สหรัฐอเมริกา เครดิตภาษีรถอีวี กฎหมายใหม่ 2022

Inflation Reduction Act กฎหมายใหม่สหรัฐฯ ที่อาจกระทบซัพพลายเชนอีวีครั้งใหญ่

อัปเดตล่าสุด 20 ก.ย. 2565
  • Share :

สหรัฐฯ รับรองกฎหมาย Inflation Reduction Act สร้างแรงกระเพื่อมต่อค่ายรถด้วยเงื่อนไขเครดิตภาษีรถอีวีที่เป็นไปได้ยาก และอาจกระทบต่อซัพพลายเชนครั้งใหญ่ในอเมริกาเหนือ

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามรับรองกฎหมาย Inflation Reduction Act โดยเนื้อหาในส่วนของการลงทุนด้านพลังงานสะอาดที่มีการให้เครดิตเงินคืนแก่ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) โดยมีเงื่อนไขการจัดหาวัตถุดิบที่เข้มงวดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับค่ายรถที่ไม่มีฐานการผลิตและซัพพลายเชนในอเมริกาเหนือ ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ จนอาจนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนครั้งใหญ่ก็เป็นได้

Advertisement

Inflation Reduction Act กระทบค่ายรถ

นาย Joji Tagawa กรรมการผ้จัดการอาวุโส บริษัทนิสสัน (Nissan) กล่าวแสดงความเห็นว่า กฎหมาย Inflation Reduction Act เป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก และยิ่งไปกว่านั้น คือ บริษัทจำเป็นต้องเร่งเดินหน้าการผลิตและการจัดหาชิ้นส่วนให้เร็วกว่าที่ผ่านมา

โดยกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้เครดิตเงินคืนแก่ผู้ซื้อรถอีวี และรถปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybri Vehicle: PHV) ที่ผลิตในอเมริกาเหนือ โดยยานยนต์ใหม่จะได้รับเครดิตภาษี 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รถมือสองจะได้รับเครดิตภาษี 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ

เครดิตภาษีนี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2023 เป็นต้นไป หากผู้ซื้อรถอีวีที่ใช้แบตเตอรี่ที่มี “ส่วนประกอบสำคัญ” เช่นลิเธียมซึ่งถูกผลิตในอเมริกาเหนือมากกว่า 40% ขึ้นไป ผู้ซื้อจะมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีกึ่งหนึ่ง หรือ 3,750 ดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มสัดส่วนของส่วนประกอบสำคัญปีละ 10% จนขึ้นไปอยู่ที่ 80% ในปี 2027 ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งของเครดิตเงินคืนนั้นจะได้รับต่อเมื่อผู้ซื้อซื้อรถที่มีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 50% ผลิตในอเมริกาเหนือ และเพิ่มขึ้นเป็น 100% ในปี 2029 

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขข้างต้นเป็นเรื่องยากมาก โดยหน่วยงาน Alliance For Automotive Innovation (AAI) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของค่ายรถสหรัฐฯ แสดงความเห็นว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ค่ายรถแทบทั้งหมดไม่ผ่านเกณฑ์การขอรับเครดิตเงินคืน และระบุว่ารถอีวีกว่า 70% ที่สามารถวางจำหน่ายในสหรัฐฯ ได้ล้วนไม่ผ่านเกณฑ์นี้ และหลังเดือนมกราคม 2023 เป็นต้นไปจะไม่มีรถอีวีรุ่นใดสามารถผ่านเกณฑ์ได้

นอกจากนี้ วัตถุดิบสำหรับผลิตแบตเตอรี่ส่วนใหญ่ยังถูกสั่งซื้อจากประเทศจีน ทำให้การจัดหาวัสดุจากแหล่งอื่นมาทดแทนเพื่อผลประโยชน์จากกฎหมายนี้เป็นเรื่องยาก โดยผู้บริหารค่ายรถญี่ปุ่นค่ายหนึ่งแสดงความเห็นว่า เป็นเรื่องยากที่ผู้ผลิตยานยนต์จะหลีกเลี่ยงไม่ใช้วัตถุดิบจากจีนได้ และเปิดเผยว่ากฎหมายนี้ทำให้ค่ายรถญี่ปุ่นต้องทบทวนซัพพลายเชนในอเมริกาเหนือใหม่

การเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนจะทำให้ราคาแบตเตอรี่ที่พยายามลดต้นทุนมาตลอดกลับแพงขึ้นไปอีก ซึ่งจะทำให้ข้อดีจากกฎหมายนี้ลดน้อยลง และภาระก็จะตกอยู่กับผู้ซื้อรถอีกครั้ง จนไม่แน่ชัดว่านโยบายนี้จะกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอเมริกาเหนือได้จริงหรือไม่

การสร้างโรงงานใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย

ปัจจุบันสหรัฐฯ กำลังประสบกับภาวะเงินเฟ้อและการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ซึ่งเมื่อผนวกกับราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูง ทำให้การลงทุนเครื่องจักร สายการผลิต และบุคลากรเป็นเรื่องยาก และแม้จะมีแผนลงทุนจริง ก็จำเป็นต้องใช้เวลาราว 2 ปีจึงจะสามารถสร้างโรงงานใหม่ให้เสร็จพร้อมเดินสายการผลิตได้

เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารจากโตโยต้าได้แสดงความเห็นว่า การบังคับใช้กฏหมายฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับเนื้อหาของกฎหมาย

สหรัฐอเมริกา เครดิตภาษีรถอีวี กฎหมายใหม่ 2022

อีกสิ่งที่ต้องจับตามองคือการเลือกตั้งกลางสมัย (Midterm election) ในเดือนพฤศจิกายนที่จะมาถึง ซึ่งหากพรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะ และเกิดแรงผลักดันให้อดีตประธานาธิบดีทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง ก็เป็นไปได้ว่าจะเกิดการพิจารณานโยบายต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง

ผู้บริหารค่ายรถญี่ปุ่นรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตอีวีไม่อาจปรับตัวได้ทัน อีกทั้งยังมีผลกระทบรุนแรงมาก หากจีนมีมาตรการคล้ายกันเพื่อกีดกั้นการนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐฯ ก็จะทำให้ซัพพลายเชนรถอีวีได้รับผลกระทบมากขึ้น และกล่าวว่า “หากอนาคตเป็นเช่นนี้จริง บริษัทข้ามชาติที่ไม่เตรียมซัพพลายเชนให้รองรับการจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วนก็จะเข้าสู่ยุคที่ยากลำบากอย่างแน่นอน” 

ค่ายรถญี่ปุ่นหาทางปรับตัว

อเมริกาเหนือเป็นตลาดยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นที่มาของรายได้หลักของผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่น ยกตัวอย่างเช่นโตโยต้า ซึ่งบริษัททั้งหมดในเครือทำยอดขายในอเมริกาเหนือได้รวม 6 ล้านคัน หรือคิดเป็น 30% ของยอดขายทั่วโลกในปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับค่ายรถอื่นยกเว้นมาสด้าล้วนทำกำไรจากการดำเนินงานในอเมริกาเหนือเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของกำไรทั่วโลก โดยมีนิสสันและซูบารุทำกำไรได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่ฮอนด้ามีกำไรจากอเมริกาเหนือคิดเป็น 60% ของกำไรที่ได้จากทั่วโลก

องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) รายงานว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ มียอดขายรถอีวี 630,000 คัน เพิ่มขึ้น 2.1 เท่าจากปีก่อนหน้า และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างมั่นคง โดยสำนักวิเคราะห์ตลาดยานยนต์ LMC Automotive คาดการณ์ว่า ในปี 2030 ยอดขายอีวีในสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 6.3 ล้านคัน หรือคิดเป็น 40% ของยอดขายยานยนต์ทั้งหมด

สหรัฐอเมริกา เครดิตภาษีรถอีวี กฎหมายใหม่ 2022

เมื่อกฎหมาย Inflation Reduction Act ของสหรัฐฯ ที่ให้เครดิตภาษีรถอีวีที่ผลิตในอเมริกาเหนือผ่านการรับรอง ทำให้ค่ายรถญี่ปุ่นไม่อาจนิ่งเฉยได้ อีกทั้งหลายบริษัทก็มีการตั้งเป้ายอดขายรถอีวีไว้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น โตโยต้าซึ่งตั้งเป้ายอดขายอีวี 3.5 ล้านคันทั่วโลกในปี 2030, ฮอนด้าตั้งเป้ายอดขายอีวีและรถเซลล์พลังงานเชื้อเพลิงที่ 40% ของยอดขายทั้งหมด, นิสสันตั้งเป้ายอดขายอีวีในสหรัฐฯ มากกว่า 40% ของยอดขายทั้งหมด เป็นต้น

สำนักวิเคราะห์หลายรายมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ที่ผ่านมาจุดเด่นของรถญี่ปุ่นในตลาดสหรัฐฯ คือการประหยัดเชื้อเพลิง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคในอเมริกาเหนือคาดหวังว่ารถอีวีญี่ปุ่นจะคงจุดเด่นนี้ไว้ดึงดูดให้ตัดสินใจซื้อต่อไป

ด้านนาย Masataka Gumimoto นักวิเคราะห์จาก Nomura Securities คาดการณ์ว่า ในปี 2030 ตลาดรถสหรัฐฯ จะมียอดขายรถปลั๊กอินไฮบริดเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลจากเครดิตเงินคืนของกฎกมาย Inflation Reduction Act เนื่องจากรถปลั๊กอินไฮบริดมีราคาถูกกว่า และใช้วัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่เพียง 1 ใน 4 ของอีวี ซึ่งสามารถชดเชยกับต้นทุนการผลิตรถอีวีที่จะสูงขึ้นได้

 

ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun

 

#รถยนต์ไฟฟ้า #เครดิตภาษีรถอีวี #อุตสาหกรรมยานยนต์ #Mreport #onlinecontent #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH