หัวเรือใหม่แห่งโตโยต้า “โคจิ ซาโตะ” เผยทิศทางและนโยบายการบริหาร
Toyota ประกาศทิศทางและนโยบายการบริหารใหม่ ยก “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” และ “Mobility” เป็นหัวข้อหลัก พร้อมแผนเปิดตัวรถอีวี 10 รุ่นภายในปี 2026
วันที่ 7 เมษายน 2023 โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น จัดงานแถลงข่าวประกาศทิศทางและนโยบายการบริหารใหม่ภายใต้นายโคจิ ซาโตะ ที่ขึ้นนั่งตำแหน่ง CEO ตั้งแต่ 1 เมษายนที่ผ่านมา
Advertisement | |
นายโคจิ ซาโตะ กล่าวว่า โตโยต้าจะเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านสู่บริษัท Mobility ภายใต้พันธกิจ “Producing happiness for all” มุ่งสร้างความสุขให้ทุกคนผ่านการปกป้องสิ่งแวดล้อม และจะเป็นมากกว่าการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ “Beyond Zero” ซึ่งการไปสู่เป้าหมายนี้จำเป็นที่ยานยนต์ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน
โดยกำหนดให้ Carbon Neutrality และ Expanding the value of mobility เป็นสองหัวข้อหลักสู่แนวคิดโมบิลิตี้ของโตโยต้า (Toyota Mobility Concept)
Carbon Neutrality: มุ่งหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
โตโยต้าตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งจากการยกระดับการขายรถไฮบริด (HV) และเพิ่มตัวเลือกรถปลั๊กอินไฮบริด (PHV) และขยายไลน์อัพรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ (BEV) ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของยานยนต์โตโยต้าเมื่อเทียบกับปี 2019 ลง 33% ในปี 2030 และ 50% ในปี 2035
Image Credit: Toyota
นายฮิโรกิ นาคาจิมะ รองประธานกรรมการบริหาร เสริมว่า โตโยต้าจะยังมุ่งเน้นไปที่ความหลากหลายของยานยนต์ พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าให้สามารถตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกัน และมีแผนเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV)รวม 10 รุ่นภายในปี 2026 คิดเป็นยอดขายที่ปีละ 1.5 ล้านคัน
นอกจากนี้ โตโยต้ายังมีแผนเปิดตัว BEV ยุคใหม่ หรือ “next-generation BEV” ซึ่งจะมีแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพ วิ่งได้ระยะทางไกลสุดมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันถึงสองเท่า
ในอนาคตรถยนต์จะกลายเป็นรถยนต์ที่ชาญฉลาด หรือ “Intelligent car” ซึ่งจะพัฒนาทั้งเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย, มัลติมีเดีย, และเทคโนโลยีอื่น ๆ ซึ่งครอบคลุมไปถึงฟังก์ชันการอัปเดตยานยนต์ผ่านระบบปฏิบัติการณ์ที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ซึ่ง BEV ยุคใหม่ของโตโยต้า จะมาพร้อมคุณสมบัติการปรับแต่ง “ความรู้สึกในการขับขี่” ให้เข้ากับความต้องการของผู้ขับขี่ได้ เช่น การเลี้ยว การเบรก และอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ใช้มีความสุขในการขับรถยิ่งขึ้น
นายโยอิจิ มิยาซากิ รองประธานกรรมการบริหาร เสริมว่า โตโยต้าจะโฟกัส “bZ series” ควบคู่ไปกับการพัฒนา BEV ยุคใหม่ โดยมีกำหนดเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าโมเดลใหม่สำหรับตลาดจีน 2 รุ่นภายในปี 2024 และ 3-Row SUV สำหรับตลาดสหรัฐฯ ในปี 2025 ส่วนในเอเชียและตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ โตโยต้ามีแผนตอบรับความต้องการในตลาดเหล่านี้ด้วยรถปิคอัพและ BEV ขนาดเล็ก ซึ่งจะเริ่มการผลิตในช่วงปลายปีนี้
ฝั่งรถปลั๊กอินไฮบริด โตโยต้ามีแผนพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้รถสามารถวิ่งด้วยแบตเตอรี่เป็นระยะทางมากกว่า 200 กิโลเมตร ตั้งเป้าพัฒนารถปลั๊กอินไฮบริดให้เป็น “BEV ที่ใช้งานได้จริง”
ด้านรถไฮบริด โตโยต้าจะมุ่งไปที่การพัฒนายานยนต์กลุ่มนี้ให้มีราคาเอื้อมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านพลังงานในแต่ละภูมิภาค
และรถเซลล์พลังงานเชื่อเพลิง (FCEV) โตโยต้าจะมุ่งไปที่การพัฒนายานยนต์เชิงพาณิชย์ เลือกใช้ไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงาน เพื่อให้ยานยนต์กลุ่มนี้มีน้ำหนักเบาลงและใช้พื้นที่น้อยกว่าแบตเตอรี่ สามารถวิ่งเป็นระยะทางไกลขึ้น อีกทั้งยังสามารถเติมเชื้อเพลิงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งโตโยต้ามีแผนร่วมมือกับธุรกิจต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการใช้รถบรรทุก FCEV อีกด้วย
Image Credit: Toyota
นายโยอิจิ มิยาซากิ อธิบายว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว ตลาดจะเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาตลาดจะมีการเติบโตจากความต้องการยานยนต์ที่ขยายตัว ซึ่งตัวเลือกยานยนต์ของโตโยต้าที่หลากหลายจะสามารถทำรายได้ให้กับบริษัทจากความต้องการเหล่านี้
ไม่เพียงแต่ด้านเทคโนโลยีเท่านั้น โตโยต้ายังมีแผนปรับปรุงระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System: TPS) ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดกระบวนการต่าง ๆ ลงครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ได้สายการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อเพื่อทำการตรวจสอบคุณภาพอัตโนมัติ และการลำเลียงแบบไร้คนขับ พร้อมตั้งเป้าว่า โรงงานของโตโยต้าทั่วโลกจะบรรลุเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2035
Expanding the value of mobility: การเพิ่มมูลค่าของโมบิลิตี้
อีกหนึ่งหัวข้อหลักภายใต้แนวทางการบริหารใหม่ คือ การขยายขอบเขตมูลค่าให้กับโมบิลิตี้ โดยระบุว่ารถยนต์ในอนาคตจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ใช้ไฟฟ้ายิ่งขึ้น ฉลาดยิ่งขึ้น และหลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งโตโยต้าจะใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้า (Electrification) และเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ (Connected Technologies) เข้ามาพัฒนายานยนต์ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม
ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่าน ผู้คนกำลังย้ายออกจากภาคการผลิต อีกทั้งธุรกิจยังมีต้นทุนที่มากขึ้น นำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โตโยต้าจึงมีแผนผนวกทักษะของผู้เชี่ยวชาญในไซต์งานเข้ากับเทคโนโลยีอัจฉริยะ นำเสนอวิธีการผลิตใหม่และกระบวนการ "อัตโนมัติด้วยปัญญาของมนุษย์"
ส่วนในไทย โตโยต้าได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) และปูนซิเมนต์ไทย (SCG) เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา
สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความท้าทายในการแก้ปัญหาระดับภูมิภาค เช่น ปัญหาการจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศ และอุบัติเหตุบนท้องถนนบ่อยครั้ง โตโยต้าเชื่อว่าวิธีการนี้เป็นวิธีหนึ่งในการทำให้แนวคิดของโมบิลิตี้เกิดขึ้นได้จริง
Toyota Mobility Concept : แนวคิดโมบิลิตี้ของโตโยต้า
โตโยต้าได้พัฒนาวิสัยทัศน์จากสองหัวข้อหลักข้างต้นสู่การพัฒนายานยนต์ให้มีประโยชน์ต่อสังคมมากยิ่งขึ้นผ่านองค์ความรู้ที่สะสมมาอย่างยาวนาน ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงให้โตโยต้าไปสู่บริษัทแห่งการขับเคลื่อนในสามพื้นที่
Mobility 1.0: เปลี่ยนยานยนต์เป็นโมบิลิตี้
การเพิ่มมูลค่าเพิ่มของยานยนต์ด้วยการเชื่อมต่อการเคลื่อนไหวประเภทต่าง ๆ เช่น BEV นำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ในการคมนาคมด้วยรถยนต์ไฟฟ้าและเป็นกริดพลังงานไปในตัวเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของสังคม นอกจากนี้ โตโยต้ายังมีแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ “Arene” ที่จะช่วยให้ยานยนต์ฉลาดยิ่งขึ้น ผ่านการเชื่อมต่อฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เพื่อให้ยานยนต์สามารถเชื่อมต่อเข้ากับแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้อีกด้วย
Mobility 2.0: โมบิลิตี้ต้องเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
โตโยต้าเผยว่ามีคนมากมายที่ไม่สามารถเข้าถึงโมบิลิตี้ได้ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และผู้คนในตลาดเกิดใหม่ซึ่งตลาดรถยนต์ยังไปไม่ถึง ซึ่งโตโยต้าวางแผนพัฒนาโมบิลิตี้ให้เข้าถึงได้มากยิ่งขึ้นด้วยเครือข่ายในอุตสาหกรรม และตัวเลือกโมบิลิตี้ใหม่ ๆ เช่น e-Palette และ MaaS ไปจนถึงตัวเลือกอื่น ๆ เช่นการเดินทางทางอากาศ
Mobility 3.0: โมบิลิตี้จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
การผสาน Mobility เข้ากับสังคม สร้างอีโคซิสเต็มที่เชื่อมพลังงาน ระบบคมนาคม โลจิสติกส์ และวิถีชีวิตเข้ากับเมือง เช่น การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ใหม่, ระบบโมบิลิตี้อัตโนมัติที่ผสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมือง, ซัพพลายเชนไฮโดรเจน, และอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบัน เทคโนโลยีเหล่านี้อยู่ระหว่างการทดลองใน “Woven City” และมีเป้าหมายเร่งพัฒนาเพื่อนำมาสาธิตความเป็นไปได้ในเมืองจริงตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป
#โตโยต้า #โคจิซาโตะ #รถยนต์ไฟฟ้า #โมบิลิตี้ #Mobility #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ในไทย ปี 2565
- ครม. อนุมัติงบอุดหนุนรถ BEV 18,000 - 150,000 บาท/คัน
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- 17 อุตสาหกรรมแนวโน้มเติบโตในปี 2566
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH