‘เทรนด์เทคโนโลยีเครื่องจักรกล’ ในยุคการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
‘แผนสิ่งแวดล้อม’ ประเด็นใหญ่ของโลก เช่นเดียวกับฟากอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ผลิตเครื่องจักรกลนำเสนอเทรนด์เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนฯ ท่ามกลางความกังวลต่อเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
สถานการณ์และแนวโน้มการลงทุนเครื่องจักรกลปี 2022
สมาคมเครื่องจักรกลญี่ปุ่น (JMTBA) ปรับตัวเลขคาดการณ์ยอดสั่งซื้อตลอดปี 2022 ขึ้นเป็น 1.75 ล้านล้านเยน หรือราว 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิม 1.65 ล้านล้านเยน หรือราว 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตัวเลขนี้สะท้อนการเติบโต 13.5% จากปีก่อนหน้า และเป็นยอดสุงสุดอันดับสองนับจากที่มีการบันทึกสถิติ
Advertisement | |
อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับอนาคตเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูง แต่ในขณะเดียวกันความต้องการระบบอัตโนมัติและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงมีอยู่ ทำให้เกิดคำถามว่า ผู้ผลิตจะตอบรับกับสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร
นาย Yoshiharu Inaba ประธานสมาคมเครื่องจักรกลญี่ปุ่น แสดงความเห็นว่า ตราบใดที่ปัจจัยเสี่ยงไม่เกิดขึ้นจริงและส่งผลรุนแรง ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรกลก็จะไม่ลดลงมากนัก และคาดว่าจะเป็นเช่นนี้จนถึงสิ้นปี 2022
สาเหตุที่คาดการณ์เช่นนี้เป็นผลจากการลงทุนในภาคการผลิตที่คึกคัก โดยจากการสอบถามความเห็นของสมาชิกสมาคมพบว่า ปัจจุบันมีการลงทุนทั่วโลกอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต ไปจนถึงความต้องการรองรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า การลงทุนฐานการผลิตที่หลากหลายเพื่อสร้างความมั่นคง และเชื่อมั่นว่าแนวโน้มนี้จะหยั่งรากลึกทั้งในระยะกลางและระยะยาว
โดยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรกลในช่วงเดือนมกราคม - สิงหาคม 2022 ปิดที่ 1,192,900 ล้านเยน หรือราว 8,235 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรองเพียงปี 2018 เท่านั้น ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนทั้งในญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐฯ และจีน
ด้วยเหตุนี้ ทางสมาคมจึงคาดหวังว่ายอดสั่งซื้อเครื่องจักรจะเดินหน้าไปได้ด้วยดีในงาน JIMTOF ที่กำลังจะจัดขึ้นที่ญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นการกลับมาจัดงานแบบออฟไลน์เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี
ตัวแทนจำหน่ายของผู้เครื่องจักรกลรายใหญ่ แสดงความเห็นว่า ความต้องการเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้นมาจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นหลัก และยังมาจากอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้าง และเครื่องจักรกลทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการการส่งมอบเครื่องจักรยังคงประสบปัญหาล่าช้า และอัตราเงินเฟ้อในยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็มีแนวโน้มจะเป็นปัญหาระยะยาว ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ยอดสั่งซื้อจะได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา โดยนาย Shotaro Miyazaki ประธานบริษัท Makino แสดงความเห็นว่า เป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดว่าเศรษฐกิจกำลังจะถดถอย จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าหลังจากนี้ลูกค้าจะลงทุนโดยไม่มีความลังเลได้หรือไม่
ตลาดที่น่าเป็นกังวลที่สุด คือ จีน เนื่องจากพบว่าผู้ผลิตส่วนหนึ่งมียอดสั่งซื้อลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีความแตกต่างกันไปตามประเภทเครื่องจักร ทำให้คาดการณ์ได้ยาก
ส่วนนาย Masahiko Mori ประธานบริษัท DMG MORI แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตที่ซื้อเครื่องญี่ปุ่นและเครื่องเยอรมันเพื่อทดแทนเครื่องจักรเก่าและเครื่องแบรนด์จีนเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด
แต่ในทางกลับกัน ผู้ผลิตเครื่องกลึงรายใหญ่รายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา มียอดสั่งซื้อเครื่องจักรสำหรับผลิตรถอีวี สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต แต่ไม่รู้สึกถึงความคึกคักในการลงทุน
ผู้ผลิตเครื่องจักรกลต่างคาดหวังกับงาน JIMTOF จะกระตุ้นยอดสั่งซื้อได้ (ภาพงาน JIMTOF ปี 2018)
ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยเครื่องจักรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แม้จะมีความเสี่ยงต่าง ๆ แต่เครื่องจักรกลก็ยังมีความต้องการอย่างมั่นคง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือความเป็นกลางทางคาร์บอนกลายเป็นแนวโน้มที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรกลในขณะนี้
ยกตัวอย่างเช่น Okuma ได้นิยามเครื่องจักรกลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไว้ว่า “Green Smart Machine” ซึ่งให้ความสำคัญกับ “มิติที่แม่นยำ มีความเสถียร” และ “ลดการปล่อยพลังงาน” ซึ่งเครื่องจักรกลของ Okuma ทั้งหมดนับจากเดือนเมษายน 2023 จะเป็น Green Smart Machine และมีตราสัญลักษณ์ระบุบนตัวเครื่อง
โดย Okuma มองว่าสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการรักษาความแม่นยำของเครื่องจักรกล คือ “การเพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำ” เพื่อให้เครื่องจักรกลทำงานได้โดยอัตโนมัติและให้มิติชิ้นงานที่คงที่ ช่วยประหยัดพลังงานด้วยการลดความจำเป็นในการอุ่นเครื่อง ซึ่งนาย Atsushi Ieki ประธานบริษัท Okuma คาดการณ์ว่าแม้จะยังต้องอาศัยเวลา แต่ในที่สุดความต้องการเครื่องจักรกลแบบนี้ก็จะมาถึง
ทางด้าน DMG MORI เอง ก็ได้เปิดตัวเครื่องจักรในฉลาก “Green Machine” ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เดือนมกราคม 2021
Yamazaki Mazak เป็นบริษัทที่อยู่ระหว่างความพยายามส่งเสริมให้เปลี่ยนจากการใช้เลเซอร์ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์มาเป็นไฟเบอร์เลเซอร์ที่ประหยัดพลังงานยิ่งขึ้น และได้พัฒนาเครื่อง 2D Laser-Cutting Machines ซีรีส์ใหม่ที่สามารถตัดวัสดุที่หนากว่าเดิมได้ และจะเข้าสู่ตลาดด้วยเครื่องไฟเบอร์เลเซอร์ที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับเลเซอร์ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์หลังจากนี้
ทางด้าน JTEKT เอง ก็มีความพยายามในการพัฒนา Machining Center ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งในเดือนเมษายน 2022 ทางบริษัทได้เริ่มจำหน่ายเครื่องแนวตั้ง FH5000 series โดยใช้ตลับลูกปืนหล่อจารบีเพื่อลดอัตราการใช้ลม (air consumption) ลง 80% และรองรับการใช้ไฮดรอลิกแบบประหยัดพลังงานที่ติดตั้งระบบควบคุมอินเวอร์เตอร์ ซึ่งช่วยให้ประหยัดพลังงานได้ 35% ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 50%
Citizen Machinery ตอบรับเทรนด์นี้ด้วยเครื่องกลึงที่ใช้เทคโนโลยี Low-Frequency Vibration Cutting (LFV) ซึ่งที่ผ่านมา เครื่องของบริษัทจะใช้เทคโนโลยีนี้กับหัวเครื่องกลึง (Head Stock) เคลื่อนที่ได้เป็นหลัก แต่หลังจากนี้จะเริ่มนำมาใช้กับหัวเครื่องกลึงแบบตายตัวด้วย เพื่อให้เศษตัดเข้าไปพันกับชิ้นงานและเครื่องมือน้อยลง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และช่วยให้การทำงานมีความเสถียร นำไปสู่การประหยัดไฟ ซึ่งนาย Umeo Tsuyuzaki กรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า LFV ก็เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun
#MachineTools #เครื่องจักรกล #อุตสาหกรรมการผลิต #Mreport #onlinecontent #ข่าวอุตสาหกรรม
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH