Tesla ไม่เชื่อหุ่นยนต์ หันพึ่งเครื่องฉีดไดคาสติ้งอะลูมิเนียม

Tesla เลิกใช้ "หุ่นยนต์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต" หันพึ่ง "เครื่องฉีดไดคาสติ้งอะลูมิเนียม"

อัปเดตล่าสุด 25 ก.ย. 2563
  • Share :

กล่าวกันว่า หุ่นยนต์คืออนาคตของอุตสาหกรรมการผลิต เป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ เมื่อเทสล่า (Tesla)  ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรง กลับไม่บรรลุผลในการใช้หุ่นยนต์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยหันพึ่ง "เครื่องฉีดอะลูมิเนียมไดคาสติ้ง" เพื่อผลิตชิ้นส่วนที่ออกแบบให้เรียบง่ายขึ้นและมีจำนวนชิ้นที่น้อยลง

ตั้งแต่ปี 2017 อีลอน มัสก์ CEO บริษัท Tesla ได้วาดแผนพัฒนาโรงงานประกอบยานยนต์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ให้เป็นโรงงานแห่งอนาคต ด้วยการใช้หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่คนงาน เพื่อลดค่าแรง และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน อย่างไรก็ตาม มีข่าวจาก Business Insider ในเดือนพฤษภาคม 2020 อ้างอิงแหล่งข่าวซึ่งเป็นพนักงานในสายการผลิตของโรงงานแห่งนี้รวม 10 รายว่า Tesla ประสบปัญหาการใช้หุ่นยนต์ในสายการผลิตทำงานขัดข้องประมาณวันละสองครั้งนับแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน โดยปัญหาเกิดขึ้นในหลายส่วนงาน เช่น การพ่นสี การประกอบ การเชื่อมโลหะ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าปัญหาการใช้หุ่นยนต์ของ Tesla อาจมาจากการไม่ให้ความสำคัญกับช่างซ่อมบำรุง รวมถึงการบำรุงรักษาเครื่องจักรมากนัก ทำให้เมื่อเกิดปัญหาจึงจำเป็นต้องหยุดสายการผลิตเป็นระยะเวลานาน 

ถัดมาในวันที่ 8 กันยายน 2020 รอยเตอร์ได้รายงานข่าวในประเด็นเดียวกันนี้ โดยมีข้อมูลเพิ่มเติมว่าในโรงงานรัฐเนวาดา ประสบปัญหาหุ่นยนต์ทำงานไม่ได้ตามต้องการ ทำให้บริษัทไม่สามารถเพิ่มกำลังผลิตได้ตามแผน แหล่งข่าวยังระบุเพิ่มเติมถึง แผนแทนที่หุ่นยนต์หลายร้อยตัวด้วยเครื่องฉีดไดคาสติ้งอะลูมิเนียม (Aluminium Die Casting Machines) ขนาดใหญ่ ซึ่งจะถูกใช้ในการผลิตชิ้นส่วนกว่า 70 ชิ้นของ Model Y  ซึ่งอีลอน มักส์ได้รีทวิตเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ มีรายงานเพิ่มเติมว่า โรงงานใหม่ของ Tesla ในประเทศเยอรมนี จะติดตั้งเครื่องฉีดไดคาสติ้งอะลูมิเนียมขนาดใหญ่ทั้งหมด 8 เครื่อง และมีแผนลดจำนวนชิ้นส่วนยานยนต์ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้สามารถฉีดขึ้นรูปชิ้นส่วนออกมาได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยสายการผลิตที่โรงงานเยอรมันจะสามารถผลิตยานยนต์ได้พร้อมกัน 8 คัน และมีแผนรองรับพนักงาน 40,000 ตำแหน่งภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมากกว่าโรงงานปัจจุบันที่แคลิฟอร์เนียถึง 4 เท่า อย่างไรก็ตาม Tesla ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม จึงยังไม่แน่ชัดว่าจะเริ่มแทนที่หุ่นยนต์เมื่อไหร่

แม้จะยังไม่มีข้อมูลโดยละเอียดและกำหนดการชัดเจน แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าการที่หนึ่งในธุรกิจไฟแรงของโลกได้หันมาใช้เครื่องฉีดไดคาสติ้ง เพื่อผลิตชิ้นส่วนที่ออกแบบให้เรียบง่ายขึ้นและมีจำนวนชิ้นที่น้อยลง นำสู่การลดจำนวนหุ่นยนต์ในสายการผลิตลง อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณที่ย้ำว่าหุ่นยนต์ไม่ใช่คำตอบเดียวของสายการผลิตประสิทธิภาพสูงเสมอไปก็เป็นได้