วัตถุดิบ ขึ้นราคา

ติดตาม 'วัตถุดิบ' ราคาพุ่ง หลังจีนเจอวิกฤตขาดแคลนพลังงาน

อัปเดตล่าสุด 11 ต.ค. 2564
  • Share :
  • 1,567 Reads   

ท่ามกลางปัญหามากมายในปีนี้ ทำให้ผู้ผลิตต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งราคาวัตถุดิบที่พุ่งทะยานก็เป็นอีกปัญหาและกำลังถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตพลังงานในจีนที่ส่อแววไม่จบง่าย

Advertisement

หลังจากที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้ได้มากที่สุดก่อนปี 2030 ทำให้รัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าและการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งสวนทางกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

คำสั่งคุมเข้ม 2 ครั้งในเดือนมิถุนายนและเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินราว 60% ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเต็มกำลังจนเกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในจีน

ในช่วงเดือนกันยายน 2021 ถ่านหินจีนมีราคาเฉลี่ยขึ้นไปอยู่ที่ 1,137 หยวน หรือราว 212 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ตัน สูงกว่าช่วงต้นปี 40% และเป็นราคาถ่านหินที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์จีน อีกทั้งประเทศจีนยังใช้ถ่านหินที่ผลิตภายในประเทศมากถึง 90% ซึ่งเมื่อผนวกกับการระบาดของโควิดที่ทำให้ผลิตถ่านหินได้น้อยลงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2020 ทำให้ภาคการผลิตจำเป็นต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

Magnesium และ Metallic Silicon ราคาพุ่ง แพงกะทันหัน

แมกนีเซียม หนึ่งในวัสดุที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นนี้เอง ทำให้การผลิต Magnesium และ Metallic Silicon ได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบรุนแรงที่สุด เนื่องจากในกระบวนการผลิตวัสดุทั้งสองชนิดนี้ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาล 

ราคาส่งออก Magnesium จากจีนในเดือนกันยายนอยู่ที่ตันละ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมถึง 2 เท่า และราคาส่งออก Metallic Silicon อยู่ที่ตันละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 3 เท่า

ราคา Magnesium และ Metallic Silicon ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างกะทันหันได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก เพราะเกือบ 80% ของวัตถุดิบทั้งสองชนิดนี้ผลิตในจีน 

นอกจากนี้ Magnesium และ Metallic Silicon ยังเป็นวัตถุดิบที่จะใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หลายชนิด โดยนำไปผสมกับอะลูมิเนียมอัลลอยด์  จึงเป็นที่คาดการณ์ว่า ผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จะเป็นอุตสาหกรรมต่อไปที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้

ผู้ผลิตอะลูมิเนียม Tier 2 ในญี่ปุ่นแสดงความเห็นว่า ปัจจุบันการจัดหา Magnesium และ Metallic Silicon สำหรับการผลิตในไตรมาสที่ 4 เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากการจัดหาวัตถุดิบทดแทนจากประเทศอื่นทำได้ยาก โดยเฉพาะในช่วงโรคระบาดและวิกฤตซัพพลายเชนเช่นนี้ 

อะลูมิเนียมขึ้นราคา ทองแดงยังราคาสูงแม้เริ่มชะลอตัว

ความต้องการทองแดงเริ่มชะลอตัวลงทีละน้อย

การผลิตอะลูมิเนียมเป็นอีกอุตสาหกรรมที่จะถูกกระทบ เพราะนอกจากอะลูมิเนียมอัลลอยด์จะถูกนำไปผสมกับ Magnesium และ Metallic Silicon แล้ว ในกระบวนการผลิตอะลูมิเนียมจำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมาก ซึ่งราคาอะลูมิเนียมในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และวัสดุก่อสร้าง เริ่มปรับตัวสูงขึ้นแล้ว

สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังนับว่ามีโชคอยู่บ้าง เนื่องจากก่อนหน้านี้จีนได้เกิดปัญหาทองแดงราคาแพง ทำให้หลายบริษัทปรับลดกำลังการผลิต หรือเริ่มจัดหาทองแดงจากแหล่งอื่น ไปจนถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในบางประเทศทำให้ความต้องการลดลง จึงทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สามารถรับมือการขึ้นราคาของอะลูมิเนียมได้ดีกว่าอุตสาหกรรมอื่น

โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ราคาอะลูมิเนียมในตลาดโลกสูงกว่าต้นปีราว 40% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมแสดงความเห็นว่าเป็นไปได้ยากที่ราคาจะลดลงหากจีนยังประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า

ส่วนราคาทองแดงสูงกว่าต้นปีราว 20% และมีแนวโน้มจะลดลงตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามต่อไปว่าความต้องการฮีทเตอร์ในหลายภูมิภาคช่วงปลายปีจะทำให้ราคาทองแดงสูงกลับขึ้นมาอีกครั้งหรือไม่

แนวโน้มการขาดแคลนพลังงาน 

ก๊าซธรรมชาติกำลังมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ภาพเรือขนส่งก๊าซ  LNG)

แนวโน้มการขาดแคลนพลังงานอาจลุกลามไปทั่วโลกตามความเข้มข้นของมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและความต้องการของตลาด ไปจนถึงการขึ้นค่าไฟฟ้าเพื่อรักษาผลกำไรให้บริษัทเติบโตได้ในยุควิกฤตจากโควิด โดยปัจจุบันราคาของก๊าซธรรมชาติในจีนและยุโรปเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความล้าช้าในการผลิตและลำเลียงก๊าซ LNG ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิด จึงต้องจับตามองว่าในอนาคตตลาดพลังงานจะเป็นอย่างไร และจะส่งผลต่อภาคการผลิตอย่างไร

แม้นานาประเทศจะมีความพยายามเข้าสู่ยุคปลอดคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หากยังไม่สามารถจัดหาพลังงานทดแทนได้ การใช้พลังงานไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนก็ยังมีความจำเป็น จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างคุ้มค่า หรือการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็อาจมีความสำคัญมากกว่าที่แล้วมาก็เป็นได้ 

Masahiro Ichikawa หัวหน้านักยุทธศาสตร์จาก Sumitomo Mitsui DS Asset Management แสดงความเห็นว่า จีนมีท่าทีให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาระยะกลาง และปัญหาระยะยาวมากกว่าปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงคาดการณ์ว่า GDP จีนในปี 2021 นี้จะเติบโตที่ 8% ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 8.3%

อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ว่าการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าอาจกลายเป็นปัญหาระยะยาวในจีนเช่นเดียวกัน เนื่องจากในทุกวันนี้การใช้พลังงานมีแต่จะเพิ่มขึ้น ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม แต่ในอีกด้านหนึ่ง Daiwa Institute of Research แสดงความเห็นว่า การขาดแคลนพลังงานอาจแก้ไขได้เร็วกว่าที่คาดหากมีการออกนโยบายสนับสนุนค่าไฟในภาคอุตสาหกรรมการผลิต หรือมาตรการลดการใช้ไฟฟ้าจากภาครัวเรือน ไปจนถึงเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานอื่นเช่นก๊าซธรรมชาติเข้ามาทดแทน



#วิกฤตพลังงานจีน #วิกฤตขาดแคลนพลังงาน  #จีนลดการใช้พลังงาน #ลดการปล่อย co2 #วัตถุดิบขึ้นราคา#จีน #Material Shortages 2021 #ผลกระทบ COVID-19 ต่อธุรกิจ  #M Report #mreportth #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH