“อุตสาหกรรมคัตติ้งทูล” กับความท้าทายในวิกฤตต้นทุน

“อุตสาหกรรมคัตติ้งทูล” กับความท้าทายในวิกฤตต้นทุน

อัปเดตล่าสุด 17 ส.ค. 2565
  • Share :

ผู้ผลิตคัตติ้งทูลญี่ปุ่นทยอยปรับขึ้นราคาหลังแบกรับภาระต้นทุนวัสดุ พลังงาน และค่าขนส่งที่พุ่งทะยานต่อเนื่องนับแต่การระบาดของโควิด ซึ่งภาระต้นทุนเหล่านี้กำลังถูกส่งผ่านไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ต้องใช้คัทติ้งทูลเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลิตสินค้า

ผู้ผลิตคัตติ้งทูลทยอยปรับขึ้นราคา

สาเหตุหลักที่คัทติ้งทูลจำเป็นต้องปรับขึ้นราคา คือ การพุ่งทะยานของราคาทังสเตนและโคบอลต์ ซึ่งเป็นวัสดุหลักในการผลิตคัตติ้งทูล แม้ว่าปัจจุบันราคาทังสเตนทั่วโลกจะเริ่มลดลง แต่ราคาของ Ammonium paratungstate (APT) ซึ่งเป็นวัตถุดิบขั้นกลางยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาของโคบอลต์ยังพุ่งทะยานจากความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อนำไปใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

Sumitomo Electric Industries เป็นหนึ่งในผู้ผลิตคัตติ้งทูลรายใหญ่ที่ตัดสินใจขึ้นราคาติ้งทูลในกลุ่ม Hard Metal สำหรับคำสั่งซื้อตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2022 โดยขึ้นราคาเม็ดมีดอินเสิร์ท 15%, หัวเจาะและโซลิดเอ็นมิลl 15-20%

Nachi-Fujikoshi ขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มดอกสว่าน ดอกเอ็นมิล และดอกต๊าป 5-10% สำหรับสินค้าที่มีกำหนดจัดส่งตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2022 เป็นต้นไป
OSG เป็นอีกบริษัทที่มีกำหนดขึ้นราคาสำหรับคำสั่งซื้อตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2022 โดยปรับขึ้นราคาสินค้าบางส่วน 7-20%

นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตอีกหลายราย เช่น Mitsubishi Materials, Kyocera, DIJET, Tungaloy, Sandvik ที่มีการปรับขึ้นราคาคัตติ้งทูลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม และ MOLDINO มีกำหนดขึ้นราคาในวันที่ 3 ตุลาคม 2022

นอกจากราคาวัตถุดิบแล้ว ผู้ผลิตคัตติ้งทูลยังได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การระบาดของโควิด ทำให้การลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไม่อาจประคองราคาคัตติ้งทูลส์ไว้ที่ระดับเดิมได้อีกต่อไป

แม้ว่าจะลูกค้าบางส่วนเข้าใจสถานการณ์ แต่ก็มีหลายรายที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจขึ้นราคาคัทติ้งทูล จึงมีนานาความเห็นเกิดขึ้น เช่น การจัดซื้อทูลราคาแพงทำให้การขยับขยายธุรกิจไปในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ อย่างเครื่องมือแพทย์มีอุปสรรคมากยิ่งขึ้น, การอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจว่าบริษัทต้องขึ้นราคาสินค้าเพราะทูลแพงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและต้องใช้ความพยายามโน้มน้าวลูกค้ามากขึ้น, แม้คัตติ้งทูลจะแพงขึ้นแต่ผู้ผลิตก็ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้

‘คัตติ้งทูล’ กระทบอย่างไรในยุคสินค้าแพง?

ผู้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาวัตถุดิบและพลังงาน คือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ต้องจ่ายเงินซื้อคัตติ้งทูลแพงขึ้น

ส่วนทางด้านสมาคม JTA (Japan Cutting & Wear-resistant Tool Association) ได้คาดการณ์การผลิตคัทติ้งทูลในปีงบประมาณปัจจุบัน (เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2022 สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2023) จะมีมูลค่าอยู่ที่ 477,076 ล้านเยน หรือราว 3,529 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.3%  โดยคาดการณ์ว่า ครึ่งแรกของปีงบประมาณจะมีมูลค่าการผลิตเพิ่มขึ้น 4.7% ก่อนจะลดลง 2.1% ในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเป็นผลจากสงครามรัสเซียยูเครน และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกา

‘คัตติ้งทูล’ กระทบอย่างไรในยุคสินค้าแพง?

ราคาคัทติ้งทูลที่แพงขึ้นกระทบต้นทุนของผู้ผลิต

ผู้ผลิตเฟืองรายหนึ่งในจังหวัดชิมาเนะ เปิดเผยว่า ไม่ใช่เพียงต้นทุนของทูลเท่านั้นที่มีราคาสูงขึ้น แต่วัตถุดิบและค่าไฟก็มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ต้นทุนที่ส่งผ่านไปยังราคาสินค้าต้องปรับขึ้นอย่างมาก

ด้านผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรในจังหวัดกิฟุ แสดงความเห็นว่า ทางบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาขึ้นราคาสินค้าเช่นกัน และจะทำการเจรจากับลูกค้าแต่ละรายหากสินค้าที่ผลิตต้องใช้ทูลที่มีราคาแพงเป็นพิเศษ

ผู้ผลิตชิ้นส่วนพรีซิชั่นจากจังหวัดทตโตริ แสดงความเห็นว่า การขึ้นราคาทูลส่งผลกระทบอย่างรุนแรง อีกทั้งการจัดส่งทูลซีเมนต์คาร์ไบด์ในปัจจุบันยังล่าช้า ทำให้ต้องจัดหาทูลทดแทนจากผู้ผลิตรายอื่น และการใช้ทูลอื่นทดแทนก็ส่งผลให้ต้องปรับค่าการผลิตใหม่ และกระทบต่อการผลิตสินค้าของบริษัทโดยตรง

นอกจากนี้ การขึ้นราคาของคัตติ้งทูลญี่ปุ่นทำให้มีความเป็นไปได้ว่าผู้ผลิตจะหันไปสั้งซื้อทูลจากจีนและเกาหลีที่มีราคาถูกและจัดส่งได้รวดเร็วกว่า ซึ่งมีผู้ผู้ผลิตหลายรายพยายามจัดหาทูลที่มีราคาถูกลง เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนพรีซิชั่นในจังหวัดโอซากะเปิดเผยว่า ทางบริษัทได้หันมาสั่งซื้อทูลผ่านอินเทอร์เน็ตมาเป็นการสั่งซื้อผ่านการแนะนำของคนรู้จักแทน

Advertisement

ในอีกฝั่งของผู้ผลิตที่มีความเห็นต่างกันออกไป โดยตัดสินใจเลือกซื้อคัตติ้งทูลที่มีคุณภาพมากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต อย่างเช่นผู้ผลิตเพลารถจากจังหวัดเฮียวโงะที่ยอมรับว่า คัตติ้งทูลที่ราคาแพงขึ้นทำให้การดำเนินธุรกิจลำบากขึ้นก้จริงอยู่ แต่ก็มีหลายบริษัทที่ใช้โอกาสนี้ในการหันมาเลือกทูลที่ดีกว่าเดิม
ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายหนึ่งในจังหวัดโทยามะเองก็เช่นกันที่ได้เปลี่ยนมาใช้ทูลที่กัดชิ้นงานได้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถผลิตชิ้นงานได้มากขึ้น และทำกำไรได้มากขึ้น

ทางฟากผู้ผลิตคัตติ้งทูลเอง ก็มีบริษัทที่พัฒนาคุณภาพทูลให้สูงขึ้นเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของตนมีคุณภาพสอดคล้องกับราคาที่มากขึ้น และรองรับความต้องการของผู้ผลิตที่ต้องการยกระดับการผลิตชิ้นงาน ทำให้หลายบริษัทให้ความคาดหวังต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ งาน JIMTOF 2022 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-13 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้เป็นอย่างมาก

งานในครั้งที่ผ่านมาเมื่อปี 2020 ได้ถูกจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้การจัดงาน JIMTOF ในปีนี้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีนับจากเมื่อปี 2018 ที่มีการจัดงาน ซึ่งเทคโนโลยีคัทติ้งทูลที่ได้รับความสนใจอย่างมากในตอนนั้นคือทูลสำหรับตัดโลหะผสมที่มีความคงทนพิเศษ เช่น วัสดุโลหะผสมสำหรับชิ้นส่วนอากาศยาน ส่วนในปี 2022 นี้ เทคโนโลยีที่คาดว่าจะเป็นที่สนใจ คือ คัตติ้งทูลที่ตอบโจทย์การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อรองรับการมาถึงของยุค Carbon Neutrality

 

 

ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun

 

#คัตติ้งทูล #CuttingTool #Metalworking #ผู้ผลิตชิ้นส่วน #อุตสาหกรรมการผลิต #Mreport #onlinecontent #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH