมูลเครื่องจักรผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจซื้อมากขึ้น 

แนวโน้มเช่นนี้ทำให้ผู้ผลิตหลายรายจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ซื้อ โดยเริ่มหันมาใช้ช่องทางการขายเครื่องจักรผ่านเว็บไซต์ การเสนอขายทางไกล หนึ่งในผู้ผลิตเครื่องจักรรายงานถึงปัญหาจากการขายทางไกลคือ คาดเดาพฤติกรรมของลูกค้าได้ยาก อีกทั้งการเตรียมข้อมูลให้ลูกค้ายังยากกว่าการขายในยุคก่อนโควิดอีกด้วย นอกจากนี้ การตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องจักรกลผ่านช่องทางออนไลน์ยังมีข้อจำกัดอยู่

สาธิตเทคโนโลยีด้วยการถ่ายภาพการทำงานของเครื่องจักรให้ลูกค้ารับชม 
(ภาพจาก WEB OKUMA MACHINE FAIR)

Mr. Atsushi Ieki ประธานบริษัท Okuma แสดงความเห็นว่า การขายผ่านช่องทางออนไลน์ยังเป็นเรื่องไม่ง่าย ทางบริษัทฯ ได้มีการปรับตัวด้วยการจัดทำคู่มือเพิ่มเติมสำหรับฝ่ายขาย ไปจนวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยให้การตัดสินใจซื้อเป็นไปได้ง่ายขึ้น เช่น การทดสอบผลิตชิ้นงานตามความต้องการของลูกค้า และนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการผลิตเพื่อประกอบการตัดสินใจ

Mr. Shinji Kato เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท JTEKT เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าของสมาร์ทโฟน ยังมีส่วนช่วยให้การขายเครื่องจักรออนไลน์ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของเครื่องจักรให้ลูกค้าตามความต้องการ หรือการสั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่ง JTEKT ได้พัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นเอง ช่วยให้ผู้สนใจสินค้าจากต่างประเทศติดต่อเข้ามาได้ง่ายขึ้น และการสาธิตการทำงานของเครื่องจักรบนแอปพลิเคชันทำให้มีผู้สนใจสินค้าเพิ่มขึ้นจากการขายผ่านช่องทางปกติ นอกจากนี้ การเข้าร่วมงานจัดแสดงสินค้าออนไลน์ซึ่งมีผู้เข้าชมจำนวนมาก ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะเพิ่มยอดขายเครื่องจักร 

โชว์รูมใหม่ของ Brother Industries

Brother Industries ได้เปิดโชว์รูมแห่งใหม่ในช่วงโควิดที่ผ่านมา โดยจัดสรรให้มีพื้นที่ว่างภายในโชว์รูมมากขึ้น และเปิดให้บริการในฐานะโชว์รูมออนไลน์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และอยู่ระหว่างพิจารณาเปิดฐานการผลิตใหม่ในจีนและญี่ปุ่น

FUJI Corporation เซ็นสัญญากับบริษัท 6 รายในอเมริกาเหนือ เพื่อเจาะกลุ่มอากาศยาน เครื่องจักรทางการเกษตร และเครื่องจักรก่อสร้าง ด้วย Multi-Tasking Machine ที่จะเข้าสู่ตลาดในเดือนเมษายนนี้

Mr. Keiichi Nakajima ประธานบริษัท Citizen Machinery แสดงความเห็นว่า การลงทุนซื้อเครื่องจักรเป็นการลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องตัดสินใจให้ดีก่อนเลือกซื้อ ทำให้การลงทุนในช่วงโควิดมีความลำบากกว่าที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในท้ายสุด ธุรกิจที่จะเดินหน้าต่อก็ต้องมีการลงทุนเกิดขึ้น และสิ่งที่ผู้ผลิต และผู้ขายเครื่องจักรทำได้ในขณะนี้คือการพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อในท้ายสุด