ภาคอุตสาหกรรมสั่นกระดิ่ง “เลิกขายรถยนต์เบนซิน” อาจทำญี่ปุ่นเพลี่ยงพล้ำ

ภาคอุตสาหกรรมสั่นกระดิ่ง “เลิกขายรถยนต์เบนซิน” อาจทำญี่ปุ่นเพลี่ยงพล้ำ

อัปเดตล่าสุด 18 ม.ค. 2564
  • Share :
  • 718 Reads   

♦ นโยบายยุติการขายรถยนต์เครื่องยนต์เบนซินในประเทศ ภายในปี 2030-2040 ได้ถูกหยิบยกเป็นประเด็นร้อน 
♦ สร้างผลกระทบวงกว้างต่ออุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นโดยรวม และความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ
♦ เหล่าบิ๊กอุตสาหกรรมญี่ปุ่นชี้ “การออกนโยบายสิ่งแวดล้อม” อาจทำญี่ปุ่นเพลี่ยงพล้ำ

หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศนโยบายยุติการขายรถยนต์เครื่องยนต์เบนซินภายในประเทศภายในช่วงปี 2030 - 2040 เพื่อกระตุ้นการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EV) และรถยนต์ไฮบริด (Hybrid Vehicles: HV) ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์พบว่า นโยบายนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ไม่เพียงแต่ในกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ แต่รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นโดยรวม และความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ

Advertisement

 

ก่อนหน้านี้ Mr. Akio Toyoda ประธานสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่นและประธานบริษัทโตโยต้า กล่าวถึงการยุติการขายรถยนต์เครื่องยนต์เบนซินในประเทศญี่ปุ่นจะเป็นผลดีต่อบริษัท แต่หากพิจารณาถึงเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 ตามแนวทางของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะ ญี่ปุ่นจำเป็นต้องพัฒนาตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการกำจัดซากยานยนต์ การรีไซเคิลก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยุโรปและจีนกำลังเร่งเดินหน้าในขณะนี้ โดยปัจจุบันค่ายรถฝรั่งเศสมีความก้าวหน้าในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงกว่ารถญี่ปุ่น ดังนั้น แนวทางเช่นนี้อาจมีความเสี่ยงต่อประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างมากในการเพลี่ยงพล้ำกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ 

เห็นได้จากกรณีตัวอย่างของการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดกระบวนการผลิตรถ Yaris ในโรงงานประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานที่แตกต่างกับการผลิตรถ Yaris ในโรงงานประเทศฝรั่งเศส และแน่นอนว่าหากมีการออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นในอนาคต การส่งออกยานยนต์ที่ผลิตในโรงงานประเทศญี่ปุ่นก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย 

จากผลสำรวจของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่นพบว่า หากปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว ประเทศญี่ปุ่นจะต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 10 - 15% และจะมีไฟฟ้าไม่เพียงพอในช่วงฤดูร้อนที่มีปริมาณการใช้สูงสุด อีกทั้งโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งโรงงานยังใช้พลังงานไฟฟ้าเทียบเท่า 5,000 ครัวเรือน ซึ่ง Mr. Akio Toyoda แสดงความเห็นว่า หากรัฐบาลไม่มีนโยบายด้านพลังงานที่สามารถสนับสนุนความต้องการนี้ได้ อุตสาหกรรมยานยนต์ก็จะประสบปัญหาครั้งใหญ่อย่างแน่นอน

Mr. Eiji Hashimoto ประธานสมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าญี่ปุ่นและประธานบริษัท Nippon Steel แสดงความเห็นว่า หากพิจารณาถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟในอนาคตแล้ว ก็อยากให้รัฐบาลญี่ปุ่นพิจารณาการใช้งานโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะที่ Mr. Hiroaki Nakanishi ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นเสริมว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่า และจำเป็นต้องพิจารณาการนำมาใช้โดยคำนึงถึงภาพรวมเป็นหลัก

สมาคมผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่นย้ำปิดท้ายถึงสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ พลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้ก้าวหน้าต่อไปได้