กรณีศึกษาและผลกระทบ CPTPP จาก 3 ประเทศ

กรณีศึกษาและผลกระทบ CPTPP จาก 3 ประเทศสมาชิก

อัปเดตล่าสุด 10 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 2,269 Reads   

การเจรจาเข้าร่วมสมาชิกภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) กำลังเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก ในฐานะของการตัดสินใจที่จะส่งผลต่อหลายภาคส่วนของประเทศไทยในอนาคต 

การถกเถียงทั้งข้อดีและข้อเสียของการเข้าร่วม CPTPP อย่างเข้มขึ้น เพื่อนำสู่การตัดสินใจในท้ายที่สุด ตัวแทนจาก 3 ประเทศสมาชิก CPTPP ได้แก่ ประเทศเวียดนาม ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ได้ร่วมแบ่งปันข้อมูลและเล่าประสบการณ์ ภายในงานเสวนา “ความตกลง CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และ ประสบการณ์จากประเทศภาคี” ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมา

l ทำไม CPTPP จึงมีความสำคัญ?

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การพิจารณาเข้าร่วมเจรจา CPTPP นั้น นอกจากประโยชน์ที่ไทยจะได้รับแล้ว จำเป็นจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน โดย CPTPP มีความสำคัญจากการเป็นหนึ่งในข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ หรือ Trade Bloc ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 500 ล้านคนจาก 11 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น, แคนาดา, เม็กซิโก, เปรู, ชิลี, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, มาเลเซีย, บรูไน, และเวียดนาม

“ตลาดที่มีประชากร 500 ล้านคนนี้ ล้วนแล้วแต่มีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นลูกค้าในอนาคต ซึ่งหากประเทศไทยเข้าร่วม ย่อมหมายถึงโอกาสทางการค้า และเงินทุนมหาศาล”

อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าหากเข้าร่วมแล้ว ย่อมเกิดปัญหาที่ไม่อาจมองข้ามได้ และจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลดีผลเสียที่ประเทศไทยจะได้รับเสียก่อน และเชื่อว่าประสบการณ์จากประเทศสมาชิกจะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถมองเห็นภาพรวมของธุรกิจ ความเปลี่ยนแปลง และแนวทางต่าง ๆ ได้อย่างแน่นอน

l เวียดนาม

Mrs. Tran Thi Thanh My ที่ปรึกษาการพาณิชย์ จากสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย กล่าวในการเสวนาว่า CPTPP คือหนึ่งในข้อตกลงการค้าที่มีเนื้อหาครอบคลุมที่สุด และการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกเปิดโอกาสให้เวียดนามขยายการค้าและการส่งออกเป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากในบรรดาประเทศสมาชิกทั้งหมดนี้ มีสัดส่วนในฐานะเป้าหมายการส่งออกสินค้าจากเวียดนามถึงปีละ 15% และช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออก และกระชับความสัมพันธ์ไปยังประเทศสมาชิกอื่น ๆ ที่เวียดนามไม่เคยมีความสัมพันธ์มาก่อน คือ แคนาดา เปรู และเม็กซิโก เพิ่มโอกาสในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์เกษตร และอาหารทะเล ซึ่งนอกจากการส่งออกแล้ว ยังช่วยให้เวียดนามเป็นหนึ่งในเครือข่ายการผลิตที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในยุคที่มีแต่ความไม่แน่นอนเช่นนี้

“การเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ของเวียดนาม เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถทำกำไรได้มากขึ้น สร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน รวมไปถึงลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า การตัดสินใจนี้ จะสามารถทำให้เวียดนามมีสภาพแวดล้อมการลงทุนที่ดีขึ้น และนำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม”

หลังจากที่เวียดนามเข้าร่วม CPTPP มาแล้วกว่าหนึ่งปีครึ่ง เวียดนามมีการเติบโตทางการส่งออกเป็นอย่างมาก โดยในปี 2019 มูลค่าการส่งออกจากเวียดนามสู่ประเทศสมาชิกอยู่ที่ 7.74 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.9% ซึ่งเกินดุลถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปี 2018 ที่ขาดดุล 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเกินดุลในทุกประเทศสมาชิกยกเว้นออสเตรเลีย อันเป็นผลจากการส่งออกน้ำมันดิบที่ลดลง ส่วนในตลาดใหม่ที่เวียดนามไม่เคยมีข้อตกลงการค้ามาก่อน พบว่า ยอดส่งออกสินค้าจากเวียดนามสู่แคนาดา มีมูลค่ารวมสูงขึ้นถึง 30% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข้อดีที่เด่นชัดที่สุด

อย่างไรก็ตาม CPTPP ไม่ใช่เค้ก เมื่อตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว ย่อมหมายถึงผลกระทบทางลบในสินค้าบางประเภท ซึ่งในกรณีของเวียดนาม สินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบทางลบชัดเจน คือ ยานยนต์ สินค้าเกษตรแปรรูป ผัก และผลิตภัณฑ์จากนม เนื่องจากมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกันต่อไป
Mrs. Tran Thi Thanh My แนะนำว่า ไทยต้องโฟกัส SME ลดผลกระทบทางลบให้ได้มากที่สุด และส่งเสริมคุณภาพสินค้าในประเทศคู่ไปกับการส่งออกอีกด้วย รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร ซึ่งจากกรณีของเวียดนาม พบว่ามีผู้ประกอบเพียง 2% ที่เข้าใจว่า CPTPP คืออะไร จึงต้องส่งเสริมความเข้าใจอีกมาก และที่สำคัญคือต้องประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อมโยงกัน พิจารณาว่า SME จะได้ประโยชน์อย่างไร จะปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างไรให้รับมือกับผลกระทบด้านลบได้ และยอมรับว่าเวียดนามเองก็อยากได้เงินลงทุนจากต่างชาติ แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้เงินลงทุนนั้นนำมาซึ่งอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ และจะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพของประชากรในประเทศได้อย่างไร

l ออสเตรเลีย

Mr. Hugh Robilliard รักษาการอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย อ้างอิงรายงานจาก Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ว่า วิกฤตโควิด คือขาลงของเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียได้รับผลกระทบจากโควิดน้อยมาก ซึ่งเป็นผลจากการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีหลายฉบับ ซึ่งตลอดกว่า 30 ปีมานี้ได้ส่งผลต่อการเติบโตของออสเตรเลียเป็นอย่างมาก ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง GDP เพิ่มขึ้น 5.4% และทำให้มูลค่าการส่งออกในกลุ่มประเทศที่บรรลุข้อตกลงเพิ่มขึ้นจาก 26% ของการส่งออกในปี 2013 เป็น 70% ของการส่งออกในปัจจุบันซึ่ง CPTPP คือหนึ่งในส่วนนี้ด้วย รวมไปถึงการลดภาษีการค้าขายจาก 18% เหลือ 0%

“CPTPP คือหนึ่งในข้อตกลงการค้าที่ดีที่สุด นำมาซึ่งการลงทุนครั้งใหญ่ และส่งผลดีต่อออสเตรเลียเป็นอย่างมาก สร้างมูลค่ามหาศาล รวมไปถึงการตั้งมาตรฐานการส่งออกที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น“

แม้ว่าหลายประเทศจะมีข้อตกลงการค้าเสรีกับออสเตรเลียอยู่แล้ว แต่การเข้าร่วม CPTPP ได้ช่วยเปิดโอกาสในประเทศที่ยังไม่มี FTA คือแคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งเป็นตลาดที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับส่งออกน้ำตาล และสำหรับประเทศไทยที่เป็นผู้ผลิตน้ำตาลเองคงไม่ต่างกัน โดยประเทศสมาชิก CPTPP เป็นเป้าหมายส่งออกสินค้าของออสเตรเลียมากถึง 25% และส่งออกบริการ 20% ซึ่ง CPTPP จะช่วยให้การส่งออกภาคบริการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบริการด้านการศึกษา และบริการด้านพอร์ตการลงทุน และหวังว่าความร่วมมือทางเทคนิคต่าง ๆ ระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกยังสร้างโอกาสในด้านอื่นเพิ่มเติมที่ FTA ฉบับก่อนไม่ครอบคลุม รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น ทำให้ออสเตรเลียเข้าถึงสินค้าสำคัญของญี่ปุ่นได้มากขึ้น และการลดภาษีนำเข้าสินค้าอ่อนไหว เช่น เนื้อวัว ชีส มอลต์ และข้าว

คาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชาชนออสเตรเลียจะมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.5% และรายได้เฉลี่ยของประชาชนในกลุ่มสมาชิกเพิ่มขึ้น 1% ในช่วงเวลาเดียวกันนี้

อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียเข้าร่วม CPTPP ได้เพียง 1 ปี ทำให้การประเมินภาพรวมต่อเศรษฐกิจยังไม่อาจให้คำตอบชัดเจน และแน่นอนว่าต้องมีผลกระทบในทางลบ โดยเฉพาะกับความมั่นคงของ SME ในประเทศ แต่ก็เป็นเรื่องปกติของการเปิดเสรีการค้าที่จะต้องมีทั้งผลบวกและผลลบต่อเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่า ออสเตรเลียอยู่ระหว่างการร่วมแก้ไขปัญหากับผู้ประกอบการ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถหาประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิกได้ในขณะนี้

นอกจากนี้  Mr. Hugh Robilliard ยอมรับว่า ในช่วงสมัย CPTPP ยังเป็นข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) นั้นมีปัญหาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวชภัณฑ์ยา กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และกลไกต่าง ๆ  แต่ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขแล้ว และอีกประเด็นที่สำคัญสุดคือความโปร่งใส และทุกภาคส่วนต้องสามารถแสดงความเห็นได้ แต่ก็ยอมรับว่าข้อมูลเหล่านี้มีจำนวนมากถึง 7 พันหน้า รัฐบาลจึงควรทำสรุปให้คนทั่วไปเข้าถึงเสียก่อน และออสเตรเลียยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ไทยเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้นำการบูรณาการเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เนื่องจาก CPTPP รองรับการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และสนับสนุนให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงนี้

l ญี่ปุ่น

Mr. Ryohei Gamada นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส (เอเชีย) จาก JETRO กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีการวิเคราะห์ว่า CPTPP ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 2019 เติบโต 1.5% หรือคิดเป็น 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะสร้างมูลค่าได้มากถึง 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่ายุโรปและนำสู่การเติบโตที่ 1.0% และยังทำให้มีคู่ค้ามากขึ้น คือ แคนาดาและนิวซีแลนด์ ซึ่งยังไม่มี FTA ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น โดยในกรณีของแคนาดาได้มีข้อตกลงลดภาษียานยนต์ จาก 6.21% เหลือ 0% ภายใน 5 ปีนั้น จะเพิ่มโอกาสส่งออกยานยนต์ในอนาคต และการลดภาษีชิ้นส่วนยานยนต์เหลือ 0% ซึ่งมีผลในทันทีก็เป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนอย่างมาก และคาดว่าหากไทยเข้าร่วมก็จะได้รับผลประโยชน์เช่นเดียวกันนี้ด้วย

“แม้ญี่ปุ่นจะมีการเปิดเสรีการค้ากับประเทศสมาชิก CPTPP อยู่แล้ว แต่รัฐบาลญี่ปุ่นมองว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงกว่าการไม่เข้าร่วม”

ส่วนในด้านการลดกรอบภาษีนั้น Mr. Ryohei Gamada กล่าวว่า หากเทียบกับกรอบ FTA ที่ญี่ปุ่นมีกับไทย (JTEPA) หรือญี่ปุ่นกับอาเซียน (AJCEP) พบว่า CPTPP มีอัตราการลดภาษีที่ครอบคลุมมากกว่า ซึ่งญี่ปุ่นวางแผนลดภาษีถึง 95% ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งสินค้าไปยังญี่ปุ่นได้มากขึ้น และเพิ่มตัวเลือกของกฏว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) อีกด้วย

อีกสิ่งที่อยากเน้นย้ำ คือมาตรฐานด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งการมาของโควิดทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ในญี่ปุ่น กล่าวว่า โควิดนำมาซึ่งโอกาสของ 5G, Remote Controlling และ Factory Automation ซึ่ง CPTPP สามารถเข้ามาส่งเสริมธุรกิจให้มีการลงทุน และพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้มีมาตรฐานกว่า JTEPA จึงอาจทำให้ผู้ผลิตสามารถพิจารณาการลงทุนพัฒนาสินค้าตามแนวคิด Industry 4.0 มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจ E-Commerce ก็จะได้ประโยชน์จากมาตรฐานเหล่านี้อีกด้วย

ในด้านผลกระทบทางลบนั้น ญี่ปุ่นมองว่าส่วนที่ลำบากที่สุดคือการลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นมีการทำ CPTPP Guideline เพื่อให้ข้อมูลเข้าใจง่าย และมีการจัดสัมมนาทั่วประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกษตรมีความเข้าใจมากขึ้น นอกจากนี้ การมี FTA หลายฉบับอาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการใช้แบบฟอร์มต่าง ๆ ได้ และอยากย้ำว่า กุญแจสำคัญที่จะทำให้ CPTPP ประสบความสำเร็จ คือ SME การสนับสนุนธุรกิจรายย่อยเหล่านี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้ามาช่วยในการปรับปรุงการผลิต และการกำหนดมาตรฐาน นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมจะให้ความช่วยเหลือในส่วนนี้เช่นกันหากไทยพิจารณาเข้าร่วม 

Mr. Ryohei Gamada กล่าวย้ำว่า หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นคู่ค้าสำคัญของญี่ปุ่น และมีบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในไทยเป็นมูลค่าถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และเป็นเป้าหมายหลักของการลงทุนในอาเซียนมาตลอด อย่างไรก็ตาม 2019 เป็นปีแรก ที่บริษัทญี่ปุ่น 41% เลือกไทยแทนเวียดนาม จึงคาดการณ์ว่าหากไทยเลือกเข้าร่วมเป็นสมาชิก อาจทำให้ไทยมีศักยภาพดึงดูดการลงทุนต่อไป

 

อ่านต่อ