รถใหม่ขึ้นราคา วิกฤตสงครามรัสเซียยูเครน

รถใหม่จ่อขึ้นราคา ต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง เซ่นพิษรัสเซีย-ยูเครน

อัปเดตล่าสุด 10 มี.ค. 2565
  • Share :
  • 1,632 Reads   

ผู้ผลิตรถยนต์อาจต้องปรับขึ้นราคายานยนต์ หลังต้นทุนโลหะและวัตถุดิบหลายชนิดถูกวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนเล่นงานจนราคาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ 

Advertisement

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2022 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้ผู้ผลิตยานยนต์จำเป็นต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้รัฐบาลจะยังไม่แบนแร่โลหะจากรัสเซีย แต่ราคาที่พุ่งสูงก็เริ่มกระทบค่ายรถ ทำให้ราคายานยนต์ที่แพงขึ้นจากวิกฤตชิปขาดตลาดอาจแพงยิ่งขึ้นไปอีก

นาย Carlos Tavares หัวหน้าผู้บริหาร บริษัท Stellantis ผู้ครองส่วนแบ่งยอดขายยานยนต์อันดับ 4 ของโลก แสดงความเห็นว่าผลกระทบแรกจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน คือราคาวัตถุดิบที่จะพุ่งทะยานและจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งล่าสุด ทั้งอะลูมิเนียม แพลเลเดียม และนิกเกิล ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กสเตนเลสมีราคาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์แล้วทั้งสิ้น นอกจากนี้ วิกฤตชิปขาดตลาดที่คาดว่าจะไม่จบลงในปีนี้ ทำให้เป็นเรื่องยากที่ผู้ผลิตยานยนต์จะสามารถแบกรับต้นทุนด้านราคาโลหะและพลังงานได้เพิ่มอีก

นาย Andreas Weller หัวหน้าผู้บริหาร บริษัท Aludyne ผู้ผลิตชิ้นส่วนอะลูมิเนียมและชิ้นส่วนแมกนีเซียมในยานยนต์ แสดงความเห็นว่า  ธุรกิจในยุโรปกำลังประสบปัญหาต้นทุนอะลูมิเนียมเพิ่มขึ้น 60% และมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 4 เดือนมานี้ ซึ่งต้นทุนเหล่านี้บีบให้ลูกค้าต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าแพงขึ้น และธุรกิจคงไม่สามารถเดินหน้าต่อได้หากไม่ได้รับความร่วมมือ 

ราคายานยนต์จะสูงขึ้น

สำนักวิเคราะห์ LMC and J.D. Power รายงานว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา ราคาเฉลี่ยของยานยนต์ในสหรัฐฯ อยู่ที่คันละ 44,460 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.5% จากเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า

ปัจจุบันค่ายรถที่ได้รับผลกระทบจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย คือ Volkswagen และ BMW ทำให้ผู้ผลิตชุดสายไฟในยูเครนซึ่่งเป็นซัพพลายเออร์รายสำคัญต้องหยุดเดินสายการผลิต ในยานยนต์หนึ่งคันต้องใช้ชุดสายไฟที่มีความยาวรวมแล้วราว 5 กิโลเมตร ชุดสายไฟจึงเป็นส่วนสำคัญของยานยนต์

ธนาคารเครดิต สวิส รายงานว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมา รัสเซียเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก ทำให้ผู้ผลิตเหล็กและเหล็กกล้าในยุโรปได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ยกตัวอย่างเช่นเยอรมนีซึ่งเป็นผู้นำเข้าโลหะรายใหญ่ และมีการนำเข้านิกเกิลจากรัสเซียในสัดส่วน 44% ไทเทเนียม 41% และแพลเลเดียม 18% ของยอดการนำเข้าโลหะทั้งหมดในปี 2020

ธนาคาร JPMorgan รายงานว่า Voestalpine และ SSAB ก็มีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาจากวิกฤตนี้เช่นเดียวกัน

Voestalpine ธุรกิจด้านเหล็กรายใหญ่จากออสเตรีย เปิดเผยว่าทางบริษัทยังมีโลหะในคลังสินค้าอีกมาก แต่คาดว่าจะประสบปัญหาจากราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงหลังจากนี้ 

ทางด้าน Voss Edelstahlhandel ผู้ผลิตเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมรายใหญ่จากเยอรมนี เป็นหนึ่งในบริษัทที่ตัดสินใจยุติการนำเข้าโลหะจากรัสเซีย เนื่องจากเล็งเห็นว่าอาจเป็นการสนับสนุนการรุกรานยูเครนทางอ้อม ซึ่งนาย Thorsten Studemund หัวหน้าผู้บริหาร ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่า แม้อะลูมิเนียมจะไม่อยู่ในรายการสินค้าที่ถูกแซงชั่น แต่ก็เป็นการส่งเงินให้กับรัสเซีย ทำให้บริษัทตัดสินใจยุติการสั่งซื้อ

 

ผลกระทบต่อราคาแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า

นาย Caspar Rawles หัวหน้าเจ้าหน้าที่ข้อมูลจากบริษัทปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ Benchmark Mineral Intelligence (BMI) กล่าวว่า แม้รัสเซียจะมีกำลังผลิตนิกเกิล 5% จากกำลังการผลิตนิกเกิลทั่วโลก แต่หากนับเฉพาะนิกเกิลคุณภาพสูงแล้ว รัสเซียมีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 20%

นิกเกิลเป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างมาก เนื่องจากถูกใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้เป็นวัตถุดิบที่ค่ายรถมีความต้องการอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงที่กำลังเร่งลงทุนเพื่อยุติการใช้เครื่องยนต์สันดาปเช่นนี้

คาดการณ์ว่า ความต้องการนิกเกิลเหล่านี้จะไหลเข้าไปที่จีน ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ประเทศต่าง ๆ จะร่วมแซงชั่นจีนเหมือนประเทศตะวันตก และเป็นการขึ้นราคาในช่วงที่ผู้ผลิตยานยนต์ต่างประสบปัญหาด้านต้นทุนที่สูงขึ้นเนื่องจากมีความต้องการมากกว่าปริมาณวัตถุดิบ

แม้ว่านิกเกิลคุณภาพสูงของรัสเซียบางส่วนอาจจะไปสิ้นสุดที่จีน ซึ่งไม่น่าจะมีการแซงชั่นรัสเซีย แต่ถึงกระนั้น ผู้ผลิตรถยนต์ยังต้องเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบอื่น ๆ สำหรับแบตเตอรี่อีวีที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้วจากดีมานด์ในตลาดที่มีมากกว่าซัพพลาย

นาย Rawles กล่าวว่า ความกังวลหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ ราคาลิเธียมที่พุ่งสูง ตามด้วยราคาโคบอลต์ ทำให้การขึ้นราคาของนิกเกิลส่งผลต่อราคาแบตเตอรี่มากขึ้น แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่นัก เนื่องจากปัจจุบันแบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบที่มีราคาแพงที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ผู้ผลิตหลายรายต่างหาทางลดต้นทุนในส่วนนี้ลงเพื่อให้รถอีวีเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น BMW มีแผนรีไซเคิลนิกเกิลเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบ 50% ของแบตเตอรี่ BMW iX โมเดลใหม่

อย่างไรก็ตาม ค่ายรถยังไม่มีแนวทางที่จะทดแทนแพลเลเดียม เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ใช้แพลเลเดียมในการผลิตเครื่องฟอกไอเสียซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องยนต์สันดาป แต่แพลเลเดียมมีราคาสูงขึ้นต่อเนื่องมาแล้ว 6 ปี และรัสเซียยังครองส่วนแบ่งตลาดโลกมากถึง 40%

นาย Chris Blasi หัวหน้าผู้บริหาร Neptune Global ดีลเลอร์โลหะมีค่าแสดงความเห็นว่า ปัจจุบันยังไม่มีวัสดุใดทดแทนแพลเลเดียมในการผลิตเครื่องฟอกไอเสียแบบแคทตาไลติก คอนเวอร์เตอร์ (Catalytic Converter) ได้ และราคาแพลเลเดียมซึ่งอยู่ที่ 1,940 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในเดือนธันวาคม 2021 ได้พุ่งขึ้นเป็น 3,440 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในวันที่ 7 มีนาคม 2022 ที่ผ่านมานี้

โดยนาย Blasi คำนวณว่า ยานยนต์หนึ่งคันใช้แพลเลเดียมเฉลี่ยคิดเป็นมูลค่า 200 ดอลลาร์สหรัฐ แต่อาจเพิ่มขึ้นมากถึง 2 เท่าหลังจากนี้ และหากผู้ผลิตไม่อาจแบกรับต้นทุนได้ ผู้บริโภคก็จะต้องซื้อยานยนต์นราคาแพงขึ้นอย่างแน่นอน

 

 

 

#อุตสาหกรรมยานยนต์ #ยานยนต์แพง #แบตเตอรี่ #Automotive #รัสเซีย-ยูเครน #ราคาโลหะ #ราคาวัตถุดิบ #อะลูมิเนียม #นิกเกิล #แพลเลเดียม #แร่โลหะ #วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน #อุตสาหกรรมโลหการ #M Report #mreportth #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH