อัปเดต “อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล” โอกาส-ปัจจัยเสี่ยง หลังโควิด

อัปเดต “อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล” โอกาส-ปัจจัยเสี่ยง หลังโควิด

อัปเดตล่าสุด 28 ต.ค. 2564
  • Share :
  • 3,703 Reads   

รายงานสถานการณ์ โอกาส และปัจจัยเสี่ยง ในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล (Machine Tools) ที่ได้รับผลกระทบทั้งแง่บวกและแง่ลบจากแนวโน้มโลกหลังโควิด

ในปี 2021 นี้ ผู้ผลิตเครื่องจักรกล (Machine Tools) ต่างอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากความต้องการเครื่องจักรที่พุ่งทะยานซึ่งควรเป็นสัญญาณอันดี แต่กลับมาพร้อมกับวิกฤตชิปขาดตลาดและวิกฤตซัพพลายเชนโลก นำมาซึ่งการขาดแคลนชิ้นส่วนหลายชนิดจนผู้ผลิตหลายรายต้องทยอยขึ้นราคาเครื่องจักร

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีวิกฤตมากมาย แต่หลายสัญญาณในตลาดได้แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มตลาดเครื่องจักรกลมีแต่จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามกระจายวัคซีนในหลายประเทศ จนกำลังการผลิต และความต้องการลงทุนฟื้นตัวสูง และมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

Advertisement

ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งจากผู้ผลิต และผู้ใช้เครื่องจักร เนื่องจากสถานการณ์เหล่านี้ส่งผลต่อทั้งสองฝ่าย และอาจรวมไปถึงผู้บริโภคในอนาคต

ภาพรวมของอุตสาหกรรม Machine Tools

ภาพจากงาน MECT 

นาย Yoshiharu Inaba ประธานสมาคมเครื่องจักรกลญี่ปุ่น (JMTBA) และ CEO บริษัท Fanuc เปิดเผยว่าในเดือนกันยายน 2021 เป็นเดือนที่มียอดสั่งซื้อเครื่องจักรญี่ปุ่นสูงที่สุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2018 และแสดงความเห็นว่า
 

“แม้ว่า อุตสาหกรรม Machine Tools มีแนวโน้มที่ดีในขณะนี้ แต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยง”

 

ปัจจุบันความต้องการลงทุนเครื่องจักรเพิ่มขึ้นสูงจนเป็นที่น่าตกใจในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนอีกกลุ่มที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นคือระบบออโตเมชัน และเครื่องจักรกลที่มีเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมียอดสั่งซื้อสูงกว่าระดับมาตรฐานเป็นอย่างมาก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบรับกับการผลิตในยุคใหม่นี้

โดยในช่วงวันที่ 20 - 23 ตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นได้มีการจัดงาน “Mechatronics Technology Japan 2021” หรือ MECT2021 ซึ่งเป็นงานจัดแสดงสินค้าอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นประจำปีนี้ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของผู้จัดงานเปิดเผยว่า  
 

“จำนวนผู้เข้าชม และผู้จัดแสดงสินค้าที่เยอะกว่าการคาดการณ์นั้น เป็นสัญญาณอันดีว่าตลาดกำลังฟื้นตัว และสะท้อนว่างานจัดแสดงสินค้าแบบทั่วไปยังมีความสำคัญอยู่”

โอกาสของเครื่องจักรในตลาดจีน

DMG MORI. Iga Campus

สำหรับปีนี้ นับได้ว่าจีนเป็นประเทศที่มีการลงทุนเครื่องจักรโดดเด่นที่สุด ซึ่งแม้จะมีความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนในอนาคตจะชะลอตัวลงจากการฟื้นตัวหลังโควิดที่รวดเร็วเป็นพิเศษ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความต้องการเครื่องจักรกลจากจีนจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นตลาดที่ได้รับความสนใจจากผู้ผลิต Machine Tools เป็นอย่างมาก

Yamazaki Mazak ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตในโรงงานต้าเหลียนให้ขึ้นไปอยู่ที่เดือนละ 240 เครื่อง เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 33% และจะทำให้มีกำลังผลิตในจีนรวม 450 เครื่องต่อเดือนภายในปี 2022

Tsugami เป็นอีกบริษัทที่มีแนวทางใกล้เคียงกัน โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในจีนซึ่งมีกำหนดเริ่มการผลิตในเดือนเมษายน 2022 ซึ่งจะเน้นไปที่การผลิตเครื่องกลึงอัตโนมัติ (Auto Lathe Machine) และคาดว่าเมื่อรวมกับโรงงานที่มีอยู่เดิมจะทำให้มีกำลังผลิตที่ราว 1,500 เครื่องต่อเดือน

FUJI ซึ่งมีแผนก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มในโรงงานจีน ซึ่งมีกำหนดเริ่มก่อสร้างภายในปีงบประมาณ 2021 หรือไม่เกินเดือนมีนาคม 2022

DMG MORI มีแผนต่อเติมโรงงานในจีนภายในปี 2025 และมีแผนปรับปรุงโรงงานเดิมในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตในจีนรวมแล้วอยู่ที่ 1,500 เครื่องต่อเดือน โดยนาย Masahiko Mori ประธานบริษัท เปิดเผยว่า หากรวมกับการนำเข้าเครื่องจักรจากญี่ปุ่นและเยอรมนีแล้ว ก็อยากจะขายเครื่องจักรในจีนให้ได้เดือนละ 2,000 - 2,500 เครื่อง นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างโรงงานใหม่ในอียิปต์ภายในปี 2023 และอยู่ระหว่างพิจารณาเปิดโรงงานในอินเดียภายในปี 2030 อีกด้วย

Citizen Machinery ไม่มีรายงานถึงแผนการต่อเติมโรงงานในจีน แต่มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตในไทยภายในปี 2022 ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 350 เครื่องต่อเดือน อีกทั้งมีแผนพัฒนาซัพพลายเชนในยุโรปและญี่ปุ่นใหม่ โดยจะเน้นไปที่การจัดหาชิ้นส่วนในภูมิภาคมากขึ้น เพื่อให้ซัพพลายเชนมีความมั่นคง พร้อมรองรับความต้องการเครื่องจักรกลในอุตสาหกรรมยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, และเครื่องมือแพทย์

Okuma มีแผนลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาคอขวดในโรงงานญี่ปุ่น และอยู่ระหว่างเดินหน้าเตรียมความพร้อมการผลิตในโรงงานที่ไต้หวันเพื่อเล็งใช้เป็นฐานการผลิตรับความต้องการจากตลาดจีน

ปัจจัยเสี่ยงในอุตสาหกรรม Machine Tools

โรงงาน Citizen Machinery ประเทศไทย

ในส่วนของการบริหารความเสี่ยง พบว่าความเสี่ยงที่รุนแรงที่สุดในตอนนี้คือชิ้นส่วนไม่เพียงพอต่อการผลิตเครื่องจักรให้ได้ทันความต้องการลูกค้า โดยนาย Keiichi Nakajima ประธานบริษัท Citizen Machinery เปิดเผยว่า สถานการณ์การขาดแคลนชิ้นส่วนรุนแรงขึ้นมาก จากเดิมที่ขาดชิปเซมิคอนดักเตอร์เป็นหลัก แต่ตอนนี้พบว่ามีชิ้นส่วนอื่นที่เริ่มไม่เพียงพอ เช่น สายไฟ ขั้วต่อสายไฟ และชิ้นส่วนเหล็กหล่อ

โดยผู้ผลิต Machine Tools รายหนึ่ง เปิดเผยว่านับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิดระลอกใหม่ในอาเซียน ทำให้ซัพพลายเออร์ในเวียดนามไม่สามารถจัดส่งชิ้นส่วนเรซิ่นและชิ้นส่วนพลาสติกได้ตามกำหนดการ และต้องใช้เวลาจัดหาชิ้นส่วนอย่างน้อยหนึ่งเดือนจึงจะเริ่มผลิตได้

ส่วนทางด้าน DMG MORI มีรายงานว่า ปัจจุบันการจัดส่งเครื่องจักรกลในญี่ปุ่นล่าช้าออกไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์เนื่องจากชิ้นส่วนไม่เพียงพอ

Nidec เป็นอีกบริษัทที่ได้รับผลกระทบ โดยเปิดเผยว่าชิ้นส่วนที่ขาดแคลนคือ Bearing ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนพลาสติก

ROKU-ROKU SANGYO แสดงความเห็นว่า ชิ้นส่วนสำหรับเครื่อง Micro Fabrication Machine ขาดแคลนเป็นอย่างมาก ทำให้จากเดิมที่สามารถจัดส่งเครื่องจักรได้ภายใน 6 - 7 เดือน จำเป็นต้องใช้เวลาถึง 10 เดือน โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ขายดีที่อาจต้องใช้เวลามากถึง 1 ปีนับจากวันยืนยันคำสั่งซื้อจึงจะสามารถจัดส่งได้

เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารบริษัท Machine Tools รายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า สิ่งที่น่ากังวลที่สุดจากการจัดส่งที่ล่าช้า คือผู้ซื้อเครื่องจักรจะหันไปสั่งซื้อจากผู้ผลิตรายอื่นที่รวดเร็วกว่า ทำให้ผู้ผลิตเครื่องจักรรายย่อยเสียเปรียบผู้ผลิตเครื่องจักรรายใหญ่ที่มีซัพพลายเชนมั่นคงเป็นอย่างมาก ซึ่งเมื่อผนวกกับราคาวัสดุที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่องยิ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ผลิตมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้ผลิตรายใหญ่ก็เริ่มแบกรับต้นทุนไม่ได้เช่นนี้

 

สรุปรายงาน

เป็นไปได้ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ต้นทุนการผลิตเครื่องจักรจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องพร้อมกันกับความต้องการในการลงทุน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องจักรกลที่จะต้องคิดหาทางว่าจะต้องปรับตัวอย่างไรต่อไปในยุคนี้

เพราะหากผู้ผลิตเครื่องจักรไม่สามารถแบกรับได้ ผู้ใช้เครื่องจักรก็จะต้องรับภาระนี้ไปแทน ซึ่งท้ายที่สุด หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็จะเป็นผู้บริโภคที่ต้องซื้อสินค้าต่าง ๆ ในราคาที่แพงขึ้นจากเดิม ซึ่งปัจจุบัน อุตสาหกรรม Machine Tools คาดการณ์ว่า สินค้าที่จะแพงขึ้นทั่วโลก คือ รถยนต์ไฟฟ้า และสมาร์ทโฟน 5G เพราะเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูง

อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และแนวโน้มการลงทุนในหลายประเทศที่หันมาพึ่งพาระบบอัตโนมัติมากขึ้น ทำให้หลายค่ายมั่นใจว่าในอนาคตต้นทุนการผลิตจะต้องลดลงอีกครั้งหลังพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านหลังโควิดไปได้ จึงเป็นไปได้ว่าในอนาคตหลังจากนี้ การแข่งขันด้านระบบออโตเมชันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา

 

#เครื่องจักร #เครื่องจักรกล  #เครื่องจักรกลญี่ปุ่น #เครื่องจักร #เครื่องจักรญี่ปุ่น #เครื่องญี่ปุ่น #อุตสาหกรรมการผลิต #อุตสาหกรรมโลหะการ #ตัดเฉือนโลหะ #Metalworking #ผลิตชิ้นส่วน #Machine Tools #Machine Tool #M Report #mreportth #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมเครื่องจักร #อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล #ข่าวเครื่องจักร

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH