โควิด ขวิด อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ร่วง

อัปเดตล่าสุด 18 พ.ค. 2563
  • Share :
  • 541 Reads   

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม โดยไม่อาจคาดการณ์ได้แน่ชัดว่าจะจบลงอย่างไร และเมื่อใด  อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ก็จะกลับมาฟื้นฟูกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเร่งขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยที่กำลังเตรียมตัวให้พร้อมในการกลับสู่ภาวะปกติ หลายโรงงานเริ่มกลับมาเปิดสายการผลิตอีกครั้ง แต่ในอีกหลายประเทศยังจำเป็นต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  ภาพใหญ่ ๆ เหล่านี้ทำให้ไม่อาจตัดสินใจในการลงทุนได้ โดยเฉพาะการลงทุนที่ใช้เม็ดเงินจำนวนมากอย่างเครื่องจักรกลซึ่งเป็นสินค้าในหมวดทุน โควิดได้สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องจักรกลอย่างรุนแรงยิ่งกว่าสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาเสียอีก  โดยสมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรกลญี่ปุ่น (Japan Machine Tool Builders’ Association: JMTBA) และสองค่ายผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ Makino และ DMG MORI ได้แสดงความเห็นต่อสถานการณ์และแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องจักร ไว้ดังนี้

l Japan Machine Tool Builders’ Association รายงานว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการเครื่องจักรกลลดลงเป็นอย่างมาก โดยในปีงบประมาณ 2019 ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2020 พบว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรญี่ปุ่น ลดลงถึง 34.9% หลังจากการระบาดเกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือน และเป็นยอดออเดอร์ต่ำสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีรายงานการยกเลิกและเลื่อนออเดอร์เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และคาดการณ์ว่า จะลดลงอีกในอนาคต โดยเฉพาะยอดสั่งซื้อจากสหรัฐฯ 

ในทางกลับกัน ประเทศจีนมีดัชนี PMI เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 52.0 ฟื้นตัวกลับมาเป็นครั้งแรกหลังลดลงต่อเนื่องตลอด 3 เดือน ซึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมโรคที่ทำให้สถานการณ์ภายในประเทศจีนมีความมั่นคงมากขึ้น

l Mr. Shinichi Inoue ประธานบริษัท Makino แสดงความเห็นว่า ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างรุนแรง โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้หลายองค์กรจำเป็นต้องทุ่มเทให้กับการประคับประคองบริษัทตนให้รอดต่อไปได้ก่อน ซึ่งคาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2020 บริษัทจะสูญเสียรายได้เป็นอย่างมาก และจะรุนแรงมากกว่าสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ  โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ ทางบริษัทฯ ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการของปี 2020 ลงถึง 3 ครั้งด้วยกัน และย้ำว่า “นี่คือการตกต่ำสุดของเศรษฐกิจนับตั้งแต่ช่วงปี 1930”

นอกจากนี้ Mr. Shinichi Inoue ได้แสดงความเห็นต่อกรณีตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของ Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในปีนี้จะถดถอย 3.0% ว่า “องค์กรธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลกอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังจากนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่การคาดการณ์ถึงอนาคต แต่เป็นการอาศัยเวลาที่มีในขณะนี้เพื่อพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้น โดยยกกรณีตัวอย่างของทางบริษัทฯ ถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบของคลังสินค้า มีการจัดเรียงสต็อกสินค้าใหม่ให้ประหยัดพื้นที่ นำ Automated Guided Vehicle และหุ่นยนต์ SCARA มาใช้ร่วมกัน เพื่อสร้างระบบลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ โดยคาดว่าระบบนี้จะเริ่มทำงานได้ในเดือนสิงหาคมนี้

l Mr. Masahiko Mori ประธานบริษัท DMG MORI แสดงความเห็นว่าการหยุดชะงักของเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการสินค้าของผู้บริโภคลดลง ซึ่งเป็นส่งผลต่อความต้องการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตโดยตรง  สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ ทางบริษัทฯ ไม่สามารถจัดงานแสดงสินค้า เพื่อสาธิตเทคโนโลยีให้กับลูกค้าเก่า และผู้สนใจได้ รวมถึงจำเป็นต้องหยุดสายการผลิตในยุโรป เหล่านี้ล้วนนำสู่การคาดการณ์ว่า ตลาด Machine Tools อาจหดตัวลงถึง 30% อย่างไรก็ตาม ในปี 2021-2022 ความต้องการ Machine Tools ที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ มีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้น 

อ่านแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ตัวเลขคาดการณ์ก่อนเกิดโควิด คลิก