ญี่ปุ่นใส่เกียร์เดินหน้า สามัคคีจัดตั้ง BASC ลุยแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ก่อนเพลี่ยงพล้ำจีน

ญี่ปุ่นใส่เกียร์เดินหน้า สามัคคีจัดตั้ง BASC ลุยแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ก่อนเพลี่ยงพล้ำจีน

อัปเดตล่าสุด 28 พ.ค. 2564
  • Share :
  • 854 Reads   

♦ 55 บริษัทญี่ปุ่นร่วมก่อตั้งสมาคมแบตเตอรี่สำหรับซัพพลายเชน (BASC) ยกระดับการแข่งขันกับนานาชาติ 

♦ การเข้าสู่ตลาดของจีน โดยเฉพาะ CATL อาจทำให้ญี่ปุ่นเพลี่ยงพล้ำได้ในอนาคต

♦ โตโยต้ายัน การพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้เองจะสร้างความได้เปรียบเป็นอย่างมาก 

Advertisement

ญี่ปุ่นคืบหน้าผลักดันแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า จัดตั้งสมาคมแบตเตอรี่สำหรับซัพพลายเชน (Battery Association for Supply Chain: BASC) ร่วมกำหนดมาตรฐานและร่างนโยบายกับภาครัฐ ยกระดับการแข่งขันกับนานาชาติ  

Mr. Isao Abe ประธานสมาคม BASC และผู้บริหาร Sumitomo Metal Mining เปิดเผยถึงการก่อตั้งสมาคมแบตเตอรี่ได้เริ่มวางแผนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากสมาชิก 5 บริษัท และมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนามาตรฐานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเท่านั้น 

ในช่วงการวางแผนได้พบว่า อุตสาหกรรมแบตเตอรี่มีความซับซ้อน และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกแล้ว ทำให้แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะมีความสำคัญมากกว่าที่คิด และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สมาคมฯ ไม่อาจโฟกัสแต่เพียงแค่การพัฒนามาตรฐานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเพียงอย่างเดียว จึงมีการติดต่อบริษัทอื่น ๆ เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ที่ 55 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 14 เมษายน 2564)

ภารกิจหลักของสมาคม BASC คือ 1. การกำหนดมาตรฐานด้านแบตเตอรี่ และ 2.การเสนอร่างนโยบายด้านแบตเตอรี่ให้กับภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการมีส่วนร่วมกำหนดมาตรฐาน โดยเฉพาะหลังจากที่จีนได้ยื่นเสนอมาตรฐานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนไปแล้ว ขณะที่ฝั่งอียูเพิ่มเงินสนับสนุนการลงทุนซัพพลายเชนแบตเตอรี่ เนื่องจากหากมาตรฐานสากลของแบตเตอรี่เอียงไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็จะทำให้ประเทศอื่น ๆ เสียเปรียบเป็นอย่างมาก และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตจะไม่จำกัดแต่เพียงแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังมีแผนจัดตั้งกองทุนสนับสนุนซัพพลายเชนด้านแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบอย่างลิเธียม โคบอลต์ กราไฟต์ การวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่สอดคล้องไปกับสภาพเศรษฐกิจอีกด้วย

ทางสมาคมยอมรับว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นมีศักยภาพสูงในการแข่งขันด้านชิ้นส่วนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวัสดุที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่มีจำกัด ทำให้ญี่ปุ่นมีอุปสรรคในด้านต้นทุนการพัฒนา นอกจากนี้ การเข้าสู่ตลาดของจีน โดยเฉพาะ CATL ซึ่งมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และมีการประสานความร่วมมือกับหลายบริษัททั่วโลก อาจทำให้ญี่ปุ่นเพลี่ยงพล้ำได้ในอนาคต

เมื่อการพัฒนาแบตเตอรี่เปรียบได้กับอวัยวะสำคัญในร่างกาย

ญี่ปุ่นใส่เกียร์เดินหน้า สามัคคีจัดตั้ง BASC ลุยแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ก่อนเพลี่ยงพล้ำจีน
คอนเซ็ปต์ “TOYOTA bZ4X” ซึ่งพัฒนาร่วมกันโดยโตโยต้าและซูบารุ

สำหรับค่ายรถแล้วแบตเตอรี่เป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการแข่งขันด้านรถยนต์ไฟฟ้า ยกตัวอย่างเช่นโตโยต้า ซึ่งได้ร่วมลงทุนพัฒนาแบตเตอรี่กับทั้ง Panasonic, CATL, และ BYD โดยโตโยต้าตั้งเป้าว่า ในปี 2030 บริษัทจะทำยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าได้มากกว่าปัจจุบันถึง 3 เท่า อย่างไรก็ตาม หากมียอดขายเพิ่มขึ้นตามนี้จริง จะทำให้ความต้องการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 30 เท่า ซึ่ง Mr. Masamichi Okada เจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโตโยต้าแสดงความเห็นว่า นอกจากการร่วมมือกับบริษัทอื่นแล้ว ค่ายรถจำเป็นต้องลดลีดไทม์ให้ได้มากที่สุด และเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้มากที่สุดไปพร้อมกัน และค่ายใดที่พัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเองได้ก็จะมีข้อได้เปรียบเป็นอย่างมาก ซึ่งสิ่งที่โตโยต้าพูดก็เป็นความจริง เห็นได้จากค่ายรถอื่น ๆ เช่น

  • เทสล่า (Tesla) ที่ผลิตแบตเตอรี่ด้วยตัวเองคู่ไปกับการร่วมมือกับบริษัทอื่น ๆ
  • เจเนรัลมอเตอร์ (General Motors) ที่มีแผนก่อตั้งโรงงานร่วมกับ LG Chem
  • โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) ที่มีแผนเปิดโรงงานเพิ่ม 6 แห่งในยุโรป

ผู้ผลิตวัสดุ เร่งเพิ่มกำลังการผลิต

ญี่ปุ่นใส่เกียร์เดินหน้า สามัคคีจัดตั้ง BASC ลุยแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ก่อนเพลี่ยงพล้ำจีน
โรงงาน Asahi Kasei

สมาคมฯ เปิดเผยว่า ความต้องการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ส่งผลแค่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ แต่ทำให้ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ และวัสดุอื่น ๆ ได้ผลประโยชน์ตามไปด้วย หลายบริษัทจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิต เช่น Asahi Kasei, Mitsubishi Chemical, Sumitomo Chemical, DOWA Holdings, JX Nippon Mining & Metals, และอื่น ๆ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ความต้องการมากขึ้น เช่น Wet separators, Heat resistant separator, Electrolyte, ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ในอนาคต

ความเคลื่อนไหวจากภาครัฐ

เมื่อปลายปีที่แล้วรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศนโยบายยุติการขายรถยนต์เครื่องยนต์เบนซินภายในปี 2030 - 2040 นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ได้ให้สัมภาษณ์ในเดือนมกราคมว่า มีการตั้งเป้าเอาไว้ที่ปี 2035 ว่า ยอดขายรถยนต์ใหม่ทุกคันจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้เป็นสิ่งที่ค่ายรถไม่อาจละเลยได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นโดย METI ได้ระบุเป้าหมายผ่านรายงาน “Green Growth Strategy Through Achieving Carbon Neutrality in 2050” ถึงความจำเป็นในการลดราคาแบตเตอรี่ลงให้ได้ภายในปี 2030 เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถขายได้ในราคาเทียบเท่ารถยนต์ทั่วไป ซึ่งจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในระดับเท่าเทียมกัน และได้มีการประกาศลงทุนพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านเยน หรือราว 18,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในส่วนของยานยนต์เชิงพาณิชย์อย่างรถกระบะและรถบรรทุก ซึ่งมีความต้องการแบตเตอรี่แตกต่างจากรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ซึ่งผู้บริหาร METI ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณานโยบายแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์ ซึ่งมีความต้องการเทคโนโลยีที่ต่างกัน ไปจนถึงปริมาณการใช้ยานยนต์เชิงพาณิชย์เพื่อโลจิสติกส์อีกด้วย คาดว่าร่างนโยบายจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2021 

เจ้าหน้าที่จาก METI เปิดเผยว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นยังไม่มีนโยบายด้านการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ชัดเจน ทำให้การคาดการณ์ตัวเลขต่าง ๆ ในตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม สำนักวิเคราะห์ Fuji Keizai คาดการณ์ว่า ในปี 2024 ตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะมีมูลค่าราว 61,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 2.6 เท่า

ทางสมาคม BASC แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า แนวโน้มมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้นอย่างเร่งด่วนเช่นนี้ จะไม่กระทบเพียงอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้น แต่จะทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานอีกด้วย และแน่นอนว่าในอนาคต การแข่งขันด้านเทคโนโลยีและซัพพลายเชนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน

รายชื่อสมาชิกบางส่วนของสมาคมแบตเตอรี่เพื่อซัพพลายเชน (BASC) 

  • Nissan
  • Honda
  • Mazda
  • Denso
  • Sumitomo Metal Mining 
  • MITSUI MINING & SMELTING
  • Mitsubishi Chemical
  • Asahi Kasei
  • Toray
  • Mitsui Chemical
  • Showa Denko Materials
  • Prime Planet Energy & Solutions 
  • GS Yuasa

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่

Facebook / Twitter : MreportTH

Youtube official : MReport

Line : @mreportth

Website : www.mreport.co.th