หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ยุคหลังโควิด

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ยุคหลังโควิด โอกาสและความท้าทาย

อัปเดตล่าสุด 17 ส.ค. 2564
  • Share :
  • 3,326 Reads   

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจหลังโควิดส่งผลอย่างไรต่อความต้องการหุ่นยนต์อุตสาหกรรม บทความนี้พาสำรวจตลาดโรบอท โอกาสและความท้าทายจากมุมมองของผู้ผลิตหุ่นยนต์ชั้นนำ 

Advertisement

ความต้องการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมพุ่งทะยานสูงสุดรอบ 20 ปี

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2021 สมาคมหุ่นยนต์ญี่ปุ่น (JARA) รายงานว่า ยอดสั่งซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2/2021 มีมูลค่ารวม 2,260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขยอดสั่งซื้อสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บสถิติในปี 2002 

ทางสมาคมฯ รายงานว่า การลงทุนโรบอทในสายการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาจากการปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคโควิด ทำให้มีการใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด และเพื่อให้สายการผลิตดำเนินต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงักแม้ต้องเจอกับสถานการณ์ล็อกดาวน์ หรือพนักงานลดลง

ประเทศที่น่าจับตาที่สุดคือ จีน เนื่องจากมีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2020 มาจนไตรมาสที่ 2 ปีนี้ซึ่งเป็นไตรมาสล่าสุด ยอดสั่งซื้อหุ่นยนต์จากจีนมีมูลค่าราว 795 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของทั้งหมด

อเมริกาเหนือ ทำยอดสั่งซื้อหุ่นยนต์ในไตรมาสสองที่ผ่านมาเป็นมูลค่าราว 252 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับก่อนการระบาดของโควิด โดยเป็นการสั่งซื้อหุ่นยนต์เชื่อม (Welding Robot) และหุ่นยนต์พ่นสีมากกว่า 80% ของจำนวนหุ่นยนต์ทั้งหมด ซึ่งมีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นลูกค้ารายใหญ่ 

โอกาสและความท้าทายจากมุมมองของผู้ผลิตหุ่นยนต์ชั้นนำ 

Yaskawa Electric ซึ่งปิดงบการเงินก่อนผู้ผลิตหุ่นยนต์ญี่ปุ่นรายอื่นรายงานว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม 2021 ซึ่งเป็น 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ ทางบริษัทฯ มียอดขายหุ่นยนต์อุตสาหกรรมราว 367 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2020 ถึง 38.9% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงทำลายสถิติ และมีกำไรสูงถึง 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7 เท่าจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว โดยคาดว่าปีงบประมาณ 2021 นี้ บริษัทจะมีกำไรเพิ่มขึ้น 2.6 เท่า

ลูกค้าใหญ่ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาคือ จีน ยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งมีการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเร่งเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อแก้วิกฤตชิปขาดตลาด 

นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมอื่นที่น่าจับตามอง ได้แก่ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีความต้องการระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

Nachi-Fujikoshi รายงานว่า ระหว่างเดือนธันวาคม 2020 ถึงเดือนพฤษภาคม 2021 ทางบริษัทฯ มียอดขายหุ่นยนต์อยู่ที่ 124 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.4% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า โดย Mr. Jun Sakamoto ประธานบริษัท ได้แสดงความเห็นว่า

 

“ปัจจุบัน หลายอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนจากการใช้แรงงานไปใช้หุ่นยนต์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ 6 แกน, หุ่นยนต์ SCARA, โคบอทส์, และอื่น ๆ ซึ่งหลังจากนี้ หุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะถูกนำไปใช้มากขึ้นอีก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไฟฟ้า”

 

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ยุคหลังโควิด

Nachi Scara robot

Fanuc เป็นอีกบริษัทที่มีรายได้เพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยมียอดขายราว 531 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 44.8% จากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว และมียอดสั่งซื้อราว 710 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 78.6% มาจากอุตสาหกรรมอื่นนอกยานยนต์ที่มีความต้องการระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก Mr. Kenji Yamaguchi ประธานบริษัท เปิดเผยว่า

 

“การลงทุนในจีน ยุโรป และอเมริกา เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมียอดขายที่ดียิ่งขึ้นไปอีก”

 

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ยุคหลังโควิด

ปัจจุบัน ความต้องการโคบอทส์ในอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเพิ่มขึ้น

Kawasaki Heavy Industries เปิดเผยว่า จีนมีการสั่งซื้อหุ่นยนต์อเนกประสงค์เพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากหลายอุตสาหกรรมนำมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด ฝั่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ก็มีการสั่งซื้อหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค ทำให้ในไตรมาสที่ผ่านมาบริษัทมียอดขายรวม 154 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 50.4% และคาดว่าปีงบประมาณนี้จะมียอดขายเพิ่มขึ้นรวม 19.7% ซึ่ง Mr. Katsuya Yamamoto รองประธานบริษัท แสดงความเห็นว่า
 

“อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีความต้องการหุ่นยนต์สูงมาก นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ และสถานศึกษายังมีการสั่งซื้อหุ่นยนต์เพื่อนำไปใช้ในการวิจัยนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งก็เป็นอีกตลาดที่เราอยากท้าทาย และมีความเป็นไปได้ว่า ยอดสั่งซื้อจากอุตสาหกรรมยานยนต์อาจเพิ่มขึ้นอีกหลังเดือนตุลาคมนี้”

 

สถาบันการเงิน SMBC NIKKO SECURITIES แสดงความเห็นว่า การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการผลิตทำให้ความต้องการโรบอทไม่เพียงแต่เพิ่มขึ้นในจีน แต่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วก็เพิ่มขึ้นด้วย โดยในอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกจากยานยนต์, เครื่องจักรกล, และเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีการลงทุนสูงยังมีความต้องการระบบอัตโนมัติมากขึ้นอยากเห็นได้ชัด

“วิกฤตซัพพลายเชนโลก” กระทบอุตสาหกรรมหุ่นยนต์อย่างไรบ้าง?

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ยุคหลังโควิด

ชิ้นส่วนหุ่นยนต์เริ่มขาดตลาด โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่ใช้ชิปเซมิคอนดักเตอร์ 

แม้ว่าสถานการณ์ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์กำลังเดินไปได้ด้วยดี แต่วิกฤตซัพพลายเชนโลกยังเป็นปัจจัยที่น่าเป็นห่วง ที่อาจทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนอื่นนอกจากชิปเซมิคอนดักเตอร์หรือไม่ โดย Mr. Kenji Yamaguchi ประธานบริษัท Fanuc เปิดเผยว่า เป็นเรื่องที่ประเมินได้ยากว่าในอนาคตการจัดหาชิ้นส่วนจะมีอุปสรรคอะไรบ้าง และหากความต้องการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น ก็อาจจัดหาชิ้นส่วนได้ยากขึ้นด้วย

สมาคมหุ่นยนต์ญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ตั้งแต่ย่างเข้าปี 2021 หลายบริษัททำยอดขายหุ่นยนต์ได้สูงกว่าช่วงปี 2017-2018 ซึ่งชวงที่มีการลงทุนหุ่นยนต์อย่างคึกคัก และคาดว่าหากวิกฤตซัพพลายเชนสิ้นสุดในปลายปีนี้ หุ่นยนต์ญี่ปุ่นจะสามารถทำยอดขายรวมแล้วสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ก็เป็นได้

 

#หุุ่นยนต์ #หุ่นยนต์อุตสาหกรรม #โรบอท #Robot #ความต้องการหุ่นยนต์หลังโควิด #ลงทุนหุ่นยนต์ #ลงทุนโรบอท #ยอดสั่งซื้อหุ่นยนต์ #ยอดขายหุ่นยนต์ #โคบอทส์ #Robots #Cobot #Cobots #WeldingRobot #SCARA #อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ #ชิปขาดตลาด #วิกฤตซัพพลายเชน #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #Mreport #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ #เอ็มรีพอร์ต

 

ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun

 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH