Passenger-to-Freighter (P2F) เครื่องบินขนส่งสินค้าความหวังใหม่อุตฯ อากาศยาน

Passenger-to-Freighter (P2F) เครื่องบินขนส่งสินค้าความหวังใหม่อุตฯ อากาศยาน

อัปเดตล่าสุด 22 ธ.ค. 2563
  • Share :
  • 1,723 Reads   

Passenger-to-Freighter (P2F) หนทางสร้างรายได้แก่ผู้ผลิตอากาศยาน, ธุรกิจ MRO, และสายการบินในวิกฤตโควิดที่เครื่องบินเก่ามีราคาลดลงต่ำสุด 47% จากต้นปี

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2020 รอยเตอร์รายงานความเคลื่อนไหวล่าสุดของอุตสาหกรรมอากาศยาน และสายการบินที่เร่งดัดแปลงเครื่องบินโดยสารให้เป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า ตอบสนองความต้องการ E-commerce ที่เติบโตต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเครื่องบินโดยสารเก่า และเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตอากาศยาน และสายการบินในวิกฤตครั้งนี้

Cirium สำนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมการบิน คาดการณ์ว่า ในปี 2021 จะมีเครื่องบินโดยสารถูกดัดแปลงเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้ารวม 90 ลำ เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 36% และจะดัดแปลงเพิ่มอีก 109 ลำในปี 2022 โดยผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากแนวโน้มนี้ นอกจากผู้ผลิตอากาศยานแล้ว ยังมีบริษัทรับดัดแปลงอากาศยาน หรือที่เรียกว่า Passenger-to-Freighter (P2F) เช่น Singapore Technologies Engineering จากสิงคโปร์, Israel Aerospace Industries จากอิสราเอล, และ Aeronautical Engineers จากสหรัฐอเมริกา

Chris Seymour หัวหนัาแผนกวิเคราะห์ตลาดจาก Cirium คาดการณ์ว่า ความต้องการดัดแปลงอากาศยานจะเพิ่มขึ้นจนเต็มกำลังการผลิตที่รองรับในปี 2021 และอย่างน้อย 40% ของกำลังการผลิตที่รองรับในปี 2022 โดยจะมีความต้องการหลักมาจากโครงการดัดแปลงอากาศยานรุ่นที่ไม่เก่ามากนัก อย่างเช่น รุ่น 737-800 รุ่น A32 และรุ่น A330 ในขณะที่อากาศยานรุ่นที่เก่ากว่านั้น เช่น รุ่น 767 จะยังมีความต้องการที่มั่นคงจาก Amazon ที่ลงทุนในเครื่องบินขนส่งสินค้าตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

โดยในปี 2020 นี้ อากาศยานที่มีอายุการใช้งานเกินกว่า 15 ปีมีราคาลดลง 20-47% นับจากต้นปี ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาทางการตลาด Ishka แสดงความเห็นว่า ราคาเครื่องบินโดยสารที่ลดต่ำเช่นนี้จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การดัดแปลงเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าได้รับความสนใจมากขึ้น

ปัจจุบัน สายการบินที่ยืนยันการดัดแปลงเครื่องบินโดยสารเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าแล้ว ประกอบด้วย Air Canada ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมดัดแปลงโบอิ้ง 767, S7 Group จากรัสเซีย, และ CDB Aviation ซึ่งสั่งซื้อเครื่องบินขนส่งสินค้าที่ดัดแปลงมาจากเครื่องบินโดยสาร

การดัดแปลงแบบ Passenger-to-Freighter (P2F) เป็นการดัดแปลงเครื่องบินแบบถาวร ต่างจากการดัดแปลงเครื่องบินโดยสารเมื่อช่วงต้นวิกฤตโควิดที่ใช้ต้นทุนต่ำ และเป็นการดัดแปลงเพียงชั่วคราวด้วยการถอดเก้าอี้ผู้โดยสารออก

อย่างไรก็ตาม ปฎิเสธไม่ได้ว่าการดัดแปลงแบบถาวรก็มีความเสี่ยง เนื่องจากในช่วงก่อนหน้าการระบาดของโควิด ความต้องการ E-commerce ไม่ก่อให้เกิดการขนส่งสินค้าทางอากาศมากนัก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศจะเติบโตต่อเนื่องอีกหลายปี ซึ่งสายการบินคาดการณ์ว่า กว่าความต้องการเดินทางของผู้บริโภคจะกลับมาเท่าก่อนโควิดก็ต้องรอถึงปี 2024 การดัดแปลงเครื่องบินโดยสารจึงเป็นส่วนช่วยสร้างรายได้ในช่องว่างนี้ ด้านนักวิเคราะห์เองได้ออกมาเตือนว่าตลาดการขนส่งทางอากาศมีความผันผวนสูง เนื่องจากการขาดแคลนเครื่องบินขนส่งสินค้าอาจทำให้มีการผลิตออกมามากจนเกินไปได้โดยง่าย

Patrick Hannigan ผู้บริหาร CDB Aviation เปิดเผยว่า ในปี 2020 ความต้องการ E-commerce เติบโตอย่างมาก เครื่องบินขนส่งสินค้าถูกใช้งานมากขึ้น และคาดการณ์ว่าจะนำไปสู่การเติบโตในระยะยาว บริษัทจึงตัดสินใจปรับโครงสร้างเพื่อรองรับความต้องการนี้

โบอิ้ง (Boeing) รายงานเพิ่มเติมว่า ตลอดเดือนกันยายน 2020 มีการใช้งานเครื่องบินขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 40% และคาดการณ์ว่าใน 20 ปีข้างหน้า 60% ของเครื่องบินขนส่งสินค้าจะเกิดจากการดัดแปลงเครื่องบินโดยสารมากกว่าการสั่งซื้อเครื่องบินขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ

ธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) อีกธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์จากการดัดแปลงเครื่องบิน ซึ่งสูญเสียรายได้เป็นอย่างมากในช่วงวิกฤตนี้ ซึ่ง Jeffrey Lam ประธานบริษัท ST Engineering Aerospace กล่าวว่า การดัดแปลงเครื่องบินโดยสารเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้ามีค่าใช้จ่ายหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ และใช้เวลาราว 3 - 4 เดือนต่อการดัดแปลงเครื่องบินหนึ่งลำ ทำให้ทางบริษัทตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตให้รองรับการดัดแปลงเครื่องบินโดยสารรวม 18 ลำในปีนี้ และจะเพิ่มขึ้นไปที่ 25 - 30 ลำต่อปีในอนาคต

Yosef Melamed ผู้จัดการทั่วไป IAI รายงานว่าบริษัทลงทุนไปอย่างมากเพื่อตอบสนองความต้องการเครื่องบินขนส่งสินค้า และแสดงความเห็นว่า เครื่องบินขนส่งสินค้า คือทางออกเดียวในยุคที่จำนวนเที่ยวบินลดลงเช่นนี้ โดยเฉพาะเที่ยวบินระหว่างประเทศ

Robert Convey รองประธานฝ่ายการตลาดจาก Aeronautical Engineers รายงานว่า ความต้องการเครื่องบินขนส่งสินค้า เพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาเครื่องบินโดยสารที่ลดลง 30 - 40% และมีเครื่องบินโดยสารที่อายุการใช้งานยังไม่สูงมากถูกดัดแปลงเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้ามากขึ้น เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่า เครื่องบินโดยสารหลายลำอาจไม่ถูกใช้งานอีกแล้ว

Grant Stevens รองประธานฝ่ายบริหารจาก KF Aerospace รายงานในทิศทางเดียวกัน ความความต้องการดัดแปลงเครื่องบินทำให้ธุรกิจของบริษัทฯ เติบโตจากสัดส่วน 10% ของรายได้ทั้งหมดก่อนโควิด เป็น 50% ของรายได้ทั้งหมดในปัจจุบัน ทำให้บริษัทยังสามารถจ้างพนักงานส่วนใหญ่ต่อได้