โควิด-19 สร้างโอกาสใหม่ให้ “อุตสาหกรรมหุ่นยนต์” จากภาคการผลิต สู่ภาคสังคม

โควิด-19 สร้างโอกาสใหม่ให้ “อุตสาหกรรมหุ่นยนต์” จากภาคการผลิต สู่ภาคสังคม

อัปเดตล่าสุด 13 ม.ค. 2564
  • Share :
  • 1,005 Reads   

♦ โควิดกระตุ้นความต้องการหุ่นยนต์ทั้งในภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจอื่น ๆ ในภาคสังคม
♦ นวัตกรรมสำหรับใช้ในโรงพยาบาล บ้านพักคนชรา ร้านอาหาร และสถานศึกษา เกิดขึ้นอย่างหลากหลายในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

ตลอดปี 2020 การระบาดของโควิด-19 นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วน ซึ่งอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากขึ้นจากการนำหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาแทนที่แรงงานในสายการผลิต อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่โรงงานเท่านั้น แต่ธุรกิจอื่น ๆ ยังมีแนวโน้มจะนำหุ่นยนต์มาใช้เพื่อป้องกันการระบาดที่ยังไม่สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ผลิตหุ่นยนต์หลายรายจึงเล็งเห็นโอกาสและเร่งพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ  โดยในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตหุ่นยนต์ค่ายญี่ปุ่น ได้เปิดตัวหุ่นยนต์ที่น่าสนใจไว้ ดังนี้

หุ่นยนต์ทางการแพทย์

PATORO หุ่นยนต์แบบ AGV สำหรับฆ่าเชื้อโรค

"PATORO” หุ่นยนต์แบบ AGV สำหรับฆ่าเชื้อโรค

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เป็นหนึ่งในถูกคาดการณ์ว่าจะต้องการหุ่นยนต์มากขึ้น ซึ่งนอกจากหุ่นยนต์ทางการแพทย์โดยตรงอย่างหุ่นยนต์ผ่าตัดแล้ว การพยาบาลและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ยังเป็นอีกกลุ่มที่มีแนวโน้มต้องการหุ่นยนต์เช่นเดียวกัน ซึ่งในช่วงปลายปี 2020 รัฐบาลญี่ปุ่นร่วมกับกรุงโตเกียวได้เรียกร้องให้ประชาชนงดรวมกลุ่มเพื่อป้องกันการระบาด อย่างไรก็ตาม ในสถานพยาบาล และบ้านพักคนชรา การรวมกลุ่มเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะในด้านสภาพจิตใจของผู้ป่วย และผู้สูงอายุ ซึ่งการไม่ได้พบหน้าครอบครัวหรือคนรู้จักอาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพอื่น ๆ จากความเครียด แม้กระทั่งประชาชนในแถบชนบทที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ยาก และผู้ป่วยสภาวะสมองเสื่อม ซึ่งหลายฝ่ายแสดงความเป็นกังวลอย่างยิ่ง

Cyberdyne หนึ่งในผู้ผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์จากประเทศญี่ปุ่น มีผลงานโดดเด่นจาก “HAL (Hybrid Assistive Limb)” หุ่นยนต์แบบสวมใส่สำหรับการทำกายภาพบำบัด ร่วมกับ YUKAI Engineering ผู้พัฒนาหุ่นยนต์สื่อสาร เปิดให้บริการหุ่นยนต์ให้เช่า นำหุ่นยนต์ “Bocco” มาใช้งานในฐานะหุ่นยนต์เพื่อนคุย หรือการนำ HAL ไปใช้เป็นหุ่นยนต์สอนแอโรบิก ซึ่งทั้งคู่สามารถปรับแต่งซอฟต์แวร์ให้เหมาะกับผู้ใช้ได้ เช่น การเลือกเพลงประกอบการเต้นแอโรบิกตามรสนิยมผู้ใช้ ไปจนถึงการปรับแต่งเป็นหุ่นยนต์ผู้ดูแลที่คอยเตือนให้ผู้ป่วยทานยาในเวลาที่กำหนด

อีกไอเดียหนึ่งคือ “PATORO” หุ่นยนต์แบบ AGV (Automated Guided Vehicle) สำหรับโรงพยาบาลซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง ZMP, Smart Robotics, tmsuk, และ Cyberdyne ซึ่งได้ติดตั้งหัวฉีดแอลกอฮอล์ และหลอด UV-C สำหรับการฆ่าเชื้อ เพื่อใช้ฆ่าเชื้อในโรงพยาบาลแทนพนักงาน และใช้งานในช่วงเวลากลางคืนที่มีคนน้อย ซึ่งนอกจากจะช่วยฆ่าเชื้อแล้ว พบว่าการนำหุ่นยนต์รุ่นนี้มาใช้ยังช่วยสร้างความไว้วางใจให้กับผู้มาเยี่ยมโรงพยาบาลได้อีกด้วย

หุ่นยนต์สำหรับโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหาร

หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารจาก QBIT Robotics (สถานีรถไฟ Futako-Tamagawa, จังหวัดโตเกียว)

หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารจาก QBIT Robotics (สถานีรถไฟ Futako-Tamagawa, จังหวัดโตเกียว)

หากจะกล่าวว่าธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหาร คือหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากโควิดก็ไม่เกินไปนัก QBIT Robotics ผู้พัฒนาแขนหุ่นยนต์ จึงเล็งเห็นช่องทางในตลาดนี้ และทำการทดลองใช้หุ่นยนต์แทนพนักงานเสิร์ฟอาหารในร้านอาหารกลางกรุงโตเกียวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2020 ซึ่งหุ่นยนต์จะวิ่งไปตามโต๊ะที่ถูกกำหนดไว้โดยอาศัยเซ็นเซอร์บนเพดานร้านเป็นตัวนำทางโดยอัตโนมัติเพียงแค่พนักงานกดเลขโต๊ะเท่านั้น ซึ่งจากทางทดลองใช้พบว่าอีกประโยชน์ที่คาดไม่ถึงคือมีการสั่งอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่ลูกค้าไม่ต้องเกรงใจพนักงานเสิร์ฟ

หุ่นยนต์ลวกเส้นโซบะจาก Connected Robotics

หุ่นยนต์ลวกเส้นโซบะจาก Connected Robotics

รายถัดมาคือ Connected Robotics ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับลวกเส้นโซบะ ซึ่งปัจจุบันถูกทดสอบใช้งาน โดยออกแบบให้มีขนาดเล็กและติดตั้งบนกำแพงได้เพื่อให้ประหยัดพื้นที่ สามารถลวกเส้น ล้างเส้น ไปจนถึงแช่เส้นในน้ำเย็ได้โดยอัตโนมัติ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ช่วยให้พนักงานไม่ต้องสัมผัสน้ำร้อนโดยตรง และนำเวลาที่ว่างจากงานไปใช้บริการลูกค้าด้านอื่น ๆ 

อีกรายหนึ่งคือ AndroboGroup ซึ่งอยู่ระหว่างทดลองใช้หุ่นยนต์ขายอาหารและเครื่องดื่มในสถานีรถไฟเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ซึ่งหุ่นยนต์สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีไร้สาย หรือสามารถวิ่งไปหาลูกค้าที่กดรีโมทเรียกได้ด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคของหุ่นยนต์ในภาคธุรกิจนี้คือ “ราคา” เนื่องจากในสภาวะที่ธุรกิจซบเซา การจัดหาหุ่นยนต์จึงเป็นเรื่องยากเป็นอย่างยิ่ง และหุ่นยนต์ให้เช่าใช้ส่วนใหญ่มักเป็นสัญญาระยะยาว ซึ่ง Mr. Hiroya  Nakano ประธานบริษัท QBIT Robotics กล่าวแสดงความเห็นว่าในธุรกิจร้านอาหารนั้น หากอาหารแพงกว่าร้านอื่นเพียงเล็กน้อย ลูกค้าก็อาจเลือกทานที่ร้านอื่นแทนได้ อุปสรรคของผู้พัฒนาจึงอยู่ที่ว่า จะพัฒนาอย่างไรจึงจะได้หุ่นยนต์ที่มีราคาถูก และเปิดเผยว่าในเดือนมกราคม 2021 นี้เอง ที่ SoftBank Robotics เข้าสู่ตลาดหุ่นยนต์ให้เช่า ด้วยค่าเช่าเพียงราว 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งหากไม่สามารถทำให้หุ่นยนต์ให้เช่ามีราคาถูกเช่นนี้ได้ ก็จะเป็นเรื่องยากที่ธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหารจะสนใจ 

นอกจากนี้ อีกอุปสรรคคือการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตด้วยกันเอง ซึ่งในตลาดหุ่นยนต์ให้เช่า จีนและไต้หวันมีความได้เปรียบเหนือกว่าญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยในการใช้งานก็เป็นอีกสิ่งที่ผู้ใช้งานมีความกังวล ด้วยเหตุนี้เอง บริการดูแลรักษา และบริการหลังการขายจึงเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญ

และท้ายสุด คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่หลายคนเลือกซื้ออาหารกลับบ้านแทนนั่งทานที่ร้าน และอาหารแบบฟาสต์ฟู๊ด ซึ่งอาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมีน้ำมันมากทำให้หุ่นยนต์หยิบจับได้ยาก และหากทำใหม่ก็จะมีปัญหาเรื่องความสะอาดเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่ง Mr. Taiki Sato COO บริษัท Connected Robotics  แสดงความเห็นว่าการนำหุ่นยนต์เข้าใช้ยังคงมีกำแพงกั้นอยู่ ไปจนถึงข้าวกล่องซึ่งหากใช้หุ่นยนต์หยิบจับด้วยความเร็วสูงก็อาจทำให้อาหารภายในกล่องขยับไปมาจนเลอะเทอะ และต้องใช้เวลาอีกมากจึงจะโปรแกรมให้หุ่นยนต์ให้แยกแยะการหยิบจับอาหารกล่องแต่ละชนิดได้ด้วยความเร็วที่เหมาะสม โดยเฉพาะในกรณีที่อาหารกล่องเป็นเมนูของทางร้านแทนอาหารสำเร็จรูปตามร้านสะดวกซื้อ อย่างไรก็ตาม ก็มีอีกความเป็นไปได้ คือการนำมาใช้หยิบจับทั่วไป เช่น หยิบกล่องข้าวสวย เส้นบะหมี่ หรือขนมปังแฮมเบอเกอร์ แล้วให้พ่อครัวประกอบอาหารต่ออีกทีก่อนแพ็คใส่กล่อง ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับหุ่นยนต์ชงกาแฟ

หุ่นยนต์เพื่อการศึกษา

Unibo Sensei หุ่นยนต์สอนหนังสือสำหรับเด็กประถม

“Unibo Sensei” หุ่นยนต์สอนหนังสือสำหรับเด็กประถม

ในช่วงการระบาดของโควิด บริษัท Solution Gate เล็งเห็นว่าการป้องกันโรคได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงการศึกษาไปจากเดิมเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้สอนไม่สามารถสอนได้ในห้องเรียน และเปลี่ยนมาเป็นการเรียนการสอนทางไกลผ่านช่องทางออนไลน์แทน ซึ่งสำหรับผู้ใหญ่ หรือเด็กโตแล้วไม่ใช่ปัญหานัก แต่สำหรับเด็กเล็กซึ่งเป็นวัยที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ การเรียนการสอนออนไลน์ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเด็กและผู้สอนเป็นอย่างมาก และมีเด็กจำนวนมากที่ไม่สามารถทำความเข้าใจบทเรียนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาอย่างคณิตศาสตร์ ซึ่งหากเด็กไม่เข้าใจพื้นฐานเช่นการคูณ หาร หรือกราฟ ก็จะไม่สามารถเรียนรู้บทเรียนขั้นถัดไป และอาจกลายเป็นปัญหาได้ในระยะยาว การแก้ปัญหานี้จึงกลายเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสนใจในช่วงปีที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้เอง ทางบริษัทจึงพัฒนา Unibo Sensei หุ่นยนต์ขนาดเล็กที่สามารถวางบนโต๊ะได้สำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถม โดยออกแบบให้ทำหน้าที่พูดโต้ตอบกับเด็กได้ และมีจอภาพที่ส่วนหัวแทนที่กระดานดำ สำหรับใช้ในการเรียนการสอนแบบตัวต่อตัว และใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย

Mr. Hirobumi Suzuki ประธานบริษัท Solution Gate แสดงความเห็นว่า ปัจจุบัน ในตลาดมีสื่อการเรียนการสอนอยู่มาก ซึ่งสมาร์ทโฟน และคลิปวีดีโอ ก็สามารถใช้สอนเด็กได้ แต่ทางบริษัทได้เลือกพัฒนาหุ่นยนต์ที่โต้ตอบได้ เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากผู้เรียน และผู้สอนตอบโต้กันได้ก็จะมีประสิทธิภาพในการเรียนสูงกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีผลการเรียนทั่วไป และตั้งเป้านำเสนอหุ่นยนต์รุ่นนี้ให้สถานศึกษาจัดหาไปใช้งาน